ปลาแรดคืออะไร?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ปลาแรด” มีชื่อสามัญว่า ไจแอนท์ โกลามิ (Giant gourami) หรืออาจจะเรียกว่าปลาสลิดยักษ์ก็ได้ เมื่อรู้อย่างงี้หลายคนคงจะเดาได้ว่า ปลาแรดอยู่ในวงศ์ปลาสลิดหรือปลากระดี่ ..ใช่ถูกต้องจะบอกว่าปลาแรดอยู่ในวงศ์ “วงศ์ปลากัด-ปลากระดี่ Osphronemidae (/ออฟ-โฟร-นิ-มิ-ดี้/)” ก็ได้
แต่! ถ้าจะให้ตรงจุดกว่านั้น ต้องบอกว่าปลาแรดอยู่ในวงศ์ย่อยที่เรียกว่า “ออฟโฟรมิเน Osphroneminae (/ออฟ-โฟร-นิ-เน/) โดยลักษณะเด่นของปลาแรดพวกนี้คือ จะสามารถฮุบเอาอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษที่อยู่ในช่องเหงือกซึ่งช่วยในการหายใจ โดยปกติพวกมันจะกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะ และพวกมันก็ชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อยๆ มีพืชน้ำขึ้นรก … ต่อไปมาดูเรื่องราวของปลาแรดทั้ง 4 ชนิดกัน
ชนิดที่ 1 – ปลาแรด (Osphronemus goramy)
ปลาแรด (Giant gourami) ถือเป็นปลาแรดธรรมดา นับเป็นปลาแรดชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร จึงถือว่าใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้แล้ว โดยปลาแรดถือเป็นสัตว์กินพืชแต่ก็สามารถกินปลาขนาดเล็กได้เช่นกัน
ปลาแรดมีลักษณะ ลำตัวป้อมและแบนข้าง ที่เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก ก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็กๆ ส่วนหัวเล็ก เมื่อโตขึ้นโดยเฉพาะปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อยๆ จนดูคล้ายนอแรด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไทย
ถิ่นกำเนิดของปลาแรดอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร บึง หนองน้ำและทะเลสาบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่แม่น้ำโขง ตอนล่างของกัมพูชาและเวียดนาม แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลองของไทย รวมถึงลุ่มแม่น้ำในคาบสมุทรมลายูรัฐซาราวักของมาเลเซีย และเกาะชวาไปจนถึงเกาะสุมาตรา และกาลิมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตามขีดจำกัดที่แน่นอนในธรรมชาติ ของปลาแรดชนิดนี้อาจกว้างกว่าที่เข้าใจ เนื่องจากเป็นปลาที่ได้รับการแนะนำอย่างแพร่หลายฐานะอาหารมานานมาก พวกมันอาจไปถึงตอนใต้ของจีน ไปจนถึงอินเดียและศรีลังกา และในทวีปอื่นอย่างออสเตรียก็อาจพบพวกมันในธรรมชาติเช่นกัน
นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยในปลาธรรมดาจะเรียกกันว่า “แรดดำ” และในปลาที่มีผิวเผือกจะเรียกว่า “แรดเผือก” หรือ “แรดเผือกตาแดง” นอกจากนี้แล้วยังมีปลาที่สีแตกต่างออกไป ซึ่งเกิดจากการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์
ชนิดที่ 2 – ปลาแรดแม่น้ำโขง (Osphronemus exodon)
ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว (Elephant ear gourami) เป็นปลาแรดชนิดที่คล้ายกับปลาแรดธรรมดามากที่สุด แต่จะมีขนาดเล็กกว่าซึ่งจะยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เคยพบใหญ่สุดคือ 60 เซนติเมตร และก็เป็นไปตามชื่อของมัน ปลาแรดแม่น้ำโขงในธรรมชาติได้ในแม่น้ำโขง
แต่จากการสำรวจของ ดร.ไทสัน อาร์.โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาผู้อนุกรมวิธานปลาแรดแม่น้ำโขง พบว่าปลาแรดแม่น้ำโขงจะไม่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลัก แต่จะอาศัยอยู่ตามบึงหรือหนองน้ำที่เป็นสาขามากกว่า โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เว้นแต่จะเป็นช่วงฤดูแล้งที่น้ำเหือดแห้ง ปลาจะอพยพลงสู่แม่น้ำสายหลัก ในฝั่งของชายแดนไทยจะพบได้น้อยมาก จะพบได้ในเขตของกัมพูชาและลาวมากกว่า
