ปลาพานาคิว มันคือปลวกตัวใหญ่ในร่างปลา

ถ้าพูดถึงปลาซัคเกอร์ น้าๆ หลายๆ ท่านอาจจะเห็นจนเบื่อ แต่ตัวที่กำลังพูดถึงมันพิเศษหน่อย เพราะมันคือ "พานาคิว" มันเป็นปลาที่กินไม้เป็นอาหาร เรียกว่ากินแบบจริงจังเลยด้วยซ้ำ วันนี้ผมมีเรื่องราวของมันมาให้อ่านกันด้วย

พื้นที่ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำอเมซอนที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในดินแดนแถบนี้ แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าไม่มีสิ่งใดอยู่จีรัง

บรรดาต้นไม้ใหญ่ในป่าแถบนี้ก็ล้วนแต่มีอันเป็นไป ไม่ว่าจะด้วยฝีมือมนุษย์ หรือการหักโค่นเพราะภัยธรรมชาติ ซึ่งบางส่วนอยู่บนที่อยู่บนบกก็ถูกย่อยสลายดดยเห็ดรา และแมลงต่างๆ แต่สำหรับต้นไม้ใหญ่ๆ ที่จมลงในน้ำล่ะ…พวกมันถูกย่อยสลายจากอะไร?

แน่นอนว่านอกจากแบคทีเรียและตะไคร่น้ำต่างๆ ที่ดูดซับเอาสารอาหารจากลำต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งแผนกย่อยสลายเนื้อไม้จากธรรมชาติ ที่ทำให้หน้าที่เหมือนกับปลวกบนบกไม่มีผิดเพี้ยน นั่นคือเจ้า Royal Pleco (Panaque nigrolineatus) หรือที่วงการปลาสวยงามเรียกกันว่าแบบสั้นๆ ว่า “พานาคิว” (Panaque)

พานาคิว เป็นปลาปากดูดในกลุ่มปลากดเกราะ หรือที่เราคุ้นเคยกันชื่อปลาซัคเกอร์ที่ระบาดอยู่ในคลองบ้านเรา แต่แตกต่างกันตรงที่อาหารในธรรมชาติของพานาคิวไม่ใช่ซากสัตว์ แต่เป็นซากไม้จมลงในแมน้ำอเมซอน โดยพวกมันใช้ฟันที่มีลักษณะพิเศษแทะกินสารอินทรีย์จากผิวไม้และเนื้อไม้เป็นอาหาร และก็เช่นเดียวกับบรรดาปลวกบนบก ปลาชนิดนี้ก็มีจุลชีพในระบบลำไส้สำหรับย่อยไม้เหล่านั้นด้วย

แม้จะมีรูปร่างไม่น่ากินนัก แต่ในวงการปลาสวยงามทั้งไทยและต่างประเทศ ปลาอย่างพานาคิวนั้นจัดเป็นปลาราคาค่อนข้างแพงที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มอย่างมาก เพราะนอกจากมันจะเป็นปลารักสงบที่เลือกจะนอนแทะไม้อยู่ตามก้นตู้แล้ว ขนาดของมันยังสามารถยาวได้ถึง 43 เซนติเมตร และมีลวดลายเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับซัคเกอร์ตัวดำๆ ในคลองน้ำเน่าอีกด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่า…ราคาของมันย่อมแพงตามไปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ สำหรับชาวพื้นเมืองในแถบอเมซอนแล้ว ทั้งเจ้าพานาคิวและปลากดเกราะชนิดอื่นๆ ก็ล้วนแต่เป็นอาหารชั้นเลิศที่หากินได้ไม่ยาก แถมผิวหนังที่เป็นเกราะหุ้มร่างกายของมันนั้น ก็เป็นเสมือนเป็นเตาอบอย่างดีที่ทำให้เนื้อของมันสุกอีกด้วย

ปลาดูดกระจกธรรมดา กลายเป็นสายพันธุ์รุกรานที่น่ากลัวได้ยังไง

Advertisements

Advertisements
แหล่งที่มาtoday.line.me