การเรืองแสง และ การสะท้อนแสง คำสองคำนี้แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรในความคิดของท่านนักตกปลาคำว่า “เรืองแสง” และ “สะท้อนแสง” ค่อนข้างได้ผลลัพธ์ซึ่งเหมือนกัน คือทำให้เรามองเห็นเลยค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับนักตกปลาได้ในระดับหนึ่งเหมือนกันสำหรับ คำสองคำนี้ มาเริ่มกันที่คำว่า สะท้อนแสง ก่อนก็แล้วกันนะครับ
เหยื่อสะท้อนแสง
การสะท้อนแสง..!! สิ่งที่สำคัญหรือขาดไม่ได้เลยคือ แหล่งกำเนิดแสง การสะท้อนแสงที่อธิบายแล้วน่าจะเป็นภาพได้ดีที่สุด อาจจะเป็นอย่างในกรณีของเสื้อกั๊กตำรวจจราจร แล้วแสงไฟหน้าของรถฉายไปโดนเข้ากับแถบสะท้อนแสงของเสื้อที่ว่า เสื้อกั๊กนี้จะสะท้อนแสดงออกมาในปริมาณที่มากกว่าสีอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นการใช้งานการสะท้อนแสงที่สำคัญ
สำหรับ “การสะท้อนแสง” ในวงการตกปลาก็จะมีลักษณะเดียวกันกับการนำเอาสีสะท้อนแสงมาทาลงบนตัวเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อเป็นที่สังเกตหรือเห็นได้ง่ายกว่าเหยื่อที่ทาสีทั่วไป เรามักจะได้พบเห็นกันอยู่เสมอ ส่วนการนำไปใช้งานนักตกปลาส่วนใหญ่มักจะมีความคิดกันว่า เหยื่อที่เคลือบด้วยสีสะท้อนแสงนี่ค่อนข้างน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงแต่ก็แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
เหยื่อสีสะท้อนแสง จำเป็นต้องมีแหล่งกำเนิดแสงจากภายนอก
เหยื่อที่เคลือบด้วยสีสะท้อนแสงนั้น หากขาดแสงหรือแหล่งกำเนิดแสงแล้วละก็จะไม่แตกต่างอะไรไปจากเหยื่อที่เคลือบด้วยสีธรรมดา เหยื่อที่เคลือบด้วยสีสะท้อนแสงนั้นเมื่ออยู่ในสภาวะแสงปกติ แน่นอนว่านักตกปลาอาจมองเห็นการสะท้อนแสงของตัวเหยื่อได้ถูกต้อง อย่างที่ผู้ผลิตต้องการให้เป็น แต่ในสภาวะของการใช้งานจริงเมื่อต้องลงไปอยู่ในน้ำ แสงที่ส่องลงไปแตกต่างจากบนบกแน่นอน และยิ่งถ้าเหยื่อตัวนั้นว่ายอยู่ในระดับที่ค่อนข้างลึก ซึ่งแสงส่องลงไปไม่ถึงเหยื่อตัวดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะเคลือบด้วยสีสะท้อนแสงอย่างสวยสดงดงามเพียงไร สีที่ปรากฏต่อสายตาปลาล่าเหยื่อต่างๆ ก็จะเป็นแค่เพียงสีเทาๆ ในโทนต่างๆ เท่านั้นเองครับ
สำหรับเหยื่อที่เคลือบด้วยสีสะท้อนแสง เหยื่อที่เคลือบด้วยสีสะท้อนแสงจริง แล้วก็คือเหยื่อที่มีสีออกมาสดและมองเห็นได้ชัดเจนกว่าเหยื่อที่เคลือบด้วยสีทั่วๆ ไป แต่จะไม่มีความแตกต่างใด ๆ เลยในสายตาปลากับเหยื่อที่ใช้ สีทั่วๆ ไปสำหรับในสภาวะที่ไม่มีแสงหรือแสงน้อย
เหยื่อเรืองแสง
การเรืองแสง ทำให้เรามองเห็นเหมือนกการสะท้อนแสง แต่การเรืองแสง แตกต่างตรงที่มันไม่ต้องอาศัยแหล่งกำเนิดแสงอื่น เพราะว่ามัน “กำเนิดแสง” หรือสร้างแสงขึ้นมาได้นั่นเอง อย่างเช่นหลอดไฟนี่เป็นการเรืองแสงชนิดหนึ่งเช่นกัน ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ต้องอาศัยแหล่งแสงชนิดอื่นด้วยกันทั้งนั้น
