ประวัติปลาเปคู เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไรและตอนนี้เป็นเช่นไร

สำหรับปลาจาระเม็ดน้ำจืดหรือปลาคู้ หรือปลาเปคู มีประวัติค่อนข้างน่าสนใจ ปลาชนิดนี้ผมรู้จักและได้เจอครั้งแรกในบึงสำราญ ซึ่งก็ผ่านมา 20 กว่าปีได้ และปลาเปคูตัวแรกของผมก็กัดนิ้วของผมซะด้วย เดี๋ยวมาดูเรื่องราวของปลาชนิดนี้กัน

ผมยังจำได้ดีเกี่ยวกับครั้งแรกที่ได้รู้จักปลาชนิดนี้ เพราะเปคูตัวแรกที่ผมตกได้มันกัดนิ้วผมซะเลือดไหล คิดว่าน่าจะประมาณ 25 ปีก่อนล่ะมั้ง เป็นวันที่ผมไปตกปลาในบึงสำราญตามปกติ พอเดินเข้าบ่อก็มีคนซุบซิบกันว่ามีปลาใหม่มาปล่อย ตอนนั้นเขาไม่เรียกกันว่าเปคู แต่เรียกชื่อตามที่กรมประมงตั้งให้นั้นก็คือ “ปลาจาระเม็ดน้ำจืด” เขาว่าชื่อคล้ายปลาจาระเม็ด เนื้อก็คงอร่อยนั้นล่ะ เห็นว่าตัวยังเล็กแค่หนึ่งไม้บรรทัด

ส่วนตัวผมจะรออะไรล่ะ อยากเห็นหน้าปลาใหม่ที่ว่าแล้ว รีบเดินไปหาทำเลนั่งตก ส่วนจะตกยังไงก็ไม่รู้หลอก คิดว่าถ้าตกแบบปลานิลก็คงจะได้ คันเบ็ดไม่ต้อง เอ็นกับตัวเบ็ดแล้วบีบรำที่ตัวเบ็ด ในใจก็คิดว่ามันน่าจะเป็นปลากินพืชเปล่าหว่า? โยนเหยื่อไปไม่นาน ปลาก็มากินเบ็ด โหยแรงเยอะ อาวขาด พอมาถึงตรงเลยรู้ว่าที่แท้ก็เป็นปลาฟันคม ปลาคมขนาดนี้แต่เป็นปลากินพืชเนียนะ

จากนั้นเลยไปเปลี่ยนเป็นสายหน้าสลิงอ่อน ไม่นานก็ตกได้ น่าจะหนัก 3 – 4 ขีด ในใจคิดว่าเหมือนปิรันย่าเลยแหะ และด้วยความขี้สงสัย เลยง้างปากมันแล้วเอานิ้วแตะๆ ดู – -. เท่านั้นล่ะ เลือดกระฉุดงับซะเนื้อปลายนิ้วหลุดไปหน่อย และนี่ก็เป็นความประทับใจแรกที่ผมได้เจอปลาชนิดนี้

การมาถึงไทยของปลาเปคู

Advertisements

ตามบันทึกระบุว่า ปลาเปคูเข้ามาในไทยโดยกรมประมงเมื่อปี พ.ศ 2539 เพื่อนำมาส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพราะคิดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว และเมื่อนำไปปรุงอาหารรสชาติก็ดี คาดว่าจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาท และพบว่าปลาชนิดนี้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย การเพาะขยายพันธุ์ต้องอาศัยเทคนิคการผสมเทียมเท่านั้น …จึงค่อนข้างจะปลอดภัยหากนำเข้ามา

เมื่อนำเข้ามาทดลองเลี้ยงได้สักพัก กรมประมงก็เปลี่ยนชื่อปลาให้ดูน่ากินว่า “ปลาจาระเม็ดน้ำจืด” จากนั้นก็ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง ผลคือมันเป็นปลาที่โตเร็วมาก กินเก่งมาก และตัวใหญ่มาก ความจริงเพราะมันกลายเป็นปลาที่ตัวใหญ่มากกว่าที่คิด เลยทำให้เกิดปัญหาในฐานะปลาเนื้อในตลาดสด เนื่องจากตลาดปลาเพื่อการบริโภคในกลุ่มนี้ ไม่ได้ต้องการปลาตัวใหญ่ขนาดนั้น

เมื่อเกษตรกรเลี้ยงปลาเปคูไปเรื่อยๆ หากจับปลาไซต์จานขายได้มันก็ดีไป แต่หากไม่มีตลาดรองรับในช่วงนั้น ก็ต้องเลี้ยงต่อไปจนมันกลายเป็นไซต์ถาด ทีนี้ละจะขายให้ใคร? และยิ่งปลาตัวใหญ่มากขึ้นจนกลายเป็นไซต์กะละมังซักผ้า ตลาดที่รองรับปลาชนิดนี้ก็น้อยลงไปอีก

