ปลาจาละเม็ดคืออะไร?
ก่อนอื่นขอพูดถึงภาพรวมของปลาจาละเม็ดซะหน่อย โดยปลาจาละเม็ดจัดอยู่ในวงศ์ปลาจะละเม็ด หรือ สโตรมาทิเด (Stromateidae) ซึ่งเป็นวงศ์ของปลาทะเลกระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง
รูปร่างโดยรวมของปลาในวงศ์นี้คือ มีลำตัวรูปไข่และแบนข้างมาก เกล็ดเป็นแบบขอบเรียบขนาดเล็ก ส่วนหัวเล็กมน ปากเล็ก บริเวณคอดหางไม่มีสันคม ครีบหางเป็นแฉกยาวเว้าลึก …เป็นปลาที่มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงในทะเล พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ชายฝั่งของอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้, แอฟริกาและเอเชีย ในแถบอินโด-แปซิฟิก ก็พบได้เช่นกัน
สำหรับปลาในวงศ์นี้จะมีอยู่ 3 สกุล 17 ชนิด แต่จะมีอยู่ 2 ชนิด ที่ว่าถือเป็นปลาเศรษฐกิจที่พบได้ในน่านน้ำประเทศไทย หนึ่งคือปลาจะละเม็ดขาว และ สองคือปลาจะละเม็ดเทา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปลาเต๋าเต้ย ซึ่งทั้งสองอยู่ในสกุล แพมพัส (Pampus) ในขณะที่อีกชนิดก็คือ ปลาจะละเม็ดดำ ซึ่งมีชื่อสามัญว่าปลาจะละเม็ดเหมือนกัน และหน้าตาก็คล้ายกัน แต่กลับไม่ได้อยู่ในวงศ์เดียวกัน
ลักษณะของปลาจาละเม็ดขาว
ถ้าพูดถึงปลาจาละเม็ด หลายคนก็น่าจะนึกถึงชื่อ ปลาจาละเม็ดขาว (White pomfret) เป็นอันดับแรก เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจยอดนิยมชนิดหนึ่งของไทย โดยปลาจาละเม็ดขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แพมพัส อาร์เจนติอุส (Pampus argenteus)
เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร แต่ในตอนนี้ 30 เซนติเมตรก็ถือว่าใหญ่แล้ว พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง, เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงทะเลญี่ปุ่น ในไทยพบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทย รวมถึงฝั่งทะเลอันดามัน มักหากินอยู่ตามพื้นหน้าดินที่น้ำใส พื้นเป็นทรายปนโคลน บางครั้งเข้าไปหากินในบริเวณแหล่งน้ำกร่อย
เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อมสั้น เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลำตัวแบนข้างมาก ส่วนหัวป้อมสั้น ตาค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กและเฉียงขึ้น เกล็ดมีลักษณะเล็กบางและหลุดง่าย สันหลังสีเทาปนสีขาวเงิน ส่วนที่อยู่ใต้ลงมาจะมีสีจางลง บริเวณท้องจะเป็นสีขาวเงิน ปลายของครีบท้องมีแถบสีดำ ครีบอื่นๆ จะออกสีเหลือง
ในไทยชอบเอาปลาชนิดนี้ไปทำเป็น ปลานึ่ง อย่างเช่น นึ่งบ๊วย, นึ่งซีอิ๊ว หรือ แม้แต่เอาไปทอด จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดีมาก โดยเนื้อของปลาจาละเม็ดขาวจะมีเนื้อละเอียด รสหวาน กระดูกและก้างค่อนข้างอ่อน หากนำไปทอดดีๆ จะสามารถกินทั้งก้างได้
ส่วนเรื่องราคาของปลาชนิดนี้ ยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งแพง อย่างเช่น หากเป็น 5 ตัวโล จะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท หากเป็น 3 ตัวโล ก็จะอยู่ที่ประมาณ 700 บาท
ลักษณะของปลาเต๋าเต้ย
ปลาจาละเม็ดเทา หรือ ปลาเต๋าเต้ย เป็นปลาที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาจาละเม็ดขาว และเป็นปลาที่มักมีคนชอบบอกว่าทำไมแพงจัง เพราะคิดว่าเป็นชนิดเดียวกับจาละเม็ดขาว ซึ่งคงต้องบอกว่ามันแพงอยู่แล้ว เพราะมันเป็นปลาระดับที่สูงกว่าปลาจาละเม็ดขาวอีกหน่อยหนึ่ง
โดยปลาเต๋าเต้ย (Gray pomfret) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แพมพัส ไชเนซิส (Pampus chinensis) และก็เป็นเช่นเดียวกับปลาจาละเม็ดขาว เพราะยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งแพง หากเป็น 1 กิโลต่อตัว จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท
สำหรับรูปร่างโดยรวมของปลาเต๋าเต้ย จะคล้ายกับปลาจาละเม็ดชนิดอื่นมาก แต่จะต่างกันที่ปลาเต๋าเต้ยตัวใหญ่กว่า พื้นลำตัวเป็นสีเทา ครีบหลังมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ครีบหางไม่เว้าเป็นรูปส้อม คอดหางสั้น ครีบก้นเป็นรูปสามเหลี่ยม พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่อ่าวเปอร์เซียจนถึงญี่ปุ่นตอนเหนือ แต่ไม่พบในนิวกินีหรือออสเตรเลีย
ในเรื่องรสชาติ ปลาเต๋าเต้ยถือว่าดีกว่าปลาจาละเม็ดชนิดอื่น เนื้อหวาน นุ่ม และด้วยความที่ปลาเต๋าเต้ยมักตัวใหญ่ เนื้อเลยเยอะ จึงนิยมนำเนื้อมาทำข้าวต้มปลา หรือทำปลาเต๋าเต้ยจักพรรดิ์หม้อไฟหรือเอาไปนึ่งบ๊วย
ลักษณะของปลาจาละเม็ดดำ
ปลาจาละเม็ดดำ (Black pomfret) เป็นปลาจาละเม็ดอีกชนิดที่พบในตลาดประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พาราสโตรมาเตอุส ไนเจอร์ (Parastromateus niger) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวในสกุล และจัดอยู่ในวงศ์ปลาหางแข็ง (Carangidae) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 30 เซนติเมตร
มีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับปลาจะละเม็ดขาว (Pampus argenteus) ต่างกันที่มีสีและคอดหางของปลาจะละเม็ดดำจะเป็นสันแข็ง ครีบหางใหญ่และเว้าเล็กน้อย ครีบอกยาวเรียว ลำตัวมีสีเทาปนน้ำตาล เมื่อยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีครีบท้อง และครีบหางมีสีดำ จัดเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มีรสชาติสู้ปลาจะละเม็ดขาวไม่ได้ จึงมีราคาขายที่ถูกกว่าพอสมควร โดยหากเป็น 2 ตัวต่อกิโลจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาท
ปลาจาละเม็ดขาว ปลาเต๋าเต้ย และจาละเม็ดดำ ต่างกันตรงไหน?
หากมองดูเผินๆ จาละเม็ดขาว เต๋าเต้ย หรือ แม้แต่ จาละเม็ดดำ จะมีความคล้ายกันมาก หากไม่นับเรื่องขนาดตัว เราสามารถดูได้จาก 3 ตำแหน่ง ซึ่งค่อนข้างต่างกัน
- อย่างแรกครีบที่เป็นกระโดงหลัง ของเต๋าเต้ยจะแลดูเป็นสามเหลี่ยม ของจาละเม็ดขาวจะคล้ายเคียว ในขณะที่ของจาละเม็ดดำ จะเป็นสามเหลี่ยมแบนราบและใหญ่กว่าของเต๋าเต้ย
- อย่างที่สองคือครีบที่ท้องของเต๋าเต้ยจะเป็นสามเหลี่ยม ของจาละเม็ดขาวจะคล้ายเคียวยาว และของจาละเม็ดดำจะเป็นเช่นเดียวกับด้านบน
- อย่างที่สามถือเป็นตำแหน่งที่ชัดเจน คอดหางของเต๋าเต้ยจะสั้นและหนา มีหางรูปร่างแฉกเว้าลึกเล็กน้อย ในขณะที่จะละเม็ดขาวจะมีคอดหาง (caudal peduncle) ที่ยาว และมีหางแบบส้อม ซึ่งเป็นหางรูปร่างแฉกเว้าลึก ส่วนของจาละเม็ดดำ คอดหางจะบางและมีสคิวท์ (scute) หรือสันกระดูกที่แข็งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
จากสามตำแหน่งนี้ ก็จะทำให้เราสามารถแยกชนิดของปลาทั้งสามได้แล้ว ทีนี้เวลาเดินไปตลาดหรือตกปลาพวกนี้ได้ จะได้บอกชนิดของปลาได้อย่างถูกต้อง …และอาจจะไม่ต้องโดนหลอกด้วย เพราะยังไงซะปลาที่คล้ายกันนี้ มันก็มีราคาที่ต่างกันพอสมควรเลย
นอกจากนี้ในไทยยังมีปลาจะละเม็ดน้ำจืด ซึ่งเป็นชื่อที่กรมประมงตั้งให้ โดยหวังให้มันหน้ากินมากขึ้น โดยปลาจะละเม็ดน้ำจืด มีชื่อจริงว่า ปลาคู้ หรือ เปคู ซึ่งเป็นปลาที่เข้ามาในไทยโดยกรมประมงเมื่อปี พ.ศ 2539 เพื่อนำมาส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่
เพราะคิดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว และเมื่อนำไปปรุงอาหารรสชาติก็ดี คาดว่าจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาท
แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆ ปลาไม่ได้ดีอย่างที่คิด มันตัวใหญ่เกินไป กินเก่ง และยังกินได้ทุกอย่าง เลยทำให้เกิดปัญหาในฐานะปลาเนื้อในตลาด เนื่องจากตลาดปลาเพื่อการบริโภคในกลุ่มนี้ ไม่ได้ต้องการปลาตัวใหญ่ จนถึงทุกวันนี้ ปลาชนิดนี้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 35 – 40 บาทต่อกิโลกรัม แน่นอนว่าหาไม่ได้ง่ายๆ ในตลาดทั่วไป และมันก็เป็นปลารุกรานชนิดหนึ่งที่พบได้ในไทย …จบ