Advertisement
Home บทความพิเศษ ซาวลา ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย สัตว์ที่ไม่สามารถกักขังได้

ซาวลา ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย สัตว์ที่ไม่สามารถกักขังได้

หลายคนที่กดเข้ามาดู คงสงสัยกันว่ามันคือตัวอะไรหว่า แต่ก็ไม่แปลกหากจะไม่รู้จัก เพราะ "ซาวลา" เป็นหนึ่งในสัตว์ที่เหมือนไม่มีอยู่จริง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่หายากมากจนถึงยากมากที่สุด แต่ยังไงซะ! ข้อมูลที่เกี่ยวกับซาวลา ก็ยังมีมากกว่า "กระทิงวัว" หรือแม้แต่ "กูปรี" อยู่ดี เพราะอย่างน้อยก็ทิ้งถ่ายเอาไว้หลายภาพ โดยซาวลาจัดเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากที่สุดในโลก ...และนี่คือเรื่องราวของมัน

ซาวลา คืออะไร?

ซาวลา (Saola) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซูโดริกซ์ เนงตินเฮนซิส (Pseudoryx nghetinhensis) เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในสกุล และอยู่ในวงศ์เดียวกับวัวและควาย (Bovidae) โดยซาวลามีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาอันนัม (Annamite Range) ซึ่งเป็นเทือกเขาในภูมิภาคอินโดจีน มีความยาวประมาณ 1,100 กิโลเมตร เป็นชายแดนตลอดแนวทิศตะวันตกของประเทศเวียดนามต่อกับลาวและทางตอนเหนือของกัมพูชา โดยซาวลาพบเป็นครั้งแรกในเขตเวียดนาม

เคยมีการอธิบายเอาไว้ในปี พ.ศ.2535 (1992) ต่อมามีรายงานการจับซาวลามาขังอีกหลายครั้ง แต่ก็ทำได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากซาวลาทั้งหมดที่ถูกขังจะตายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ …ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถกักขังได้ …และเพราะมันเป็นสัตว์ที่หายากมาก จึงไม่มีตัวอย่างที่มีชีวิตเพื่อให้หาวิธีขังที่เหมาะสม

การค้นพบซาวลา

รายงานการพบซาวลาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 (1992) โดย โดทูก (Do Tuoc) นักนิเวศวิทยา ป่าไม้ และเพื่อนร่วมงานของเขา มันเป็นวันที่ 21 พฤษภาคม ทีมงานได้ซื้อหัวกะโหลกที่มีเขาแหลมยาวแปลกๆ จากนายพรานท้องถิ่น หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็พบหัวกระโหลกที่คล้ายกันในเทือกเขาอันนัม

นักวิจัยไม่รอช้า พวกเขาวิเคราะห์จากกระโหลกที่พบ แล้วกำหนดให้อยู่ในวงศ์กระทิงและวัว (Bovidae) และเรียกมันว่า ซาวลา ส่วนเหตุที่เร่งตั้งชื่อก็เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า เซโร (Serow) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งประกาศการค้นพบไปเมื่อ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 (1993)

ลักษณะทางกายภาพของซาวลา

แม้ว่าซาวลาจะถูกจับมาขังอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีภาพและคลิปของสัตว์ชนิดนี้น้อยมากๆ โดยลักษณะทางกายภาพของซาวลาได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2541 (1998) บางข้อมูลบอก พ.ศ. 2539 (1996) โดย วิลเลียม จี.โรบิโชด์ (William G. Robichaud) เขาได้บันทึกการวัดขนาดทางกายภาพของ ซาวลาที่ถูกเรียกว่า มาร์ธา (Martha) มันถูกขังเอาไว้ในประเทศลาว และมีชีวิตอยู่ได้ 15 วัน ก่อนที่จะตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

มาร์ธา เป็นซาวลาตัวเมีย มีความสูง 84 เซนติเมตร ซึ่งเป็นการวัดจากเท้าถึงไหล่ ด้านหลังยกขึ้นเล็กน้อยซึ่งสูงกว่าความสูงของหัวไหล่ประมาณ 10 เซนติเมตร ความยาวบันทึกไว้ที่ 150 เซนติเมตร ซึ่งวัดจากศีรษะรวมลำตัว และมีหนัก 80 – 100 กิโลกรัม มีขนสีน้ำตาลช็อคโกแลต มีปื้นสีขาวบนใบหน้า ลำคอ และด้านข้างของลำคอ คอและท้องมีแถบสีดำ มีเขาคู่ยาวซึ่งตั้งตรงอยู่บนศีรษะ

นอกจากนี้ยังสังเกตุได้ว่า ซาวลามีขนที่ตรง นุ่มและบาง โดยขนยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าผิดปกติสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ และยังมีหนังที่หนาถึง 2 มิลลิเมตร บางตำแหน่งหนา 5 มิลลิเมตร โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอยและที่ไหล่ด้านบนจะหนาเป็นพิเศษ เชื่อกันว่า เป็นการปรับตัวเพื่อป้องกันทั้งผู้ล่าและเขาของคู่แข่งในระหว่างการต่อสู้

ถิ่นอาศัยของซาวลา

ซาวลาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นหรือป่าผลัดใบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบอาศัยอยู่ตามหุบเขาริมแม่น้ำ ที่ผ่านมามีรายงานการพบเห็นตามหุบเขาแม่น้ำสูงชันที่ระดับความสูง 300 – 1,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทั้งในเวียดนามและลาว ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร ในเทือกเขาอันนัม และ อุทยานแห่งชาติหวูกว่าง

มีรายงานจากคนท้องถิ่นว่า ซาวลาออกหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มีงานวิจัยระบุว่า ซาวลาตัวเมีย มักจะออกหากินในช่วงเวลากลางคืนมากกว่าตัวผู้ ส่วนอาหารของซาวลาในธรรมชาติคาดว่าจะเป็นพืช ส่วนตัวที่ถูกกักขังซึ่งเป็นตัวอย่างตัวเดียวกับที่ได้รับการบันทึกลักษณะทางกายภาพ จะกินพืชทุกชนิดและกินเกือบตลอดเวลา …น่าแปลกที่มันตายไปเฉยๆ หลังถูกกักขังได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่กินอาหารได้ปกติ

สุดท้ายสถานะของซาวลาในตอนนี้ ถือว่าเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ไม่มีการพบเห็นมานานมากแล้ว เคยมีความพยายามโคลนนิ่งซาวลา โดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version