โลมาแม่น้ำแอมะซอน คืออะไร?
โลมาแม่น้ำแอมะซอน (Amazon river dolphin, Pink dolphin) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อิเนีย จีโอฟเฟรนสิส (Inia geoffrensis) คนท้องถิ่นเรียกมันว่าโบโต (Boto) เป็นโลมาน้ำจืดและเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ในสกุลอิเนีย (Inia) ซึ่งเป็นสกุลของโลมาแม่น้ำแอมะซอน เป็นโลมาที่ยาวได้ประมาณ 1.5 – 2.4 เมตร และหนักประมาณ 180 กิโลกรัม
โลมาชนิดนี้ตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้ เป็นโลมาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดแท้ๆ นอกจากนี้กระดูกสันหลังบริเวณคอมีความยืดหยุ่นมาก ซึ่งความยืดหยุ่นนี้เอง ที่เป็นสิ่งสำคัญในการว่ายน้ำผ่านต้นไม้ต่างๆ รวมถึงวัสดุกีดขวางในป่าน้ำท่วมของลุ่มน้ำแอมะซอน
โลมาแม่น้ำแอมะซอน พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำสายใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ เช่น แม่น้ำแอมะซอน, แม่น้ำโอริโนโก, แม่น้ำลาพลาตา, แม่น้ำโทคันตินส์ เป็นต้น ในตอนนี้เราสามารถแบ่งโลมาแม่น้ำแอมะซอน ออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ
- จีโอฟเฟรนสิส (Inia geoffrensis geoffrensis) เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำแอมะซอนและโทคันตินส์ เป็นชนิดที่รู้จักกันมากที่สุด
- ฮัมโบลต์เทียน่า (Inia geoffrensis humboldtiana) พบในแม่น้ำโอริโนโก เป็นชนิดที่ได้รับการศึกษาที่น้อยจนเกือบจะไม่มีข้อมูล
- โบลิเวียนซิส (Inia geoffrensis boliviensis) พบในโบลิเวีย มีหัวเล็กกว่า มีลำตัวกว้างกว่า และมีจำนวนฟันมากกว่า ในบางข้อมูลจะว่าเป็นชนิดใหม่
สำหรับโลมาแม่น้ำแอมะซอนเป็นหนึ่งในห้าสายพันธุ์ของโลมาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด พวกมันมีความเกี่ยวข้องกับโลมาที่อาศัยในทะเล นอกจากจะมีสีชมพูอันโดดเด่นแล้ว โลมาแม่น้ำของแอมะซอนยังมีคุณสมบัติอื่น ที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากลูกพี่ลูกน้องในทะเลอีกด้วย มันแตกต่างจากโลมาในทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ที่จะมีครีบยื่นออกมาจากหลัง แต่สำหรับโลมาแม่น้ำแอมะซอนจะมีโหนกเล็กๆ ขึ้นมาแทน
โลมาแม่น้ำแอมะซอน มีสีชมพูเพราะก้าวร้าวจริงหรือ?
โลมาน้ำจืดชนิดนี้ เจริญเติบโตในแม่น้ำที่อยู่ในอเมริกาใต้และทะเลสาบชั่วคราวที่เกิดจากน้ำท่วมตามฤดูกาล บางครั้งพวกมันก็มีสีชมพูจนน่าตกใจ! และแม้ว่าโดยกำเนิดโลมาชนิดนี้จะเป็นสีเทา แต่ตัวผู้ของสายพันธุ์นี้สามารถระบุได้ง่ายเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
นั้นเพราะตัวมันจะมีสีชมพูที่ร้อนแรง โดยบางครั้งก็เป็นสีชมพูทั้งหมดและบางครั้งก็มีสีเทาแฝง มันเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อแผลสะสมของมัน ซึ่งเกิดจากการทะเลาะวิวาททั่วไป หรือเพื่อแสดงความแข็งแกร่งให้คู่ครองได้เห็น ..ยิ่งตัวผู้มีสีชมพูมากเท่าไร มันก็ยิ่งมีเสน่ห์ และยิ่งมันอายุมากเท่าไหร่ก็จะมีสีชมพูมากขึ้นเท่านั้น อย่างน้อยสีของมันจะไว้ในดึงดูดตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ในฤดูแล้งน้ำจะลดลง ตัวผู้และตัวเมียจะถูกขังไว้ที่ร่องน้ำของแม่น้ำแอมะซอน เมื่อถึงฤดูฝน ตัวเมียจะเดินทางลึกเข้าไปในป่าที่น้ำท่วมถึง ซึ่งน้ำไม่ลึกนักและมีต้นไม้มากมายอยู่ระหว่างทาง ส่วนสาเหตุที่ตัวเมียหนีเข้าป่า นักวิจัยคาดว่าเป็นเพราะมันหนีตัวผู้ที่ก้าวร้าว แน่นอนว่าตัวผู้จะตามไปด้วยความดุดัน มันจะตามหาตัวเมียในป่าน้ำท่วมที่กว้างใหญ่ โลมาตัวผู้จะว่ายไปมาระหว่างต้นไม้และกิ่งไม้ที่พันกันยุ่งเหยิง ในขณะที่ตัวเมียจะค่อยๆ ไป และนี่จึงเป็นเหตุให้โลมาตัวผู้มีสีชมพูมากยิ่งขึ้น
โลมาแม่น้ำแอมะซอนตัวผู้จะก้าวร้าวถึงขนาดที่ว่า มันจะขุนโคลนที่ก้นแม่น้ำเพื่อหาสัตว์จำพวกครัสเตเชียน พุ่งทำลายกิ้งไว้ใต้น้ำ เพื่อไล่ให้สัตว์ที่ซ่อนตัวอยู่ให้ออกมาข้างนอก มันจะใช้กิ้งไม้ฟาดน้ำ เล่นกับเต่าที่มีชีวิตอยู่จนเต่าตาย เคยมีกรณีที่โลมาตัวผู้ใช้อนาคอนด้าเป็นเครื่องมือกระตุ้นอารมณ์ซึ่งแม้งูจะตายมันก็ยังทำต่อไป …นักวิจัยลงความเห็นสิ่งที่พวกมันทำคือ “เกม” พวกมันเล่นสนุกแก้เบื่อ
โลมาแม่น้ำแอมะซอน น่าเป็นห่วงหรือไม่?
แม้โลมาชนิดนี้จะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่เป็นภัยคุกคามของพวกมัน และแม้ว่าพวกมันจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของมนุษย์ แต่โลมาชนิดนี้ก็มักจะถูกจับโดยบังเอิญด้วยอวนจับปลา แถมยังต้องเผชิญกับการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย อันเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและมลภาวะเป็นพิษในน้ำ
จนในปี พ.ศ. 2555 … เอโบ โมราเลส ประธานาธิบดีแห่งโบลิเวีย ก็ได้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองโลมาแม่น้ำแอมะซอนไว้เป็นสมบัติของชาติ แต่! มันก็เป็นเพียงการคุ้มครองในโบลิเวีย และในตอนนี้สถานะของโลมาแม่น้ำแอมะซอนคือ “ใกล้สูญพันธุ์”