สุดท้ายจากปลาที่มีเกษตรกรเลี้ยงมากมาย เพราะคิดว่าจะต้องได้กิโลกรัมละ 4 – 5 ร้อยบาท มาในวันนี้ปลาเปคูแดงเหลือกิโลกรัมละ 35 – 40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เช็คจากตลาดไทเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2566 …คำถามสำคัญคือ เมื่อขายไม่ได้ เลี้ยงต่อไปก็มีแต่จะขาดทุนมากขึ้นๆ สุดท้ายปลาจะไปอยู่ไหน

เมื่อเลี้ยงแล้วขายไม่ค่อยออก ปลาเปคูจะไปอยู่ที่ไหน?

แน่นอนว่าในตอนนั้นมีปลาจำนวนมากหลุดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่จนถึงทุกวันนี้เราสามารถพบปลาเปคูได้ในแหล่งน้ำหลายแห่งทั่วประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ได้มีมากมายจนน่ากลัวเหมือนพวกปลาหมอคางดำก็ตาม

นั้นเพราะยังมีความโชคดีอยู่อย่างนึงคือ ปลาเปคูไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติประเทศไทย พวกมันจึงไม่ได้มีมากเหมือนปลาต่างถิ่นอื่นๆ เพราะหากเปคูขยายพันธุ์ได้เอง บอกเลยว่ามันคือหายนะที่แท้จริง

Advertisements

เพราะแม้ปลาชนิดนี้จะได้ชื่อว่าเป็นปลากินพืชแต่มันก็กินเนื้อได้เช่นกัน มันไม่ใช่ปลาที่อ่อนปวกเปียก มันแข็งแกร่ง ฟันคม จริงๆ กินได้ทุกอย่าง และยังเป็นปลาที่ดุร้าย หากมันหิวมันก็พร้อมที่จะโจมตีปลาชนิดอื่น ที่สำคัญปลาชนิดนี้ที่ยาว 60 เซนติเมตร ถือว่าเป็นขนาดที่ไปถึงได้ไม่ยากเลย …แม้แต่ตัวผมเองก็เคยตกตัวยาว 60 – 70 เซนติเมตร ได้มาหลายตัวแล้ว

ในตอนนั้นหลังจากที่ปลาเปคูขายไม่ได้อย่างที่คิด มันก็หลุดหรือถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จากนั้นตลาดของปลาเปคูก็หันไปหาตลาดบ่อตกปลา ซึ่งเป็นที่ๆ ต้องการปลาขนาดใหญ่และแบบมีชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในเกมกีฬาตกปลา

ซึ่งในช่วงแรกๆ บ่อตกปลาไม่สามารถซื้อปลาเปคูมาปล่อยได้ เพราะมันแพงเกินไป แต่เมื่อราคามันตกลงไปมาก บ่อปลาหลายแห่งจึงเริ่มรับซื้อปลาชนิดนี้ไปปล่อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงบึงสำราญ ผมคิดว่าน่าจะลงไปในตอนแรกเป็นหมื่นตัว

จนเวลาล่วงเลยผ่านไปสองสามปี แม้แต่บ่อตกปลาก็เริ่มไม่ชอบปลาเปคูซะแล้ว แน่นอนว่านักตกปลาก็ไม่ค่อยชอบมันด้วย ผมเองก็เช่นกัน นั้นเพราะถึงบ่อตกปลาจะชอบปลาตัวใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ชอบปลาที่ดุร้ายจนเกินไป ปลาเปคูมักจะทำร้ายและกินปลาชนิดอื่นในบ่อ และมันก็เป็นตัวทำลายเหยื่อด้วย

การมีปลาชนิดนี้ในบ่อตกปลาจำนวนมากเกินไป จะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ด้วยเหตุนี้ความต้องการปลาชนิดนี้ในบ่อตกปลาจึงน้อยลงไปมาก และจำนวนปลาเปคูในบ่อตกปลาก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน

จนวันนึงน่าจะประมาณ 20 ปีก่อน บ่อตกปลาที่ชื่อว่า “ฟิชชิ่งเวิลด์” ซึ่งในตอนนั้นมันได้ชื่อว่าเป็นบ่อตกปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเลยล่ะมั้ง และที่แห่งนี้เองที่รับเอาปลาเปคูจำนวนมหาศาลเข้าไป ตัวเลขที่แน่ชัดไม่มีการบันทึก แต่มันเยอะมากจริงๆ

