นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เผยว่าช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีกวางผาเพศผู้ และเพศเมียที่กำลังท้อง เดินออกมาอาบแดดช่วงเช้าเกือบทุกวันที่หลักกิโลเมตร ที่ 14 บริเวณหน้าผา ก่อนถึงพระธาตุ สร้างความตื่นเต้นดีใจ ให้กับผู้ที่ได้พบเห็น
กวางผา หรือ กวางผาจีน หรือ กวางผาจีนถิ่นใต้ มีถิ่นหากินบนที่ราบสูงที่เป็นภูเขา หรือหน้าผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 – 4,000 เมตร และถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณหน้าผาสูงชัน ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว จึงได้รับฉายาว่า “ม้าเทวดา”
ในประเทศไทยสามารถพบได้เฉพาะทางภูเขาสูงชันทางภาคเหนือ เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยม่อนจอง และ ดอยเชียงดาว ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า มีหน้าผาเปิดโล่ง หย่อมป่าตามร่องเขา
ลักษณะตัว มีขนสีน้ำตาลเทา บริเวณท้องมีสีจางกว่าลำตัว ขาหน้าทั้งสี่มีสีน้ำตาลแดง ขาท่อนล่างมีสีครีมคล้ายใส่ถุงเท้า บริเวณตา ริมฝีปาก คอ อก และโคนหางมีแต้มสีขาว เขาสั้นโค้งไปด้านหลัง หว่างเขาถึงหลังหูมีกระจุกขนเป็นยอดแหลมสีน้ำตาลเข้มชัดเจน และมีแผงขนสีน้ำตาลไหม้พาดผ่านจนถึงหาง หางสั้นและเป็นพุ่ม และเป็นสัตว์ตระกูลแพะเช่นเดียวกับเลียงผา
มีความยาวลำตัวและหัว 82-120 เซนติเมตร ความยาวหาง 7.5-20 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 50-60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22-32 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญานเตือนภัยถึงตัวอื่นๆ ในฝูง ใช้ประสาทการมองมากกว่าการดมกลิ่นหรือฟังเสียง ซึ่งต่างจากสัตว์กินพืชทั่วไป
มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของรัฐสิกขิมและรัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคกลางและภาคใต้ของจีน, พม่า, ภาคเหนือของไทยและลาว (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มั่นคง)