ประวัติ ‘ฮานาโกะ’ ช้างไทยที่ถูกขังเดี่ยวจนตายในญี่ปุ่น

เมื่อ 22 ปีก่อน "พลายศักดิ์สุรินทร์" ซึ่งเป็นช้างของไทย ได้ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับศรีลังกา ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศศรีลังกาจะให้ความสำคัญกับช้าง แต่พลายศักดิ์สุรินทร์กลับถูกใช้งานอย่างหนัก แถมยังไม่ได้รับความเป็นอยู่ที่ดีนัก โดยเฉพาะช่วงปีหลัง จนในปี พ.ศ. 2566 (2023) หรือก่อนหน้านั้น แผนนำช้างกลับไทยก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง จนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2566 (2023) พลายศักดิ์สุรินทร์ ก็ได้กลับมาถึงประเทศไทย แต่ในเรื่องนี้ผมไม่ได้จะมาเล่าเรื่องของพลายศักดิ์สุรินทร์ แต่จะมาเล่าถึงช้างที่เก่าแก่กว่านั้น มันคือ "ฮานาโกะ" ช้างของประเทศไทยที่ถูกส่งไปยังประเทศญีปุ่น ...เดี๋ยวมาฟังเรื่องราวของฮานาโกะกันดีกว่า

เรื่องของฮานาโกะในประเทศญี่ปุ่น

Advertisements

ฮานาโกะถือเป็นช้างไทยที่ไปเติบโตอยู่ต่างแดน และยังเป็นช้างที่โด่งดังที่สุดอีกด้วย มันถูกเลี้ยงดูโดยสวนสัตว์ในกรุงโตเกียว ตั้งแต่อายุได้ 2 ปีเท่านั้น โดยเหตุผลที่ฮานาโกะไปอยู่ในประเทศญีปุ่น ก็เพื่อไปเยียวยาเด็กญี่ปุ่นผู้กำพร้าจากเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ฮานาโกะเดินทางไปถึงท่าเรือเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2492 (1949) ในตอนนั้นฮานาโกะมีอายุเพียง 2 ปี มันเป็นเพียงช้างตัวเล็กๆ ที่ถูกแยกจากแม่มาอยู่เพียงลำพัง โดยมีบันทึกในหนังสือธรณีสีเหลือง ที่เขียนโดย ร้อยเอก สมหวัง สารสาส ได้พูดถึงบรรยากาศวันส่งมอบฮานาโกะที่ท่าเรือโกเบว่า

“…ข้าพเจ้าก็แปลกใจมากที่วันนั้นมีเด็กมาชุมนุมกันเกือบแสนคนเพื่อดูช้าง…”

ความจริงฮานาโกะ ไม่ใช่ช้างเชือกแรกที่ไทยส่งให้ญุีปุ่น ก่อนหน้านี้สวนสัตว์อุเอโนะเคยเลี้ยงช้างไทยมาก่อน ซึ่งช้างตัวนี้ชื่อว่า “ฮานาโกะ” เช่นเดียวกัน โดยแต่เดิมช้างเชือกนี้มีชื่อว่า “พังวันดี” ซึ่งเป็นช้างอายุ 18 ปี ที่รัฐบาลไทยส่งไปสานสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 (1935) แต่ก็ต้องล้มลง ในปี พ.ศ. 2486 (1943) โดยทางสวนสัตว์ได้บอกเหตุผลว่าขาดอาหารในสภาวะสงคราม

จนผ่านมาหลายปี จนสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เด็กๆ ในโตเกียวต่างต้องการช้างตัวใหม่ จึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งจะตั้งตัวได้ไม่นาน ก็ติดต่อไทยและอินเดีย เพื่อขอช้างเชือกใหม่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2492 (1949) รัฐบาลไทยก็ส่ง “ช้างพังคชา” วัย 2 ปี ไปที่ญีปุ่น ส่วนทางอินเดียได้ส่ง “ช้างพังอินทิรา” มาเช่นกัน …เมื่อถึงญี่ปุ่น ช้างทั้งสองได้รับการเฉลิมฉลองรับขวัญเป็นอย่างดี และดูเหมือนในช่วงแรกพังอินทิราจะได้รับความนิยมมากกว่า

พังคชาได้รับการต้อนรับอย่างดีในสวนสัตว์อุเอะโนะ โดยในตอนแรกผู้ดูแลช้างชาวญี่ปุ่นเรียกพังคชาว่า “คชาโกะ” ต่อมาทางสวนสัตว์อุเอะโนะจึงจัดโครงการให้ชาวญี่ปุ่นช่วยกันตั้งชื่อให้กับ “พังคชา” เป็นภาษาญี่ปุ่น และสุดท้ายต่างก็โหวตให้กับชื่อ “ฮานาโกะ” … ด้วยเหตุ พังคชาจึงเป็นฮานาโกะเชือกที่สอง

Advertisements

ฮานาโกะถูกเลี้ยงดูโดยสวนสัตว์อุเอะโนะ เป็นเวลา 5 ปี …ฮานาโกะในวัย 7 ปี ก็ถูกย้ายไปที่สวนสัตว์อิโนกาชิระ ซึ่งอยู่ในโตเกียวเช่นกัน โดยในสวนสัตว์แห่งนี้ มีช้างเพียงเชือกเดียว นั้นก็คือฮานาโกะ จึงได้เป็นดาวเด่นอยู่ในสวนสัตว์อิโนกาชิระ

โดยบ้านของฮานาโกะถูกสร้างเอาไว้อย่างดี มันค่อนข้างใหญ่สำหรับช้างตัวเดียว ฮานาโกะมีพื้นที่พักอาศัยถึง 260 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นลานกลางแจ้งที่เอาไว้โชว์ตัวและที่พักในร่ม ใช่แล้วในตอนนั้น ฮานาโกะถูกเลี้ยงเป็นอย่างดีในประเทศญีปุ่น แม้มันจะต้องอยู่เหงามากก็ตาม

เหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นในสวนสัตว์

ชีวิตของฮานาโกะไม่ได้ง่ายเลย และช้างก็ยังคงเป็นช้าง ในปี พ.ศ.2499 (1956) ซึ่งฮานาโกะมีอายุได้ 9 ปี เป็นช่วงวัยรุ่นเลยก็ว่าได้ ได้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น โดยฮานาโกะทำร้ายคนเมาที่แอบเข้ามาในโรงเลี้ยงช้างตอนกลางคืนจนเสียชีวิต

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 (1960) ฮานาโกะก็ทำร้ายพี่เลี้ยงจนเสียชีวิตไปอีกคน ด้วยเหตุนี้ฮานาโกะจึงถูกตราหน้าว่าเป็น “เด็กมีปัญหา” ไม่มีใครกล้าที่จะดูแลฮานาโกะ สุดท้ายฮานาโกะจึงถูกล่ามโซ่ไว้ทั้ง 4 ขา จนสุขภาพจิตย่ำแย่ ซึมเศร้ามาก ร่างกายก็ซูบผอมลงไปมาก

ในเวลาต่อมาชายที่ชื่อ คิโยโซ ยามาคาวะ (Kiyozo Yamakawa) ก็พูดว่า “ผมจะดูแลฮานาโกะเอง” เขาไม่เห็นด้วยที่ล่ามฮานาโกะเอาไว้ ประกอบกับกระแสการขอให้ปลดโซ่ฮานาโกะ คิโยโซจึงปลดโซ่ที่ล่ามฮานาโกะออกได้ ในตอนนั้นเขาเพิ่งได้ดูแลฮานาโกะเพียง 4 วัน

การดูแลแลฮานาโกะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องให้อาหารฮานาโกะวันละ 40 – 50 กิโลกรัม และเพราะฮานาโกะมีฟันเพียงซี่เดียว เขาจึงต้องตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ในทุกวัน

คุณโคจิ ลูกชายคุณคิโยโซ เล่าว่า “เราไม่มีความทรงจำของการเที่ยวแบบครอบครัว ไม่มีความทรงจำของการเล่นกับพ่อ พ่อคิดถึงฮานาโกะก่อนเสมอ” หลังจากที่คุณคิโยโซดูแลฮานาโกะมา 6 ปี ฮานาโกะก็ไว้ใจเขามากขึ้น “ช้างที่ฆ่าคน” ก็กลายเป็นเป็นลูกสาวคุณคิโยโซเป็นเวลา 6 ปี

Advertisements

จนในวันที่ 26 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2559 (2016) ฮานาโกะ ช้างไทยอายุ 69 ปี ก็ได้ล้มลง ณ สวนสัตว์อิโนกาชิระ ฮานาโกะจากไปอย่างโดดเดี่ยวในคอกคอนกรีตแคบๆ ซึ่งเป็นที่พักพิงสุดท้ายของมัน

ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติให้สร้างรูปปั้นของฮานาโกะ ที่สูง 1.5 เมตร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ช้างไทยชื่อดังเชือกนี้ ปัจจุบันรูปปั้นฮานาโกะ ตั้งอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟ คิชิโจจิ (Kishijoji Station) ที่อยู่ชานกรุงโตเกียว

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements