ทุ่งน้ำสามร้อยยอด ความสมดุลที่ใกล้พังของพืช สัตว์ป่า และปลาหมอคางดำ

ทุ่งน้ำสามร้อยยอด เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นพื้นที่ๆ มีน้ำขังและท่วมถึงถาวร มีทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำคล้ายๆ แบบนี้อยู่หลายแห่ง อย่างเช่น ที่อยู่ แถวรังสิต บางบ่อ บางพลี ซึ่งถือว่าหายไปแล้ว ในขณะที่ของ บึงบอระเพ็ด และ ทะเลน้อย ก็ได้รับผมกระทบจากมนุษย์ไปไม่น้อย ในขณะที่ทุ่งน้ำสามร้อยยอด แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่! ก็ยังได้รับผลกระทบทั้งจากมนุษย์ พืชและสัตว์รุกราน มีแม้แต่ปลาหมอคางดำที่เข้ามาในพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน แต่ถึงอย่างงั้น! เมื่อเทียบกับพื้นที่ชุ่มน้ำอย่าง ทุ่งน้ำสามร้อยยอด ก็ยังดูดีกว่านิดหน่อย และต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับทุ่งน้ำสามร้อยยอด

ความเป็นมาของสามร้อยยอด!

Advertisements

เรื่องนี้ต้องเล่าไปถึงสมัยโบราณ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่ก็มีอยู่ในเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเขียนเอาไว้ว่า ในสมัยโบราณ บริเวณรอบๆ เทือกเขาเป็นทะเล ส่วนที่เป็นภูเขาในปัจจุบันตอนนั้นยังเป็นเกาะ ต่อมาได้มีเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมา บังเอิญประสบเข้ากับลมพายุอย่างรุนแรง จนเรือใกล้อับปาง จึงแวะหลบภัยเข้ามาตามร่องน้ำทางทิศตะวันตกของเกาะ แต่เนื่องจากไม่ชำนาญภูมิประเทศ เรือได้เกยหินใต้น้ำจนจมลง ผู้คนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็ไปอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 300 คน จึงเรียกว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาน้ำลดระดับลง เกาะจึงกลายเป็นภูเขา และชาวบ้านก็เรียกเพี้ยนเป็น “เขาสามร้อยยอด” นอกจากนี้ สามร้อยยอด ยังเป็นชื่ออำเภอๆ หนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย …เอาจริงๆ ผมเคยคิดว่า ที่ชื่อเขาสามร้อยยอด เพราะมียอดเขาเต็มไปหมดน่ะ

ทั้งนี้! ทุ่งน้ำสามร้อยยอด ตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อเดือน มิถุนายน ปี พ.ศ. 2509 โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และในตอนนั้นก็ประกาศเฉพาะบริเวณเทือกเขาหินปู มีเนื้อที่ 38,300 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 จึงได้มีการขยายเขตครอบคลุมประมาณครึ่งหนึ่งของทุ่งน้ำสามร้อยยอด จนปัจจุบันก็มีพื้นที่มากกว่า 43,260 ไร่

ทุ่งน้ำสามร้อยยอด อยู่ล้อมรอบเทือกเขาหินปูนสามร้อยยอด ที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกหรือที่เรียกว่า แรมซาร์ ไซต์ (Ramsar Site) ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และยังเป็นพื้นที่ๆ มีศักยภาพมากพอ ที่จะเป็นพื้นที่สำหรับรองรับนกน้ำอพยพเป็นจำนวนมากได้

พืชและสัตว์ในทุ่งน้ำ

ทุ่งน้ำสามร้อยยอด มีพืชพันธุ์อยู่มากมาย ท่ามกลางพืชดั้งเดิม อย่าง แขม อ้อ บัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน แห้วทรงกระเทียม ยังมีพืชต่างถิ่นที่เป็นสายพันธุ์รุกรานอย่างธูปฤาษี ซึ่งกินพื้นที่ของพืชดั้งเดิมไปมาก และเป็นความจริงที่ว่า เราแทบจะไม่สามารถหยุดการมาถึงของสายพันธุ์ต่างถิ่นได้ แม้พืชเหล่านี้บางชนิด! จะสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสายพันธุ์ท้องถิ่นได้โดยไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หลายชนิดก็แย่งชิงพื้นที่จนทำให้พืชดั้งเดิมลดจำนวนลงไปมากเช่นกัน

พืชท้องถิ่นที่สำคัญอย่าง บัว ซึ่งนอกจากจะเป็นแห่งท้องเที่ยวแล้ว ชาวบ้านนำบัวไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย ในหน้าแล้งปีที่แล้ว หรือ ปี พ.ศ. 2566 บึงบัวที่เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งน้ำสามร้อยยอดนั้นแห้งจนน่าตกใจ แต่มันก็เป็นเรื่องปกติของพื้นที่ชุ่มน้ำ และแม้แต่ในช่วงแล้งที่สุด ช่วงเวลาที่บัวที่อยู่เหนือดินตายทั้งหมด แต่ใต้ดินก็ยังคงเหลือเหง้า ที่จะรอคอยการมาของฝนที่จะทำให้พวกมันตื่นและแทงยอดขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว

