มีอยู่จริง ‘งูเห่าน้ำ’ งูพิษปริศนาที่มีเพียง 2 ชนิดบนโลก

บอกตรงๆ ว่าผมเองก็ไม่เคยรู้ว่ามีงูที่เรียกว่า "งูเห่าน้ำ" อยู่บนโลกด้วย จนกระทั้งมีคนมาถามถึง และยังบอกว่ามีชนิดที่พบในไทยด้วย ผมก็เลยลองพยายามรวบรวมข้อมูลดู แต่น่าเสียดายที่ไม่เจอชนิดที่พบในไทยเลย อาจเพราะมันมีชื่ออื่นหรือยังไม่ได้รับการอธิบาย แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะงูเห่าน้ำ 2 ชนิดที่ผมเจอ มันก็มีข้อมูลน้อยมาก จึงคิดว่าน่าจะมีชนิดอื่นที่ยังไม่ได้อธิบายแน่ๆ และไหนๆ ก็รวบรวมข้อมูลมาแล้ว ก็ขอเอามาเล่าให้ฟังก็แล้วกัน หากมีอะไรเสริมก็คอมเมนต์บอกกันได้นะครับ

งูเห่าน้ำ

งูเห่าน้ำคืออะไร?

Advertisements

งูเห่าน้ำ (Water cobras) จัดเป็นงูพิษเขี้ยวหน้าที่อยู่ในสกุล Naja (นาจา) หรือก็คือสกุลงูเห่า แต่เดิมงูเห่าน้ำจะอยู่ในสกุล Boulengerina (บูเลนเจริน่า) แต่หลังจากที่นักวิจัยตรวจสอบโดยละเอียดแล้ว พวกเขาก็คิดว่างูชนิดนี้ควรอยู่ในสกุลงูเห่า

และเนื่องจากมันมีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในน้ำหรือใกล้น้ำ และยังเป็นสะเทินน้ำสะเทินบก จึงถูกเรียกว่างูเห่าน้ำ และก็ให้ Boulengerina (บูเลนเจริน่า) เป็นสกุลย่อยด้วย

สำหรับงูเห่าน้ำที่อยู่ในสกุลงูเห่า เท่าที่เรารู้จักมีเพียง 2 ชนิด พวกมันทั้งหมดอาศัยอยู่ในแอฟริกากลางและแอฟริกาใต้ ชนิดแรกคือ งูเห่าน้ำวงแหวน หรือ Naja annulata และอีกชนิดคือ งูเห่าน้ำคริสตี หรือ Naja christyi ต่อไปเรามาทำความรู้จักพวกมันทีละตัวกัน

ชนิดที่ 1 : งูเห่าน้ำวงแหวน – Naja annulata

งูเห่าน้ำวงแหวน จัดเป็นงูที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 140 – 220 เซนติเมตร และอาจจะยาวได้ถึง 280 เซนติเมตร ส่วนลักษณะเด่นของงูชนิดนี้คือ หัวสั้น กว้างและแบน มีดวงตาสีเข้มขนาดกลางและมีรูม่านตากลม ร่างกายเป็นทรงกระบอก หางยาว เกล็ดเรียบและเป็นมัน

งูเห่าน้ำวงแหวน – Naja annulata

ทั้งนี้จากการที่งูเห่าน้ำวงแหวน มีเกล็ดที่เรียบ บ่งชี้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ และมันยังสามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่าเพียงแต่จะเป็นแบบแคบ สีพื้นลำตัวส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาลที่ดูมันเงา หรือ สีน้ำตาลอมเทา หรือสีน้ำตาลแดง มีแถบสีดำตลอดลำตัว ท้องมีสีเหลืองอ่อน ส่วนหางมีสีดำ

พบกระจายพันธุ์ที่แคเมอรูน, กาบอง, คองโก, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, แทนซาเนีย, รวันดา, บุรุนดี และแซมเบีย และเพราะเป็นงูเห่าน้ำ พวกมันจึงไม่ค่อยอยู่ห่างไกลจากน้ำ ปกติจะพบได้ตามทะเลสาบ และแม่น้ำในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีที่กำบังเพียงพอ และจะพบมากตามที่ราบลุ่ม ป่าทึบ หรือป่าริมฝั่งทะเลสาบ แม่น้ำ และลำธาร

งูเห่าน้ำวงแหวน – Naja annulata

หากถามถึงพฤติกรรมของงูชนิดนี้ คงต้องบอกว่า มนุษย์อย่างเราแทบไม่รู้เรื่องของมันเท่าไร งูชนิดนี้อาจจะหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 10 นาที และดำได้ลึก 25 เมตร

และแม้มันจะว่ายน้ำเก่งมาก แต่เมื่ออยู่บนบก มันจะช้ามาก โดยทั่วไปงูชนิดนี้จะไม่ก้าวร้าว หากถูกคุกคามบนบก มันจะเชิดหน้าขึ้นและแผ่แม่เบี้ยที่แคบของมัน และอาจส่งเสียงขู่ แต่ถึงอย่างงั้นมันก็ไม่ค่อยจะพุ่งไปข้างหน้า และมันจะกัดเมื่อถูกยั่วยุมากเท่านั้น

สำหรับพิษของงูเห่าน้ำวงแหวน ยังไม่ได้รับการศึกษามากนัก แต่เชื่อว่ามีพิษร้ายแรงต่อระบบประสาท ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับงูในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้าส่วนใหญ่ (Elapidae) ส่วนความรุนแรงนั้นยังไม่ได้ประเมิน

ชนิดที่ 2 : งูเห่าน้ำคริสตี้ – Naja christyi

งูเห่าน้ำคริสตี้ เป็นเช่นเดียวกับงูเห่าน้ำวงแหวน เพียงแต่จะตัวเล็กกว่า เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวได้ประมาณ 110 เซนติเมตร และอาจยาวได้ถึง 230 เซนติเมตร จัดเป็นงูพิษขนาดปานกลาง มีลำตัวค่อนข้างอวบปานกลาง หางเรียวยาว มีหัวสั้น ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ เกล็ดเรียบเงา มีลอยปะสีน้ำตาลเทาตามลำตัว สามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่าวงแหวน เป็นงูที่พบกระจายพันธุ์ที่คองโก

งูเห่าน้ำคริสตี้ – Naja christyi
Advertisements

และก็เป็นเช่นเดียวกับงูเห่าน้ำวงแหวน นักวิจัยแทบจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของงูเห่าน้ำคริสตี พวกมันอาจจะออกล่าเหยื่อในเวลากลางวันหรือกลางคืน มันเป็นงูกึ่งน้ำที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในน้ำ ว่ายน้ำเก่ง และชอบซ่อนตัวอยู่ตามโขดหิน ในรู หรือรากไม้ที่ยื่นออกมาตามแนวชายฝั่ง จะอาศัยบริเวณพื้นที่ลุ่มหรือป่าทึบริมฝั่งทะเลสาบ แม่น้ำและลำธาร โดยจะจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณแม่น้ำคองโกตอนล่าง และพื้นที่ป่าดิบชื้นใกล้เคียง

งูเห่าน้ำคริสตี้ – Naja christyi

สำหรับพิษของงูเห่าน้ำคริสตียังไม่ได้รับการศึกษามากพอ แต่เชื่อว่ามี พิษร้ายแรงต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับงูในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า ..ในเรื่องประชากรของงูชนิดนี้ยังไม่สามารถประเมินได้เช่นเดียวกับงูเห่าน้ำวงแหวน

นอกจากงูเห่าน้ำทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังมี “งูเห่าน้ำแคระ” (Naja nana) มันเป็นงูที่เพิ่งได้รับการอธิบายเมื่อปี ค.ศ. 2020 โดยอ้างอิงจากตัวอย่างเพียง 2 ตัว ซึ่งมาจาก ทะเลสาบไม-นอมเบ (Lake Mai-Ndombe) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และแม้จะยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่ในตอนนี้ก็จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับงูเห่าน้ำ ทั้ง 2 ชนิด ที่เพิ่งพูดถึงไป

งูเห่าน้ำแคระ (Naja nana)
Advertisements

ทั้งนี้งูเห่าน้ำแคระมีความยาวไม่เกิน 100 เซนติเมตร มันเป็นงูกึ่งน้ำ ที่มีเกล็ดเรียบสีดำและมีจุดสีขาวหรือเหลืองเล็กๆ และมีหางสีดำ สำหรับงูเห่าน้ำแคระจะต่างจากงูเห่าน้ำรุ่นพี่ทั้งสอง เพราะมันชอบอยู่บนบกมากกว่าและก็ปีนต้นไม้เก่ง น่าแปลกใจที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพิษของงูชนิดนี้ และเพราะข้อมูลน้อยเกินไป จึงทำให้งูเห่าน้ำชนิดนี้ยังไม่ถูกเพิ่มเป็นชนิดที่ 3 …และนอกจากนี้ยังมีงูเห่าน้ำปลอมอีก ซึ่งอยู่คนละสกุลจึงไม่ขอพูดถึงในตอนนี้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements