ปลาไหลนา คืออะไร?
ก่อนอื่นต้องมารับทราบข้อมูลของปลาไหลนากันก่อน … ปลาไหนนา หรือ ปลาเอี่ยน เป็นปลาไหลน้ำจืดแท้ที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทย มันมีชื่อวิทยาศาสตร์ โมน็อพเทอรัส ชวาเนซิส (Monopterus Javanensis) ส่วนใน Wiki จะใช้ชื่อ โมน็อพเทอรัส อัลบัส (Monopterus albus)
โดยปลาไหลที่อยู่ในสกุลนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 15 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วเอเซียและแอฟริกา ในประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิด แต่! ปลาไหลเกล็ดระนอง ยังมีการสับสนกันอยู่ว่าจะให้อยู่ในสกุลเดียวกับปลาไหลนาหรือไม่? แต่ในตอนนี้ให้เป็นคนละสกุลกันไปก่อน
ปลาไหลนาเป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร และอาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร โดยทั่วไปลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดง ท้องเป็นสีเหลืองอมส้ม แต่! ปลาไหลชนิดนี้จะมีสีพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเผือกขาว เผือกชมพู ลายจุด ลายด้าง
เป็นปลาที่ปกคลุมด้วยเมือกลื่น ไม่มีครีบหูและครีบหลัง ในส่วนของครีบหลัง หางและครีบก้นจะลดรูปลงจนกลายเป็นเพียงขอบหนังเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด ส่วนหางจะแหลมและไม่มีครีบหาง
มักพบปลาไหลชนิดนี้ได้ทั่วไทย บริเวณแหล่งน้ำตื้นไร้นาตามพื้นโคลนเลน และสามารถหายใจเอาอากาศได้โดยตรง ชอบอยู่ในน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น ปลาไหลชนิดนี้มีสองเพศในตัวเดียว ตอนเล็กเป็นเพศเมียและเมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ได้ เป็นปลาไหลที่มีพฤติกรรมวางไข่ในหวอดที่สร้างใต้ใบไม้หรือวางไข่ในโพรงริมตลิ่ง และจะเฝ้าไข่และลูกจนดูแลตัวเองได้ จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย นิยมเอามาผัดเผ็ด ต้มเปรตหรือแกง
นอกจากจะเอาไว้กินแล้ว ยังมีความเชื่อที่ว่า หากปล่อยปลาไหลจะช่วยนำสิ่งที่ไม่ดีไหลออกจากตัวได้ แต่! รู้หรือไม่ว่า คนที่ปล่อยปลาไหลส่วนใหญ่ มักจะส่งพวกมันไปตาย นั้นเพราะพวกเขาจะปล่อยลงในคลองหรือแม่น้ำ ซึ่งปลาไหลพวกนี้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สุดท้ายมันจะตายอย่างรวดเร็ว จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เรียกทำบุญสะเดาะเคราะห์ได้หรือไม่?
การจับปลาไหลนาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ
จริงๆ แล้วปลาไหลนามีวิธีการจับที่หลากหลาย ตัวผมเองตอนเด็กๆ ก็เคยธงเบ็ดเพื่อจะเอาปลาช่อน แต่ก็ยังได้ปลาไหลนาเป็นบางครั้ง แม้แต่การตกด้วยไส้เดือนเพื่อเอาปลานิล บางทีก็ได้ปลาไหลนา แต่ปลาไหลพวกนี้ก็สามารถจับได้ด้วยเครื่องมือเฉพาะที่เรียกว่า “บั้งลัน” กับ “อีจู้” ซึ่งผมก็ไม่เคยใช้ แต่ก็เคยตามดูคนที่มีอาชีพจับปลาไหลนาโดยเฉพาะ และเขาก็ใช้บั้งลันเพื่อจับปลาไหล
บั้งลันสำหรับผมในตอนนั้นที่เป็นเด็กกรุงที่มาเที่ยวต่างจังหวัด มันก็เป็นเครื่องมือแปลกๆ ที่เป็นเหมือนกระบอก สมัยก่อนจะทำจากไม้ไผ่ ซึ่งคนอีสานจะเรียกไม้ไผ่ที่ตัดออกจากกอว่า “ลำ” และจะเรียกลำที่ตัดเป็นท่อนๆ ว่า “บั้ง” เช่น บั้งข้าวหลาม บั้งไฟ บั้งกัญชา บั้งลัน อะไรประมาณนี้ แต่ในสมัยนี้ “บั้งลัน” มักเห็นเป็นท่อ PVC ที่ยาวประมาณ 100 – 120 เซนติเมตร ปากกว้างประมาณ 5 – 8 เซนติเมตร
บั้งลันจะทำหน้าที่เหมือนกับดัก ซึ่งปกติจะวางไว้ตามนาข้าวหรือแหล่งน้ำเล็กๆ ทีละหลายๆ อันในช่วงเย็น เมื่อปลาไหลเข้ามาจะไม่สามารถถอยออกไปได้ นับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่บังคับทำให้ปลาไหลไม่สามารถลื่นไหลออกไปได้ และอีกวิธีที่ผมทึ่งมากคือการใช้เหล็กยาวๆ แทงลงไปในดินเพื่อหาปลาไหล คงเป็นที่มาของคำว่าแทงปลาไหลหรือเปล่า?
และก็อย่างที่บอกเอาไว้ ปลาไหลพวกนี้มีหลายสี หากได้สีแปลกๆ อย่างลายกะ เผือกสีเหลือง บางทีชาวบ้านที่มีความเชื่อเรื่องโชคลาภ หากเป็นช่วงใกล้วันหวยออก ก็จะเอาไปบูชาขอหวยกันก็มี บางทีนักข่าวไม่มีไรทำ ก็เอาไปออกข่าวช่อง 7 ก็มี …ซึ่งก็เป็นประโยชน์อีกอย่างของปลาไหลนา บ้าจริงๆ
เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง เรื่องราวของ ‘ปลาไหลนา’ประโยชน์ล้น ก็อย่างที่เห็นแม้ปลาไหลนาจะดูธรรมดา แต่มันก็ถูกเอาไปใช้งานแปลกๆ หลายอย่าง แต่ที่แปลกที่สุดผมว่า การที่เอาปลาไหลนาเก็งหวยเนียล่ะ ในเรื่องเอามากิน ผมว่าปลาไหลนามันก็อร่อยดีนะ สมัยแรกๆ ที่ผมไม่เคยกินก็ไม่กล้ากิน มันตัวยาวๆ ไม่น่าจะกินได้ เนื้อก็ไม่ค่อยจะมี แต่พอไม่มีอะไรจะกิน จนต้องกินผัดเผ็ดปลาไหลเท่านั้นล่ะ โฮ! อร่อยเหมือนกันแหะ