แห้วทรงกระเทียม ซึ่งเป็นพืชจำพวกกก ที่แทงไหลแตกหน่อ มีหัวคล้ายแห้วอยู่ใต้ดิน ยามหน้าแล้งก็ยังมีหัวอยู่ใต้ดิน ซึ่งส่วนหนึ่ง จะกลายเป็นอาหารสำหรับสัตว์ที่ชอบขุดกิน เมื่อน้ำมาก็จะเติบโตขึ้น เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงและนกน้ำ นกหลายชนิดจะกินทั้งแมลงและหัวใต้ดิน รากใต้น้ำของแห้วยังเป็นที่อยู่ของไรแดง ซึ่งเป็นอาหารที่ปลาสลิดและปลาขนาดเล็กมากมาย

Advertisements

วงจรชีวิตที่อยู่รอบๆ แห้วทรงกระเทียม สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตของทุ่งน้ำสามร้อยยอด แต่! เมื่อมีธูปฤาษี ซึ่งเป็นพืชผู้รุกราน ที่โตเบียดพื้นที่ของแห้วทรงกระเทียม ก็ส่งผลต่อนกน้ำ ต่อปลาสลิด จนสุดท้ายก็ลดจำนวนลงไปมาก นี่ยังไม่นับปลารุกรานอย่างปลาหมอคางดำที่เข้ามาในแหล่งน้ำนี้

เมื่อปลาหมอคางดำบุกรุก

แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ แต่เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ แน่นอนว่าต้องไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ หากมากเกินไปถือว่าผิด! ในแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่ จะมีอุปกรณ์จับปลาอย่างไซขนาดเล็กติดตั้งอยู่ตามกอพืช ซึ่งชาวบ้านเป็นคนนำมาวางไว้ดักปลาอยู่หลายจุด ปลาที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็ต้องปลาราคาดีอย่าง ปลาช่อน ปลาสลิด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจับปลาหมอคางดำได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จากคำบอกเล่าของคุณป้าท่านหนึ่ง ที่กำลังจอดเรือแกะปลาหมอคางดำออกจากตะคัดดักปลา ได้เล่าว่า ความจริงเธออยากได้ปลาสร้อย แต่ดันจับปลาหมอคางดำได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้มากกว่าปลาสร้อยมานานหลายปีแล้ว

ในขณะที่ลุงอีกท่านเล่าว่า ที่นี้มีปลาชะโด แต่ก็มีน้อยลงไปมาก และปลาชะโดก็กินปลาหมอคางดำได้ แต่! ดูเหมือนมันจะไม่ชอบกินปลาชนิดนี้เลย

จากรายงานล่าสุดในปีนี้ ที่ต่อเนื่องมาจากข่าวปลาหมอคางดำระบาดใหญ่ ก็ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยมีคุณลุงที่ทำอาชีพประมงในทุ่งน้ำสามร้อยยอดมากว่า 40 ปี ได้เล่าว่า ในอดีตที่ทุ่งน้ำแห่งนี้ มีปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด ทั้ง ปลาสลิด ปลาช่อน ปลาหมอเทศ ปลาพวกนี้จะมีเยอะมาก แต่ในตอนนี้ลดลงไปมาก โดยปลาที่เข้ามาแทนที่คือปลาหมอคางดำ จากที่เคยจับปลาท้องถิ่นได้ 50 กิโลกรัม แต่ตอนนี้แทบจะกลายเป็นปลาหมอคางดำ เหวี่ยงแหทีได้แต่ปลาชนิดนี้ ปลาอีกชนิดที่ยังคงมีให้จับมากหน่อย ก็มีแค่ปลาช่อน

จากคำบอกเล่าของแม่ค้ารับซื้อปลาในพื้นที่ ก็เล่าว่า แต่ก่อนมี ปลาสลิด ปลาช่อน ปลากระบอกมาขายเยอะ แต่ตอนนี้กลายเป็นปลาหมอคางดำไปซะแล้ว สงสัยปลาพวกมันกินไข่ปลาจนหมด และมันก็เข้ามาในทุ่งน้ำสามร้อยยอดมากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนราคารับซื้อปลาหมอคางดำตัวใหญ่หน่อยก็ กิโลกรัมละ 20 บาท ถ้าตัวเล็กได้แค่ 5 บาท ส่วนใหญ่ก็เอาไปทำอาหารสัตว์

และคงต้องบอกว่า หากเป็นเมื่อหลายสิบปีก่อน ในช่วงที่ทุ่งน้ำดีกว่านี้ เมื่อปริมาณน้ำฝนในพื้นที่และรอบๆ ยังมีมาก โดยเฉพาะช่วง เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน จะมีฝนตกหนักเพราะเป็นช่วงปลายมรสุม น้ำที่เอ่อท่วมออกจากทุ่งไปสู่ทะเล จะมีปูแป้นหรือปูจาก (Varuna litterata) เป็นล้านๆ ตัวไหลมากับน้ำ ชาวบ้านก็จะรอคอยช่วงเวลานี้เพื่อจับปู

