โดยทั่วไปแล้ว งูจะกลืนเหยื่อของมันทั้งตัว แต่เมื่องานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Herpetozoa ชี้ให้เห็นว่างูปี่แก้วในประเทศไทยจัดเป็นข้อยกเว้น
งูปี่แก้ว หรือ งูปี่แก้วลายแต้ม (Oligodon fasciolatus) จะใช้ฟันหน้าที่แหลมคมเจาะท้องคางคกบ้านขนาดใหญ่ จากนั้นมันจะสอดหัวเข้าไปในข้างในเพื่อกินอวัยวะภายในขณะที่เหยื่อยังมีชีวิต..!
Henrik Bringsøe นักธรรมชาติวิทยาสมัครเล่นจากเดนมาร์ก และเป็นผู้เขียนคนแรกของการศึกษานี้ และผู้เขียนชาวไทย Maneerat Suthanthangjai, Winai Suthanthangjai, Kanjana Nimnuam
งูปี่แก้วเป็นงูขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มันไม่มีพิษ แต่ฟันของพวกมันถูกออกแบบมาสำหรับการตัดมากกว่าการเจาะ ทำให้ฟันของงูชนิดนี้มีความคมมาก ฟันซี่ใหญ่จะมีลักษณะแบนและโค้งคล้ายกับใบมีด ที่เป็นอาวุธประจำตัวทหารกูรข่าของอังกฤษ ทำให้มันมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Kukri Snake
งูปี่แก้วจะสร้างบาดแผลขนาดใหญ่ ที่ฉีกขาดให้กับสัตว์รวมทั้งมนุษย์ได้อย่างไม่ยากเย็น ยิ่งไปกว่านั้น การกัดของพวกมันยังมาพร้อมกับสารกันเลือดแข็งตัว ที่ทำให้บาดแผลมีเลือดออกเป็นเวลานาน มันเป็นอาวุธชิ้นสำคัญในการป้องกันตัวจากนักล่า ..และอาจยังช่วยให้งูกินคางคกได้ง่ายขึ้นด้วย
เหยื่อในบันทึกนี้คือคางคกบ้าน (Duttaphrynus melanostictus) ซึ่งมีขนาดตัวประมาณ 20 เซนติเมตร คางคกพวกนี้ พบได้ทั่วไปในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอยู่มากมายในประเทศไทย โดยคางคกจะขับสารพิษสีขาวออกจากต่อมที่คอและหลัง พิษของคางคกชนิดนี้รุนแรง หากกินเข้าไปอาจถึงตายแม้แต่กับมนุษย์ และพิษนี้อาจเป็นสาเหตุของกลยุทธ์การล่าของงูปี่แก้ว แม้ว่านักวิจัยจะยังไม่แน่ใจนักก็ตาม
วิธีที่งูปี่แก้วจัดการคางคกบ้าน
นักวิจัยชาวเดนมาร์กและชาวไทย ได้เห็นฉากที่น่าสยดสยองนี้ถึงสามครั้ง ในสถานที่แตกต่างกัน ซึ่งอยู่ในจังหวัดเลย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
โดยทั้งหมดนี้ถูกจับภาพเอาไว้ด้วยกล้อง เหตุการณ์เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562, เมษายน พ.ศ. 2563 และมิถุนายน พ.ศ. 2563 ในบางกรณีคางคกพยายามสู้และหนี แต่ก็ไม่มีตัวไหนรอดตาย การต่อสู้เหล่านี้ไม่สั้นหรือยาวนานกว่า 2 – 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดอวัยวะภายในของเหยื่อ
“งูใช้ฟันหน้าที่แหลมคมของมัน เพื่อกรีดช่องท้องใต้ขาหน้าซ้าย หัวของมันจะเปลี่ยนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ขณะที่มันจัดการตัดผิวหนังคางคก งูจะค่อยๆ สอดหัวเข้าไปที่ช่องท้องด้านซ้ายของคางคก จากนั้นจึงดึงอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ หัวใจ ปอด และบางส่วนของระบบทางเดินอาหาร ในระหว่างกระบวนการหดกลับ ศีรษะจะเคลื่อนไปในทิศทางต่างๆ โดยอ้าปากบางส่วน เพื่อให้ฟันตัดอวัยวะออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงกลืนเข้าไป”
ในทุกกรณี งูจะกินแต่อวัยวะภายในของคางคก โดยจะทิ้งซากที่ไร้อวัยวะภายในไว้เบื้องหลัง รูปแบบการกินนี้เหมือนกันในอีกสองตัวที่เหลือ แต่บางครั้งคางคกก็ต่อสู้กลับ …ระหว่างการต่อสู้ นักวิจัยพบว่าคางคกที่บาดเจ็บสาหัสจะปล่อยพิษของมัน ใส่งูซึ่งถ้าโดนที่หัว จะทำให้งูผละตัวออกไป แล้วจะเอาหน้าไปถูกับใบไม้หรือหินเพื่อขับสารพิษออกจากตาและปากของมัน
สิ่งนี้เกิดขึ้นสองครั้งในระหว่างการต่อสู้ และจนถึงจุดหนึ่งคางคกก็สามารถหลบหนีได้ด้วยการกระโดดลงไปในสระน้ำใกล้ๆ และซ่อนตัวอยู่ใต้ท่อนซุงเป็นเวลาเกือบ 30 นาที เมื่องูกำจัดพิษได้แล้ว มันจึงไปหาเหยื่อตัวใหม่ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาพบว่าเหยื่อสามารถหนีไปได้ แต่สุดท้ายค้างคกตัวดังกล่าวก็ตายเพราะพิษบาดแผลอยู่ดี
ดังที่กล่าวไว้ พฤติกรรมการกินที่ผิดปกตินี้อาจเป็นการปรับตัวที่ป้องกันไม่ให้งูได้รับพิษของคางคก แต่การสังเกตครั้งที่สี่ทำให้สมมติฐานนี้ซับซ้อนขึ้น
[Content warning: Gore and animal violence]
oh we’re talking about snakes huh? I wont miss this chance to talk about one of my favourite snakes; the kukri snakes (Oligodon) especially Oligodon fasciolatus, which specialized in gutting toads and eating their internal organs (1/ pic.twitter.com/6u2EziG7BW
— Yoofilos™ (@yoofilos) May 24, 2021
ในกรณีที่สี่ งูปี่แก้วที่โตเต็มวัยได้โจมตีคางคกตัวเล็กๆ ที่เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับคางคกบ้านและมันก็กินคางคกทั้งตัว ตามที่นักวิจัยคาดการณ์ อาจเป็นไปได้ว่าคางคกที่อายุน้อยกว่า น่าจะมีพิษน้อยกว่าพวกที่โตแล้ว มันจึงกินคางคกได้ทั้งตัว แต่งูปี่แก้วรู้ได้ยังไงว่ากินได้? แล้วมันใช้อะไรเป็นตัวกำหนด เพื่อเลือกใช้วิธีการกินเหยื่อของมัน?
แน่นอนว่า! ด้วยข้อสงสัยเหล่านี้ ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่เราจะยังคงสังเกตและรายงานเกี่ยวกับงูที่น่าสนใจเหล่านี้ต่อไป ด้วยความหวังว่าเราจะค้นพบแง่มุมที่น่าสนใจอื่นๆ ของพวกมัน … นักวิจัยกล่าวปิดท้าย