สิ่งที่ปลาแรดแม่น้ำโขงต่างจากปลาแรดธรรมดาคือ มีลำตัวสีน้ำตาลแดงคล้ำ ครีบก้นแคบและเล็กกว่า ริมผีปากจะไม่สามารถสบกันจนสนิท จนแสดงให้เห็นซี่ฟันตลอดเวลา โดยเฉพาะฟันที่ริมฝีปากบน สันนิษฐานว่าใช้สำหรับงับลูกไม้หรือผลไม้ต่างๆ ที่ตกลงไปในน้ำซึ่งเป็นอาหารหลักของปลาชนิดนี้
ปลาแรดแม่น้ำโขงจัดเป็นปลาที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ว่าปลาแรดชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว จึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงรวมในที่แคบ เพราะปลาอาจจะกัดและทำร้ายกันเองจนตายได้
ชนิดที่ 3 – ปลาแรดแดง (Osphronemus laticlavius)
ปลาแรดแดง หรือ ปลาแรดอินโด (Giant red tail gourami) จัดเป็นปลาแรดที่หายากที่สุด และยังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ตามรายงานระบุว่าปลาชนิดนี้พบได้เฉพาะในลุ่มน้ำกินาบาตังกัน (Kinabatangan) และ เซกามา (Segama) ในรัฐซาบาห์ มาเลเซียตะวันออก และถูกอธิบายเป็นครั้งแรกในปี 1992 และในตอนนี้อาจพบปลาแรดแดงในธรรมดาชาติได้แค่ในรัฐซาบาห์
ลักษณะโดยทั่วไปของปลาแรดแดง จะคล้ายกับปลาแรดธรรมดา แต่จะมีลำตัวสีแดงสด ยิ่งเมื่อปลาโตขึ้นเท่าไหร่สีก็จะยิ่งเข้มขึ้น จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาแรดแดงจะเติบโตช้ากว่าปลาแรดชนิดอื่นๆ และขนาดเมื่อโตเต็มวัย ก็จัดเป็นปลาแรดชนิดที่เล็กที่สุด ซึ่งจะยาวได้อย่างมากก็ 50 เซนติเมตร
ตามประวัติ เมื่อประมาณปี 1985-1986 ปลาแรดแดงถูกนำมาเข้าไทย ในฐานะปลาสวยงาม ในชื่อ “ปลาแรดซูเปอร์เรด” ซึ่งดูเหมือนจะเรียกตามปลาอะโรวาน่าแดงอินโด และราคาในตอนนั้นก็หลักหมื่นบาท แถมยังมีการโฆษณาว่าหากเลี้ยงไว้จะสามารถป้องกันคุณไสยได้ …ในตอนนั้นปลาแรดแดงยังไม่ได้รับการทำอนุกรมวิธานเลยด้วยซ้ำ
จนในปี 1992 ปลาแรดแดงตัวหนึ่ง ของร้านขายปลาสวยงามในตลาดนัดจตุจักรได้ตายลง คุณกิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักมีนวิทยาและนักสำรวจธรรมชาติชาวไทย จึงได้นำตัวอย่างปลาไปให้ ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ที่กำลังศึกษาเรื่องปลาอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นตัวอย่างแรกของปลาแรดแดง จนได้รับการอนุกรมวิธานและตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ชนิดที่ 4 – ปลาแรดหกขีด (Osphronemus septemfasciatus)
ปลาแรดหกขีด เป็นปลาแรดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาแรดแดง และยังพบได้เฉพาะในอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน เป็นปลาที่มีขนาดลำตัวใกล้เคียงกัน หรือประมาณ 50 เซนติเมตร พบได้เฉพาะในรัฐซาราวัก แถบลุ่มแม่น้ำกาปวซ, ลุ่มแม่น้ำมาฮากัม, กาลีมันตันและติมอร์เลสเตเท่านั้น
ลักษณะเด่นของปลาแรดหกขีดคือ มีแถบข้างลำตัว 6-7 ขีด ซึ่งแถบนี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก หากเทียบกับปลาแรดแดงแล้ว ปลาแรดแดงจะมีแถบแค่ 3-5 แถบเท่านั้น อีกทั้งแถบก็ไม่สมบูรณ์เท่าปลาแรดหกขีด
เมื่อใหญ่ขึ้นแถบของปลาแรดหกขีดจะยาวเหลือ 2 ใน 3 เท่านั้น นอกจากนี้แล้วก้านครีบอ่อนของครีบหลังปลาแรดหกขีดจะมีทั้งหมด 11-12 ก้าน ในขณะที่ปลาแรดแดงจะมี 10 ก้าน จำนวนซี่กรองเหงือกของปลาแรดหกขีดจะมีทั้งหมด 11-13 ซี่ ในขณะที่ปลาแรดแดงจะมีราว 8-9 ซี่ นอกจากนั้นแล้วยังมีครีบอื่นๆ เหลื่อมล้ำกันอีกด้วย
สุดท้ายข้อสรุปกันเล็กน้อย ..ในตอนนี้ ปลาแรดแท้ๆ ที่สามารถยืนยันได้ มีทั้งหมด 4 ชนิด หนึ่งคือปลาแรด สองปลาแรดแม่น้ำโขง สามปลาแรดแดง และสี่ปลาแรดหกขีด ชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลาแรดที่เห็นทั่วไปในไทย ส่วนชนิดที่หายากที่สุดคือปลาแรดแดง ส่วนปลาแรดหกขีดถือว่ามีข้อมูลค่อนข้างน้อย
เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง 4 สายพันธุ์ปลาแรด ที่ยังหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ ถ้าชอบเรื่องนี้ก็อย่าลืมแชร์ให้น้าๆ เพื่อนๆ ท่านอื่นได้อ่านกัน