ส่วนวิธีจับก็ง่ายมาก ใช้สวิงดักช้อนตามคลอง หรือใช้ลอบดัก ชาวบ้านจะนำมาต้ม หรือ ดองน้ำปลาไว้กิน บ้างทีก็จับใส่ถุงปุ๋ย เอาไปวางบนรถเข็นแล้วใช้รถจักรยานยนต์ลากไปฝากเพื่อนฝูง หรือญาติ มิตรที่อยู่ห่างไกลออกไป ในช่วงนั้นบริเวณหน้าบ้านดอนบ่อกุ่ม จะมีเรือหาปลาลำเล็กๆ มาจอดเรียงรายเพื่อส่งปลาสลิดให้แก่พ่อค้าคนกลาง แต่! สภาพเช่นนั้น เปลี่ยนแปลงไปมากๆ จนแทบจะไม่มีให้เห็น

Advertisements

สำหรับนกน้ำ ก็เป็นของคู่กับทุ่งน้ำแห่งนี้ ในอดีตเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน พบนกมากถึง 269 ชนิด มีทั้งนกเป็ดผีเล็ก นกอีโก้ง นกพริก นกกระสาแดง นกตับคา นกแขวก นกอีล้ำ รวมถึงนกอพยพ เช่น นกกระสานวล เป็ดลาย เป็ดหางแหลม ซึ่งบางตัวก็อยู่ยาวไปจนกว่าจะถึงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงอาหารหมดกันเลยทีเดียว …แต่มาถึงทุกวันนี้ ก็หายไปกว่าครึ่งแล้ว

นากุ้งทำลายทุ่งน้ำ

Advertisements

อีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้ทุ่งน้ำแห่งนี้แย่ลงก็คือนากุ้ง มันเริ่มต้นในช่วงปี พ.ศ. 2530 บริเวณรอบๆ ทุ่งน้ำสามร้อยยอดมีการทำนากุ้ง เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ไม่เห็นผลกระทบอะไรนัก เพราะมีนากุ้ง ก็ยังมีทุ่งดอกบัวที่สวยงามอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยน สภาพน้ำเปลี่ยน พืชน้ำ สัตว์ในบึงได้มีความเปลี่ยนแปลง ต้นอ้อ กลุ่มพืชชายน้ำ ที่เป็นแหล่งอาศัย หลบภัย แหล่งอาหารของนกหลายชนิดค่อยๆ หายไป เหลือไว้แค่พืชจำพวกสาหร่าย

ในช่วงเวลานี้เอง ที่บัว ซึ่งเคยมีอยู่เป็นจำนวนมากในทุ่งน้ำสามร้อยยอดก็ค่อยๆ หายไป เช่นเดียวกับนกที่หายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้จะไม่มีสิ่งยืนยันว่า! ผลกระทบนี้ เกิดจากการทำนากุ้งเป็นจำนวนมาก แต่! หลังจากที่ยุคทำนากุ้งบูม ก็มีเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่บางส่วนออกบอกว่า สภาพน้ำที่ทุ่งสามร้อยยอดเปลี่ยนไปมาก จนทำให้ทุ่งดอกบัวหายไป จนมีสื่อไปทำข่าวครึกโครมเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จากบึงบัวทุ่งน้ำสามร้อยยอดอันสวยงาม กลายเป็นบึงน้ำดาดๆ ธรรมดา ไร้สีสัน ไร้เสน่ห์

หลังหมดยุคนากุ้งบูมในบ้านเรา นากุ้งรอบๆ ทุ่งน้ำสามร้อยยอดก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไปมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่ถึงสิบปีก่อน น้ำจากธรรมชาติก็เริ่มกลับเข้าสู่ทุ่งสามร้อยยอดอีกครั้ง ธรรมชาติได้ฟื้นชีวิตเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง บรรดาพืชน้ำ บัวต่าง ๆ ที่เคยล้มตาย แต่ยังมีเหง้าฝังอยู่ในดิน พอน้ำธรรมชาติกลับมา ก็เริ่มกลับมาเติบโต แตกหน่อ ต่อยอด เกิดใบ และออกดอกสร้างสีสันสวยงามอีกครั้ง และแม้จะไม่เหมือนเก่า! แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี ไม่ดูแห้งแล้ง ดูร้างไร้สีสันเหมือนแต่ก่อน

ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นอกจากจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์หายากหลายชนิด ยังเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของชาวบ้าน และเป็นแหล่งท้องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ในกรณีนี้ ไม่ว่าจะมองมุมไหน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ก็สำคัญ! ทั้งกับผู้คนและกับสัตว์ป่า! การดูแลรักษาพื้นที่ จึงสำคัญ นักท่องเที่ยวควรให้ความเคารพต่อสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ก็ต้องคิดหาวิธีใช้ประโยชน์อย่างยังยืนเช่นกัน! สุดท้ายก็หวังว่า ทุ่งน้ำสามร้อยยอด จะไม่หายไปเหมือนกับทุ่งน้ำอื่นๆ ของประเทศไทย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements