เรามาทำความรู้จักกับแม่หอบกันก่อน
แม่หอบ หรือ จอมหอบ หรือ มัดล็อบสเตอร์ (Mud lobster, Mangrove lobster) คำว่า Mud แปลตรงๆ คือ “โคลน” ซึ่งก็ตรงกับถิ่นที่อยู่ของสัตว์ชนิดนี้ โดยแม่หอบเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง มันอยู่ในสกุล Thalassina (ธาลัสซีน่า) ในอันดับ Decapoda (เดคาโปด้า) หรือก็คืออันดับของกุ้ง
แม่หอบเป็นจัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต ที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน พวกมันอยู่มาตั้งแต่ยุคไมโอซีน ซึ่งยาวนานถึง 16 ล้านปี ทั้งนี้แม่หอบสามารถอยู่บนบกได้นานกว่าสัตว์จำพวกครัสตาเซียนชนิดอื่นๆ โดยแม่หอบจะกินอาหารจำพวกอินทรีย์สารที่อยู่ในดินเลนในช่วงเวลากลางคืน
แม่หอบมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปู และยังลักษณะของแมงป่องอีกด้วย โดยขาคู่แรกขนาดใหญ่จะคล้ายก้ามปู นอกจากจะใช้เดินแล้ว ยังช่วยให้แม่หอบสามารถขุดรูและขนดินออกมากองบนพื้นดินคล้ายจอมปลวก ซึ่งตรงจุดนี้เราจะสามารถสังเกตุเห็นรังของแม่หอบได้จากกองดินที่คล้ายกับจอมปลวกที่ป่าชายเลน เพียงแต่ของแม่หอบจะมีขนาดเล็กกว่าจอมปลวก
นอกจากก้ามที่คล้ายปูแล้ว หัวของแม่หอบก็เหมือนกับกุ้งขนาดใหญ่ ลำตัวจะมีสีแดงเข้มเป็นปล้องๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหางลักษณะนี้จะคล้ายแมงป่อง และมันก็มีขนาดความยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร
แม่หอบเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าชายเลน
โดยปกติแม่หอบจะอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน ซึ่งมันจะขุดรูอยู่ตามพื้นดินหรือโคลนในป่าชายเลน โดยจะขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง จนเกิดรูปทรงภูเขาไฟ ซึ่งอาจสูงได้ถึง 2 เมตรจากพื้นดิน ส่วนตัวมันเองจะอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น
แต่! ต้องบอกว่า กองดินที่แม่หอบสร้าง ไม่ได้มีความสำคัญกับตัวแม่หอบเท่านั้น มันยังเป็นบ้านและที่หลบภัยให้กับสัตว์ในพื้นที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น งู ปู มด แมงมุม หนอน หอย และกุ้ง ก็จะใช้ประโยชน์จากกองดินนี้ และดูเหมือนว่าพืชบางชนิดก็จะเติบโตได้ดีกว่าบนกองดินเหล่านี้
นอกจากนี้แม่หอบซึ่งถือเป็นเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าชายเลน มันมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตในป่าชายเลน มันจะกินโคลนและเมื่อกินและขุด มันจะรีไซเคิลสารอาหารจากใต้ดินลึก ส่งขึ้นมาด้านบน ซึ่งจะช่วยให้สารอาหารอยู่ในระยะที่พืชและสัตว์อื่นๆ เข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้การขุดของมันยังทำให้โคลนคลายตัวและช่วยให้อากาศและน้ำที่มีออกซิเจน สามารถทะลุผ่านพื้นดินที่ขาดออกซิเจนได้
สำหรับในประเทศไทย จะพบแม่หอบได้เฉพาะบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ในต่างประเทศจะพบได้ที่รัฐเกรละ ในอินเดีย, ศรีลังกาจรดถึงเวียดนาม, หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น จนถึงชายฝั่งทะเลของปาปัวนิวกินี ออสเตรเลียทางตอนเหนือและตะวันตก รวมถึงฟิจิและซามัว
ความเชื่อที่เกี่ยวกับแม่หอบของคนไทย
การที่สัตว์ตัวนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “แม่หอบ” นั้นเพราะมันถูกเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่า เนื้อของแม่หอบสามารถรักษาอาการหอบหืดได้ สุดท้ายพวกมันก็ถูกจับมาเผาไฟเพื่อเอามากินตั้งแต่ในอดีต และมันยังสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ ธาลัสซีน่า “Thalassina” ที่หมายถึง “การย้อนกลับทางเดินหายใจ” เพื่อให้เหงือกไม่มีสิ่งสกปรก
ในอดีตจะมีการนำตัวแม่หอบมาเผาไฟ และนำเนื้อไปให้คนป่วยโรคหืดหอบรับประทาน เชื่อว่าสามารถทุเลาและหายจากการเป็นโรคหืดหอบได้
ปัจจุบันสถานะของแม่หอบในไทย ถือได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มลพิษ ขยะทะลักเข้าสู่ป่าชายเลน และแม่หอบจะตายอย่างง่ายดาย เพราะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบาง