ปลายอนเขี้ยว ยักษ์ใหญ่เฉพาะถิ่นแห่งลุ่มน้ำสาละวิน

พอดีได้ไปเห็นภาพของ ปลาสังกะวาดยักษ์ หรือ ปลายอนเขี้ยว ในเพจหนังสือธรรมชาติวิทยา และถึงผมจะรู้ว่าปลาชนิดนี้ จะตัวใหญ่และอาจใหญ่ได้ถึง 180 เซนติเมตร แต่บอกตรงๆ ผมไม่คิดว่าในยุคสมัยนี้ จะมีคนจับปลายอนเขี้ยวตัวใหญ่ขนาดนี้ได้ และเพราะแบบนี้ผมเลยขอมาพูดถึงเจ้าปลาแปลกๆ หายากตัวนี้ซะหน่อย โดยจะเสริมเรื่องลุ่มน้ำสาละวินเข้าไปด้วย

การจับปลายอนเขี้ยวขนาดใหญ่ได้ในไทย

Advertisements

ตามที่เพจหนังสือธรรมชาติวิทยาเขียนเอาไว้ว่า ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเรื่องที่เกี่ยวกับปลาชนิดนี้อยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเผยแพร่ในกลุ่ม siamensis ซึ่งเป็นการสอบถามชนิดของปลา โดยผู้นำภาพมาลงบอกว่าได้มาจากชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนอีกเรื่องเป็นปลาชนิดเดียวกัน ซึ่งตัวยาวไม่น่าจะเกิน 30 เซนติเมตร ว่ายวนอยู่ในบ่อน้ำของกรมประมง ซึ่งตามข่าวระบุว่า เอามาจากประเทศพม่าเพื่อทดลองเลี้ยง

สำหรับภาพของปลายอนเขี้ยวขนาดใหญ่ หากมองจากตาชั่งทั้งสองจะพบว่ามีตัวเลข 49 และ 16 เท่ากับปลาตัวนี้หนัก 65 กิโลกรัม และเพราะเป็นตาชั่งที่เป็นภาษาไทย จึงเชื่อว่าเป็นปลาที่จับได้ที่ฝั่งประเทศไทยแน่นอน และต้องบอกว่าปลายอนเขี้ยว ขนาดใหญ่! แทบไม่มีภาพปรากฏ ส่วนความยาวของปลาตัวนี้ หากให้ผมประเมินด้วยสายตา ก็น่าจะอยู่ระหว่าง 160 – 180 เซนติเมตร บวกลบสัก 10 เซนติเมตร

ปลายอนเขี้ยว คืออะไร?

ปลายอนเขี้ยว หรือ ปลาสังกะวาดยักษ์ หรือ ปลาตะมัง ยาวได้ถึง 180 เซนติเมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิโลเนีย ซิลอนเดีย (Silonia silondia) เป็นปลาในวงศ์ปลาหวีเกศ Schilbeidae (/ชิล-ไบ-ดี/) ในสกุลซิโลเนีย (Silonia) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 2 ชนิด พบในไทยเพียง 1 ชนิด ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้เลยก็ว่าได้

ทั้งนี้ปลายอนเขี้ยว จัดเป็นปลาที่หายาก! โดยเฉพาะในประเทศไทย และยิ่งเป็นปลาขนาดใหญ่เกินหนึ่งเมตรที่จับได้ในฝั่งไทย ก็ยิ่งหาได้ยากกว่าเดิม

Advertisements

ปลายอนเขี้ยว มีลักษณะโดยรวมคล้ายปลาในกลุ่มสวาย จุดแตกต่างที่สุดอยู่ตรงที่มีปากเชิดขึ้นเล็กน้อย เป็นปลาที่มีฟันขนาดเล็กจำนวนมาก กินปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอยู่บริเวณกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ พบกระจายพันธุ์ในเอเชียใต้ ตั้งแต่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เนปาล จนถึง พม่า ส่วนในประเทศไทยพบได้ในลุ่มแม่น้ำสาละวินเท่านั้น

ในเพจหนังสือธรรมชาติวิทยา ได้เขียนเอาไว้ว่า ปลายอนเขี้ยว มีลักษณะคล้ายเป็นลูกผสมระหว่างปลาคางเบือนกับปลาเทพา นั้นเพราะมันตัวใหญ่พอๆ กับเทพา แต่ก็ไม่ได้บึกบึนเหมือนเทพา แล้วยังมีความพลิ้วเปราะบาง และจากลักษณะของปากที่โค้งขึ้นและฟันขนาดเล็กเป็นแผงในปาก ทำให้เรารู้ว่า ปลาชนิดนี้เป็นปลาล่าเหยื่อที่ไล่หากินปลาอื่นๆ จากกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ

สำหรับปลาอีกชนิดที่อยู่ในสกุลซิโลเนีย (Silonia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิโลเนีย ชิลเดนนิ (Silonia childreni) มีความยาวไม่เกิน 50 เซนติเมตร พบอาศัยในแม่น้ำหลายแห่งในประเทศอินเดีย เช่นในแม่น้ำกฤษณะ และแม้จะอยู่ในสกุลเดียวกับปลายอนเขี้ยว แต่พวกมันก็ต่างกันมาก ความจริงซิโลเนีย ชิลเดนนิ มีลักษณะของปลาสังกะวาดมากๆ และเป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ลุ่มน้ำสาละวิน คืออะไร?

ลุ่มน้ำสาละวิน มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศจีน ก่อนจะไหลผ่านพม่า และส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวิน ก็ผ่านประเทศไทย และยังเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยและพม่า ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีแม่น้ำสาขาที่เป็นสายหลักและเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวินก็คือ แม่น้ำเมย ในเขตจังหวัดตาก และ แม่น้ำเงา ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสพบปลาในแม่น้ำสาละวินในแม่น้ำสาขาด้วย

ทั้งนี้ลุ่มน้ำสาละวิน มีความพิเศษกว่าลุ่มน้ำอื่นของไทยมาก นั้นเพราะปลาและสัตว์น้ำจำนวนมากได้รับอิทธิพลมาจากการกระจายพันธุ์ในเอเชียใต้และพม่า นอกจากนี้! แม่น้ำสาละวิน ยังเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายเดียวและสายสุดท้ายของฝั่งตะวันออก ที่ยังไม่มีเขื่อน แม้ในอนาคตกำลังจะมีก็ตาม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements