เมื่อต้นปี 2021 มีรายงานข่าวจาก “theguardian” ว่าประเทศเวียดนามค้นพบตะพาบยักษ์แยงซีเกียง ในทะเลสาบใกล้กรุงฮานอย นักวิจัยได้จับตะพาบตัวนี้ไปตรวจ DNA เพื่อยืนยันชนิด จนแน่ใจว่ามันคือ “ตะพาบยักษ์แยงซีเกียง” อย่างแน่นอน และยังเป็นตัวเมียอีกด้วย ตะพาบตัวนี้มีน้ำหนัก 86 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตามมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า มีคนพบตะพาบยักษ์อีกตัว ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 130 กิโลกรัม มันอาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน นักวิจัยจึงคาดหวังว่ามันจะเป็นตะพาบยักษ์แยงซีเกียงและอาจเป็นเพศผู้ แต่น่าเสียดายไม่มีการพบเห็นตะพาบตัวนั้นอีกเลย …และไม่มีการส่งตะพาบตัวเมียไปให้กับจีน และจีนก็ไม่ส่งตัวผู้มาเวียดนามเช่นกัน
ต่อมาเมื่อปลายเดือนเมษายน ปี 2023 ก็มีรายงานข่าวว่า พบสิ่งมีชีวิตสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีสีเข้ม ลอยขึ้นจากส่วนลึกของทะเลสาบด็องโม มันลอยอยู่นิ่งๆ บนผิวน้ำ
ชาวบ้านและนักอนุรักษ์ต่างเฝ้าจับตามองภาพของ “ตะพาบยักษ์แยงซีเกียง” ซึ่งเป็นตะพาบหายากที่สุดในโลก อีกทั้งตัวที่กำลังดูอยู่นี้คือตะพาบตัวเมียเพียงตัวเดียวในโลก ที่ถูกพบเมื่อปี 2021 …นี่หมายถึงอนาคตของตะพาบยักษ์แยงซีเกียงมาถึงทางตันแล้ว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์ได้เข้าตรวจสอบ และยืนยันว่า สัตว์ตัวนี้คือตะพาบยักษ์แยงซีเกียง ตัวเมียที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม รายงานระบุว่ามันหนัก 93 กิโลกรัม ซึ่งหนักกว่าเมื่อปี 2021 พอสมควร
ตะพาบตัวนี้น่าจะตายก่อนที่ชาวบ้านจะพบเห็นเป็นเวลาหลายวัน ส่วนสาเหตุการตายยังไม่แน่ชัด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพอย่างละเอียด
ส่วนความหวังที่ตะพาบตัวนี้จะไข่ไว้ที่ไหนสักแหล่งนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตะพาบชนิดนี้ขยายพันธุ์ยากมากๆ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตลอด 20 ปี ที่ได้ทำงานกับตะพาบสายพันธุ์นี้ เรายังไม่เคยเห็นไข่ของมันแม้แต่ฟองเดียว และเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่มีการสร้างสภาพแวดล้อมอย่างหาดทราย เอาไว้ที่ทะเลสาบด็องโม แต่ก็ไม่เคยมีเห็นรังของมันเลย …และในตอนนี้ตะพาบตัวเมียตัวสุดท้ายของโลกก็ตายไปแล้ว
“สำหรับตะพาบยักษ์แยงซีเกียง หรือ ตะพาบเซี่ยงไฮ้ (จีน: 斑鳖) มีน้ำหนักมากถึง 136 – 200 กิโลกรัม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rafetus swinhoei เป็นตะพาบขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และก็ใกล้จะสูญพันธุ์มากที่สุดของโลก พบในแม่น้ำแยงซีเกียงและมณฑลยูนนานในประเทศจีน นอกจากนี้ยังพบในประเทศเวียดนาม”
ตะพาบใหญ่และหายากที่สุดของไทยคือ?
จริงๆ แล้วตะพาบของไทยทุกชนิดถือว่าหายากมาก แต่ตะพาบม่านลายไทย จัดเป็นตะพาบที่พิเศษมากที่สุด เนื่องจากเป็นตะพาบที่หายากและยังมีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อโตเต็มวัยอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร และหนัก 100 – 120 กิโลกรัม บางแหล่งข้อมูลบอกหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมียมาก อาจเล็กกว่าครึ่งเลยทีเดียว
ตะพาบม่านลายไทยมีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี, แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และแม่น้ำปิงในเขตภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น มีรายงานว่าพบที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และอาจพบชนิดย่อยในประเทศอื่น
สถานภาพปัจจุบันของตะพาบชนิดนี้ในธรรมชาติถือว่าแย่เอามากๆ เนื่องจากไม่มีรายงานการพบเห็นมานานมากๆ จนเชื่อว่าอาจสูญพันธุ์ไปธรรมชาติ … จนเมื่อปี 2002 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ตะพาบม่านลายไทยในที่เลี้ยงได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก
จนในปี 2010 แม่พันธุ์ตะพาบม่านลายไทยได้วางไข่มากถึง 305 ฟอง ซึ่งนับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยไข่ชุดนั้นฟักเป็นตัวทั้งหมด 92 ตัว ซึ่งกรมประมงตั้งเป้าหมายจะเพาะขยายพันธุ์ให้มาก เพื่อจะได้ปล่อยลูกตะพาบกลับคืนสู่ธรรมชาติ