ปลาตะพัดคืออะไร?
ก่อนที่จะถึงสิ่งที่ทำให้ปลาชนิดนี้แพง ผมขอเล่าข้อมูลย่อๆ ของปลาตะพัดให้ฟังก่อนดีกว่า ซึ่งจะเน้นไปที่ปลาตะพัดธรรมชาติที่เคยพบในไทยนะครับ และเหตุที่บอกว่า “เคย” ก็เพราะว่า “ปลาตะพัด” ของประเทศไทยอาจจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วนั้นเอง
ปลาตะพัดเอเชีย (Asian arowana) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า อะโรวาน่าเอเซีย โดยปลาตะพัดที่พบในไทยจะอยู่ในสกุล Scleropages (/สะ-เคอ-โอ-พา-กิส/) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) จัดเป็นหนึ่งในปลาโบราณที่มีวิวัฒนาการมากว่าร้อยล้านปี เป็นปลาสามารถหายในได้ด้วยการฮุบเอาอากาศได้โดยตรง
และเพราะปลาตะพัดเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่หากินตามผิวน้ำ มันจึงถูกล่าได้ง่าย ปัจจุบันปลาตะพัดกลายเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมและมีราคาสูง โดยปลาตะพัดที่พบในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 ชนิด นั้นคือ ปลาตะพัดลายงู และ ปลาตะพัดเขียว และทั้งสองก็เป็นปลาที่หาได้ยากมากในธรรมชาติ อาจจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว ..ต่อไปเป็นรายละเอียดของปลาตะพัดทั้ง 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 – ปลาตะพัดลายงู – Scleropages inscriptus
ปลาตะพัดลายงู หรือ ปลาตะพัดสีนาก เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร ในปลาขนาดเล็กจะมีลำตัวและแก้มสีน้ำตาลอ่อน ลายบริเวณแก้มอันเป็นเอกลักษณ์จะเริ่มมีให้เห็นเมื่อปลายาวประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนลายบนเกล็ดจะค่อยๆ มีให้เห็นเมื่อปลายาว 30 เซนติเมตรขึ้นไป และเมื่อโตเต็มที่ ปลาจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลทองหรือสีนาก และมีลายขนาดเล็กคดไปคดมาบริเวณเกล็ดและแก้มอย่างเห็นได้ชัด
ปลาตะพัดลายงู สามารถแยกออกจากปลาตะพัดเขียวได้ง่าย นั้นเพราะปลาตะพัดลายงูกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางภาคใต้ฝั่งแม่น้ำที่ไหลลงทะเลอันดามัน ตั้งแต่ทางตอนใต้ของพม่าลงไปในคาบสมุทรมลายูทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย
สำหรับในประเทศไทยคาดว่าแหล่งที่อยู่สุดท้ายของปลาตะพัดลายงูจะอยู่ที่ คลองละงู จังหวัดสตูล แต่ก็อาจจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว …ปัจจุบันเริ่มมีการเพาะพันธุ์เพื่อนำมาขายเป็นปลาสวยงามมากขึ้น และหวังว่าจะมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต
ชนิดที่ 2 – ปลาตะพัดเขียว – Scleropages formosus
ปลาตะพัดเขียว หรือ ปลาหางเข้ เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร ลำตัวมีเกล็ดสีเขียวอมน้ำตาล ในไทยมีการกระจายพันธุ์ออกเป็น 2 กลุ่ม นั้นคือที่ภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด กับอีกกลุ่มคือ เขตภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าตอนนี้ประชากรกลุ่มที่อยู่ทางภาคตะวันออกสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คงเหลือเฉพาะในประเทศเขมร ส่วนที่อยู่ทางภาคใต้ อาจมีเหลืออยู่แถวๆ ต้นแม่น้ำพุมดวง
อย่างไรก็ตาม กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี 1988 และได้มีความพยายามส่งเสริมให้เอกชนเพาะพันธุ์เป็นปลาสวยงาม แต่เพราะปลาตะพัดเขียวที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีราคาถูกจึงไม่นิยมเพาะพันธุ์กันมากนัก …ด้วยเหตุนี้จึงน่าเป็นห่วง
ทำไมปลาตะพัดจึงแพง ทั้งๆ ที่เคยแทบไม่มีราคา
แม้ในตอนนี้ปลาตะพัดจะมีราคาแพง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปลาชนิดนี้ไม่ได้มีตำแหน่งสูงส่งราคาแพงแบบนี้แต่แรก จริงๆ แล้วพวกมันเริ่มต้นจากปลาที่เกือบจะไม่มีราคา เป็นเวลาหลายศตวรรษที่พวกมันถูกจับจากแม่น้ำ หนองน้ำในฐานะปลาสำหรับประกอบอาหารธรรมดาๆ มื้อหนึ่งเท่านั้น
แต่แล้วทั้งหมดก็ต้องเปลี่ยนไป ในปี 1975 เมื่อพื้นที่ชุ่มน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มลดลง ปลาตะพัดก็เช่นกัน ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงถูกห้ามค้าปลาชนิดนี้ อย่างน้อยก็ระหว่างประเทศ และยังไม่สามารถนำเข้าไปในสหรัฐอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากปลาชนิดนี้ได้รับการคุ้มครองกฎหมายที่เกี่ยวกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
เอมิลี่ โวยท์ (Emily Voigt) ผู้เขียนหนังสือ “The Dragon Behind the Glass” กล่าวว่า การป้องกันนี้ได้ผลย้อนกลับ มันทำให้ปลาได้รับตราประทับอย่างเป็นทางการว่าเป็นของ “หายาก” สิ่งนี้ย้อนกลับมาทำร้ายปลา และมันได้เปลี่ยนปลาที่เคยธรรมดา ให้กลายเป็นสินค้าหรูหราที่มีจำนวนจำกัด
เพราะการห้ามแบบนี้ แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย เรื่องนี้กลับดึงดูดพวกลักลอบค้าสัตว์ ให้จับปลาชนิดนี้มากยิ่งขึ้น มันถูกขายในตลาดมืดด้วยราคาสุดแสนจะแพง
ในสิงคโปร์เคยมีการขโมยปลาตะพัดถึงสี่ครั้งในสัปดาห์เดียว และมีครั้งหนึ่งของการโจรกรรมเหล่านี้ หญิงชราคนหนึ่งถูกต่อยขณะที่โจรพยายามเอาปลาของเธอไป อีกเหตุการณ์หนึ่งคือเจ้าของปลา ถูกแทงเสียชีวิตและเกือบถูกตัดหัวเพราะปลาล้ำค่าเหล่านี้
มีครั้งหนึ่ง ชอว์น ลี นักดนตรีชื่อดัง ถูกเจ้าหน้าที่ในอเมริกาจับเนื่องจากที่หว่างขาของเขามีถุง “Coco” ที่เป็นพลาสติกสีขาว ซึ่งบรรจุปลาตะพัดเอาไว้ถึง 8 ถุง …นี่แสดงให้เห็นว่าปลาชนิดนี้มีค่ามากซะจนบางคน ยินดีที่จะทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือแม้แต่ดัดแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อจะนำปลาชนิดนี้เข้ามาเลี้ยง
โชคดีที่ในช่วงทศวรรษ 1980 ได้มีการคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ โดยอนุญาตให้มีการค้าปลาตะพัดที่เลี้ยงในฟาร์มได้ ซึ่งพ่อแม่ของปลาต้องเป็นปลาเชลยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความต้องการยังคงมีอยู่ในระดับสูง และในปัจจุบันปลาเหล่านี้บางตัวได้รับการเพาะพันธุ์ในฟาร์มที่มีความปลอดภัยสูง ที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับการฝังด้วยไมโครชิป ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ฟาร์มเหล่านี้จะมีระบบความปลอดภัย และกำแพงที่ซ้อนกันเพื่อป้องกันขโมย
สำหรับปลาอโรวาน่าที่เคยขายได้แพงที่สุดในโลก คือ อโรวาน่าแพลตตินั่ม (Platinum Arowana) มีราคาถึง $430,000 หรือประมาณ 14 ล้านบาท และมีครั้งนึงที่ อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ยอมจ่ายเงิน 200 ล้านรูเปียห์ เพื่อซื้อปลาตะพัดตัวสีแดงๆ แน่นอนว่ามีคนอีกมากมายที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อปลาเหล่านี้