“ปลาพลวง หรือ มาห์เซียร์ Mahseers เป็นสกุลของปลาน้ำจืดขนาดกลางที่ค่อนข้างไปทางใหญ่สกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Neolissochilus (/นี-โอ-ลิส-โซ-คิล-อัส) ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)” ซึ่งปลาพลวง ถูกแยกออกจากสกุลปลาเวียน (Tor spp.) ในปี ค.ศ. 1985 โดยวอลเตอร์ เรนโบธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน
ปลาพลวงมีลักษณะที่สำคัญทางอนุกรมวิธานคือ ลำตัวยาวแบนข้าง จะงอยปากสั้นและทู่ ปากมีขนาดปานกลางยืดหดได้ ริมปากบนค่อนข้างหนา ริมฝีปากล่างบาง ส่วนกลางปากล่างเชื่อมติดกับเอ็นคาง ด้านข้างมีร่องคั่นระหว่างริมปากบนขากรรไกร เกล็ดมีขนาดใหญ่ ตามแนวเส้นข้างลำตัวมีเกล็ด 24–29 แถว รอดคอดหางมีเกล็ด 12 แถว มีหนวด 2 คู่ มีตุ่มแบบเม็ดสิวทั้งสองข้างของจะงอยปาก ในตัวผู้ ก้านครีบเดี่ยวก้านสุดท้ายของครีบหลังมีขอบเรียบ มีก้านครีบแขนง 9 ก้าน”
ปลาพลวง หรือ มาห์เซียร์ มีชื่อเรียกหลากหลายในภาษาไทย เช่น ปลาโพ, ปลาเพง, ปลาจาด, ปลาพุง, ปลายาด, ปลาคม, ปลาเวียน, ปลาเงียน ในขณะที่ภาษามลายูจะเรียกว่า “อีกันเมเลาะ” หรือ “อีกันกือเลาะ” เป็นต้น
ปลาพลวงกับคุณค่าทางเศรษฐกิจ
ปลาพลวง หรือ มาห์เซียร์ Mahseers เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่พบได้ทั่วไปทางภาคเหนือของอินเดีย ปลาชนิดนี้มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะปลาเกม และในเมืองไทยเราจะมีปลาในกลุ่มมาห์เซียร์อยู่ 2 ชนิด
คือ ปลาพลวง (Neolissochilus) และปลาเวียน (Tor) ซึ่งเป็นปลาที่นักท่องเที่ยวมักจะเจอตามน้ำตกทั่วๆ ไป โดยในวงการนักวิทยาศาสตร์ทางด้านปลา จะให้ความสนใจปลาชนิดนี้ เป็นเพราะ 3 เหตุผล คือ
- มาห์เซียร์ เป็นอาหารที่สำคัญของผู้คนที่อาศัยอยู่กับสายน้ำ
- มาห์เซียร์ เป็นปลาที่มีคุณค่าในทางกีฬาตกปลาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ
- มาห์เซียร์เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำใสสะอาด และมีการย้ายถิ่นตลอดลำน้ำ ขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำเหมือนปลาแซลมอน ทำให้การอนุรักษ์ปลามาห์เซียร์ส่งผลไปถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งลำน้ำ
มาห์เซียร์ กับกีฬาตกปลา
ร้อยกว่าปีก่อน เป็นนักตกปลาชาวอังกฤษที่ได้พบกับมาห์เซียร์ที่ทางตอนเหนือของอินเดีย และได้พบกับความสนุกในการตกมัน มีคำกล่าวจากหนึ่งจากหนังสือของ “จิม คอร์เบ็ต” (คนๆ นี้ถูกเรียกว่า นายพรานนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ ) ได้กล่าวเอาไว้ว่า การตกปลามาห์เซียร์ คือความสุขที่สุดของการใช้ชีวิตในป่าของเขาเลยทีเดียว
การตกปลาเป็นเกมกีฬาที่สร้างรายได้ให้กับหลายๆ ประเทศอย่างมาก อย่างที่น้าๆ ได้รู้กันว่านักตกปลาอย่างเรา ถ้ามีเงินซะหน่อย จะยอมจ่ายเงินแพงๆ เพื่อให้ได้ตกปลาที่ไม่เคยตกได้ หรือไปสถานที่ๆ ไม่เคยไปตก แม้มันจะกันดารหรืออยู่คนละซีกโลกก็ตาม
จนสมัยนี้การตกปลา ก็อยู่ในกลุ่มการท่องเที่ยวด้วยซ้ำ เพราะการตกปลาจะเป็นการเดินทางไปที่ต่างๆ มันจะเกิดการสร้างรายได้อย่างมาก ซึ่งบางประเทศถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมอย่างเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ หมู่เกาะบาฮามา เม็กซิโก หรือแม้กระทั่งประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา และแม้แต่ภูฏาน ก็มีมาห์เซียร์ และ ปลาเทราต์เยอะ