ปลาค้อปล้องทองปรีดี คืออะไร?
ปลาค้อปล้องทองปรีดี (Mini dragon loach) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Schistura pridii) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่งในสกุล Schistura ซึ่งเป็นสกุลของปลาน้ำจืดที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในประเทศไทย โดยทั่วโลกปลาในสกุลนี้มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งทั้งหมดกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทวีปเอเชีย หากนับเฉพาะที่พบในไทยก็มีอย่างน้อย 40 ชนิด
ปลาในสกุลนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 4 – 15 เซนติเมตร ลักษณะเด่นคือ มีลำตัวกลมคล้ายแท่งดินสอ มีหนวดที่เห็นได้ชัด พวกมันเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในลำธารทั้งขนาดเล็กและใหญ่ บางชนิดก็พบได้ในแม่น้ำสายใหญ่ แต่พวกมันก็ยังลงเลือกที่จะอยู่แถวๆ แก่งน้ำที่ไหลแรงๆ อยูู่ดี
สำหรับปลาค้อปล้องทองปรีดี มีขนาดประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร จึงจัดเป็นปลาค้อขนาดเล็กมาก มีลำตัวเพรียวยาว ลายสีเหลืองสลับดำ หัวทู่สั้น ตาเล็ก มีหนวด 2 คู่อยู่เหนือปาก และอีก 2 คู่อยู่ใต้ปาก
ตามบันทึก ปลาค้อชนิดนี้พบในลำธารบนภูเขาสูง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และอาจเป็นที่เดียวในโลกที่พบปลาค้อชนิดนี้ในธรรมชาติ และก็เป็นเหมือนปลาค้อชนิดอื่นๆ คือ ชอบอยู่ในลำธารน้ำที่ไหลแรงและเย็น
ข้อมูลทางนิเวศวิทยาของปลาชนิดนี้ยังน้อยอยู่มาก แต่ก็เชื่อว่ามันจะออกหากินในเวลากลางคืน เคลื่อนไหวได้รวดเร็วมาก เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็น แมลงน้ำ หรือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในลำธาร ปัจจุบันเป็นปลาที่หายากในธรรมชาติ และจัดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
12 ปี เพื่อชุบชีวิตปลาค้อปล้องทองปรีดี
จากการที่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณน้ำในลำธารลดน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง และปลาชนิดนี้ก็ถูกจับไปจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม จึงทำให้ประชากรปลาค้อปล้องทองปรีดีในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างมาก และในที่สุดปลาค้อชนิดนี้ก็อยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
จนในช่วงปี พ.ศ. 2549 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 เชียงใหม่ ได้พยายามรวบรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาค้อปล้องทองปรีดี เพื่อทำการศึกษาและหาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ โดยในระยะแรกนักวิจัยต้องเจอเข้ากับปัญหาใหญ่ เนื่องจากปลาไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมขณะทดลองได้ …การวิจัยจึงล่าช้าอย่างมาก
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2560 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 เชียงใหม่ ได้นำปลาไปทดลองเพาะขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ เนื่องจากพบว่าสภาพแวดล้อม รวมถึงสภาพภูมิอากาศบริเวณนั้น ใกล้เคียงกับแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของปลามากที่สุด จากนั้นจึงได้คัดเลือกปลาที่มีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์
โดยทำการทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดกระตุ้นฮอน์โมนสังเคราะห์ แล้วทำการปล่อยลงกล่องทดลองให้พ่อปลาและแม่ปลาผสมพันธุ์แบบธรรมชาติในอุณหภูมิน้ำที่ 15.3-16.8 องศาเซลเซียส
จนในปี พ.ศ. 2561 กรมประมงก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ใช้เวลานานกว่า 12 ปี แต่ทว่าผลที่ได้ยังออกมาต่ำ จากการที่ปลาตัวเมียตกไข่คิดเป็นร้อยละ 70 แต่อัตราฟักเป็นตัวอยู่ที่ร้อยละ 37 การอนุบาลลูกปลาและอัตราการรอดชีวิตจนโตก็ยิ่งต่ำลงไปอีก
แต่ถึงอย่างงั้น ก็ยังถือว่าเป็นความสำเร็จในเพาะพันธุ์ปลาค้อปล้องทองปรีดีของไทย โดยต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาทดลอง 12 ปี ซึ่งกรมประมงคาดหวังว่าจะพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ให้ดีขึ้น เพื่อขยายผลไปสู่การเพิ่มปริมาณประชากรปลาในธรรมชาติให้มีจำนวนมากขึ้น และเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย และจะขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อแบ่งเป็นปลาสวยงามทางเศรษฐกิจด้วย