สำหรับ “ฟิชชิ่งเวิลด์” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่มากๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพ มันถูกสร้างให้เป็นบ่อตกปลาขนาดใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าบึงสำราญมาก ความตั้งใจแรกของบ่อน่าจะเป็นรวบรวมพันธุ์ปลาที่หลากหลายเข้ามาไว้ในบ่อ …แต่ตอนนี้ดูเหมือนส่วนใหญ่จะมีแค่ปลาเปคูยักษ์ไปซะแล้ว

ปัจจุบัน “ฟิชชิ่งเวิลด์” น่าจะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นแต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าชื่ออะไรกันแน่ แต่ก็มีเปคูนับหมื่นหรืออาจนับแสนตัว มันเป็นถิ่นของปลาชนิดนี้เลยก็ว่าได้ และจนถึงทุกวันนี้ปลาพวกนี้ก็ยังอยู่ในนั้น และพวกมันก็ตัวใหญ่มากๆ ด้วย

ในประเทศไทยตอนนี้มีปลาเปคูกี่ชนิด?

สำหรับในประเทศไทย ปลาเปคูที่ถูกเรียกว่า “ปลาจะละเม็ดน้ำจืด” ก็คือปลาเปคูแดง (Piaractus brachypomus) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุล Piaractus (พิอาแร็คตัส) ในวงศ์ย่อยของปลาปิรันยา (Serrasalminae)

Advertisements

โดยปลาเปคูแดง มีลักษณะเด่นตรงที่ มีลำตัวมีสีแดงส้มบางส่วน มีลำตัวคล้ายกับปลาปิรันยาแดงมากที่สุด เพียงแต่กรามล่างจะไม่ยื่นยาวออกมา และฟันก็ไม่แหลมคมเหมือนปลาปิรันยาแดง แต่เปคูแดงจะมีฟันคล้ายฟันมนุษย์ และปลาเปคูแดงก็ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอเมซอนและแม่น้ำโอริโนโค

ส่วนปลาเปคูดำ (Colossoma macropomum) แม้จะถูกเรียกว่า “ปลาจะละเม็ดน้ำจืด” เช่นเดียวกับปลาเปคูแดง แต่มันไม่ใช่ปลาที่นิยมเลี้ยงเพื่อขายในตลาดสดเท่าไร อาจเพราะตัวใหญ่เกินไป และสีอาจดูไม่น่ากิน ทั้งนี้ปลาเปคูดำ อยู่ในสกุล Colossoma (โคลอสโซมา) ในวงศ์ย่อยของปลาปิรันยา (Serrasalminae) รูปร่างทั่วไปคล้ายปิรันยา ฟันภายในปากคล้ายฟันมนุษย์ ลำตัวและปลายหางจะมีสีเงินปนดำ เมื่อปลาโตขึ้นก็จะดำขึ้น ปลาเปคูดำยาวได้ถึง 1 เมตร มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ในลุ่มแม่น้ำอเมซอนและแม่น้ำโอริโนโคซึ่งเป็นแม่น้ำสาขา

และแม้ปลาเปคูจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เท่ากับปลาปิรันยา แต่ในปาปัวนิวกินีและสหรัฐอเมริกา ปลาเปคูเคยมีประวัติโจมตีมนุษย์โดยการกัดอัณฑะของคนที่ลงไปเล่นน้ำจนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว ส่วนในประเทศไทยผมยังไม่เคยได้ยินข่าวชัดๆ ที่ปลาเปคูเคยกัดใคร มีก็แต่คำที่สื่อชอบใช้ อย่าง ระวังปลาเปคูกัดไข่ อะไรประมาณนี้

ในตอนนี้ปลาเปคูถือเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น แต่ก็ไม่ได้ถูกประกาศห้ามเลี้ยงอะไร จะมีก็แค่ขอความร่วมมือ ด้วยเหตุนี้แม้ปลาชนิดนี้จะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เอง แต่ก็หลุดลงแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่เสมอ เพราะยังไงซะปลาชนิดนี้ก็ยังมีเกษตรกรเลี้ยงขายเป็นปลาเนื้ออยู่บ้าง และก็มีฟาร์มที่เลี้ยงเพื่อส่งขายเป็นปลาสวยงามเช่นกัน ส่วนที่ว่าปลาชนิดนี้อร่อยหรือไม่? บางคนก็บอกว่าอร่อยมาก บางคนก็บอกกินไม่ได้เลย – -. ส่วนผมไม่เคยกิน เพราะถึงผมจะชอบตกปลามากแต่ไม่ชอบกินปลา

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements