ในปี 2023 ปลานกแก้วยังไม่ได้เป็น “สัตว์คุ้มครอง” ซึ่งแม้แต่ตัวเงินตัวทองก็ยังได้เป็นสัตว์คุ้มครอง เรื่องผิดกฎหมายทางตรงจึงไม่น่าจะมี แต่เพราะปลานกแก้วมีความสำคัญกับระบบนิเวศแนวปะการัง ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงพยายามรณรงค์ให้หยุดขายหยุดกินปลานกแก้ว
แต่..!! ต้องจำไว้ว่า ปลานกแก้ว-ปลานกขุนทอง อาศัยและหากินตามแนวปะการัง และแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยก็มีกฎหมายคุ้มครอง สิ่งนี้หมายความว่า ปลาที่คุณกำลังจะซื้อหรือคิดจะจับ ส่วนใหญ่มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ถ้าจะให้ดีไม่ต้องไปจับหรือกินมันทั้งคู่นั้นละดีที่สุด
ก่อนอื่นมารู้จักวงศ์ปลานกขุนทองแบบย่อๆ
วงศ์ปลานกขุนทอง มีชื่อว่า (Labridae) พวกมันมีความหลากหลายมากที่สุด ในบรรดาปลาแนวปะการังเขตร้อนทั่วโลก หรือก็คือมีมากกว่า 600 ชนิด แน่นอนว่ามีรูปร่างที่หลากหลายและขนาดก็ต่างกัน ตั้งแต่ตัวที่ยาวเพียง 20 เซนติเมตร ไปจนถึง 3 เมตร อย่างปลานกขุนทองหัวโหนก (Cheilinus undulatus) ซึ่งเป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ …และปลาในวงศ์นี้ ก็ไม่ได้ชอบกินปะการังแล้วอึเป็นทราย มันชอบกินเนื้อมากกว่า
รู้จักวงศ์ปลานกแก้วแบบย่อๆ
วงศ์ปลานกแก้วมีชื่อว่า (Scaridae) พวกมันส่วนใหญ่ตัวไม่ใหญ่ เมื่อเทียบกับวงศ์ปลานกแก้ว ที่ยาวประมาณ 30 – 1.4 เมตร ลักษณะเด่นของพวกมันหลักๆ เลยคือ มีฟันแหลมคมคล้ายจะงอยของนกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อเรียก เป็นปลาที่กินฟองน้ำปะการังที่สุขภาพไม่ดีหรือตายแล้ว รวมทั้งสาหร่ายเป็นอาหาร และพวกมันก็อึเป็นทราย ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงมีความสำคัญกับแนวปะการัง
ปลาแก้วกู่ ที่อยู่ในวงศ์ปลานกขุนทอง น่าจะเป็นชนิดที่สร้างความสับสนให้มากที่สุด
ในบ้านเราถ้าให้บอกปลาที่ทำสร้างความสับสนมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ปลาแก้วกู่” หรือไอ้กู่ (Choerodon schoenleinii) เพราะมันเป็นปลาที่คล้ายกับปลานกแก้วมากจริงๆ และสำหรับนักดำน้ำน่าจะได้เจอมันมาบ้าง หากได้ไปดำน้ำตามแนวปะการัง .. ส่วนความแตกต่างของพวกมันจะมี
- ฟัน : ปลาที่มีฟันเชื่อมกันเป็นแผ่นจนมีลักษณะเป็นจะงอยปากคล้ายนกแก้ว ไว้สำหรับครูดกินสาหร่ายที่เคลือบบนก้อนปะการังตาย มันก็คือปลานกแก้ว ส่วน “ปลานกขุนทอง” แก้วกู่ ฟันจะเป็นฟันเขี้ยวชัดเจน เพราะอาหารของปลาชนิดนี้คือ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กบางชนิด และยังใช้ฟันเพื่อขบเปลือกหอยเปลือกปูอีกด้วย
- ปาก : ปลานกแก้วมีปากเป็นจะงอยและไม่สามารถยืดหดได้ แต่ปลานกขุนทองนั้นขากรรไกรไม่เชื่อมต่อกัน บางชนิดยืดหดได้ยาวเพื่อใช้ยื่นเข้าไปจับเหยื่อในซอกเล็กๆ เช่น ปลานกขุนทองปากยาว (Gomphosus varius) และปลานกขุนทองปากยื่น (Ephibulus insidiator)
- ริมฝีปาก : ปลานกแก้วจะเห็นฟันเป็นจะงอยชัดเจน แต่ปลานกขุนทองมักมีริมฝีปากหนากว่าเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในสกุล Hemigymnus
เรื่องน่ารู้เพิ่มเติมของปลานกแก้ว
จากการสำรวจตามแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาพบว่า ใน 1 ปี ปลานกแก้วสามารถลบแนวปะการังออกไปได้ถึง 9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
โดยเฉพาะปลานกแก้วหัวโหนก (Bolbometopon muricatum) 1 ตัว สามารถกัดกินและขับทรายออกมาได้ถึง 90 กิโลกรัมต่อปี .. เหมือนจะเป็นการทำลายปะการัง แต่ความจริงพวกมันชอบกินปะการังที่ตายแล้วมากกว่า
แต่ไม่ได้มีแค่ปลานกแก้วเท่านั้นที่สร้างทรายได้ ยังมีสัตว์อื่นอย่างเช่น เม่นทะเล ฟองน้ำ ปูเสฉวน กุ้ง เพรียง หอยสองฝา หนอน แบคทีเรียและสาหร่าย ทั้งหมดสามารถสร้างทรายได้ด้วยการกินปะการังเช่นกัน และแม้ว่าจะไม่มีชนิดไหนเทียบได้กับปลานกแก้ว แต่พวกมันก็ยังมีส่วนช่วยอยู่ดี
และเพื่อให้ปลานกแก้วกินปะการังแข็งๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกมันจึงมี “ฟันที่แกร่งสุดในอาณาจักรสัตว์” ซึ่งฟันของปลานกแก้วทนแรงกดได้ถึง 530 ตันต่อตารางนิ้ว แถมยังเป็นฟันที่ซ่อมแซมตัวเองได้อีกด้วย แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้รับการทดสอบโดยนักวิจัยนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย
สรุปเรื่องนี้กันเล็กน้อย .. ทั้งปลานกแก้ว-ปลานกขุนทอง ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ถิ่นที่อยู่ของพวกมันได้รับการคุ้มครอง การจับพวกมันก็เท่ากับเป็นการทำประมงผิดกฎหมาย …จึงแนะนำว่าไม่ควรจับหรือกินมันทั้งคู่นั้นละถึงจะปลอดภัยรอดจากการโดนด่าไปได้