การเรืองแสงนั้นสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งแสงจากสภาวะแวดล้อม การเรืองแสงจึงสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่ ไม่เว้นแม้แต่ในสภาวะแวดล้อมที่ปราศจากแสงใด ๆ เลย ซึ่งข้อนี้เป็นจุดแตกต่างที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อนำเอาไปเปรียบเทียบการ สะท้อนแสง
เหยื่อปลอมที่เคลือบด้วย สารเรืองแสง หรือ สีเรืองแสง สามารถทำงานของมันได้ดีไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่แสงจะเป็นเช่นไร หรือจนกระทั่งถึงไม่มีแสงใดๆ เลย เหยื่อเรืองแสงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับเหยื่อสะท้อนแสงก็ตรงนี้ ในระดับน้ำที่ลึกสักเพียงไหนก็ตาม แสงส่องลงมาถึงไม่ถึงก็ไม่เป็นปัญหา หรือจะเป็นการตกปลาในคืนเดือนมืดหรือจะเดือนดับ เหยื่อเรืองแสงเหล่านี้ก็จะยังทำงานของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นเช่นไร จนกว่ามันจะเสื่อมนั่นละครับถึงค่อยหาซื้อใหม่มาเปลี่ยนกัน
เหยื่อเรืองแสง ไม่ได้เป็นของใหม่ของไฮเทคแต่อย่างใดสำหรับวงการตกปลา ตรงกันข้ามเหยื่อเรืองแสงนั้นกลับมีการผลิตและใช้กันมาหลายสิบแล้ว จะเรียกว่าโบราณก็ได้ แต่เหยื่อเรืองแสงในสมัยก่อนนั้นข้างจะจู้จี้จุกจิกสำหรับการใช้งาน และก็ทำงานได้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่นัก เรืองแสงก็ไม่นาน ในสมัยแรกเริ่มเลยนั้นเหยื่อเรืองแสงเหล่านี้สามารถเรืองแสงได้ด้วยสารประกอบจำพวกสังกะสีและสารเคมีอื่นๆ ที่นำมาทำบนตัวเหยื่อหรือผสมออกมาเป็นสีของตัวเหยื่อ
เหยื่อเรืองแสงชาร์จแสง
เหยื่อที่ว่านี้เมื่อต้องการนำออกมาใช้มันก็ต้องมีการ “ชาร์จแสง” กันก่อน ไม่งั้นแสงจะไม่มี วิธีการชาร์จ ก็ง่ายๆ กรณีที่ยังเป็นช่วงมีแสดงแดด สามารถวางตากแดดแปบนึงก็เอามาใช้ได้เลย ถ้ามืดก็จับส่องด้วยแหล่งกำเนิดแสงขาวอย่างหลอดนีออนไม่เกิน 5 นาทีก็ใช้ได้ หรือใช้ไฟแฟลชมือถือ-กล้องถ่ายรูปก็ได้ แค่นี้ก็ส่งลงน้ำได้แล้ว
ซึ่งเจ้าเหยื่อเรืองแสงนี้จะสามารถเรืองแสงอยู่ได้ประมาณ 5 นาที ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มันสามารถอยู่ได้นานขึ้น ครึ่งชั่วโมง หลายชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเหยื่อด้วย แสงที่ใช้สำหรับชาร์จแสงของเหยื่อชนิดนี้คือ “แสงอัลตราไวโอเลต” ซึ่งก็อยู่ในแสงแดด-แสงขาวทั่วๆ โดยไอ้รังสีที่ว่านี้จะไปทำปฏิกิริยากับสารประกอบสังกะสีที่เคลือบอยู่บนตัวเหยื่อที่เล่าให้ฟังนั่น จนได้ออกมาเป็นพลังงานแสง ใช้ตกปลาได้ประมาณห้านาทีก็ต้องนำขึ้นไปชาร์จกันใหม่สลับกันไปมาอย่างนี้เรื่อยๆ
จริงๆ มันเหมือนจะยุ่งยาก แต่เหยื่อปลอมสมัยใหม่ เองก็มักจะใช้สีเรืองแสงโดยเฉพาะเหยื่อจิ๊ก ที่ใช้ตกปลาน้ำลึก และในยุคนี้การชาร์จแสงได้ยากอะไรแล้ว เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ และยังสามารถซื้อไฟฉายแรงสูงราคาร้อยกว่าบาท มาใช้ชาร์จได้อีกต่างหาก วิธีการเคลือบสีเรืองแสงที่ตัวเหยื่อจึงพบเห็นได้มากในปัจจุบัน
เหยื่อยาง Glow in the Dark
ในกรณีของเหยื่อยางเรืองแสงนั้นการเลือกใช้จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แค่นักตกปลาดูให้แน่ใจว่าที่ข้างห่อมีเขียนเอาไว้ว่า “Glow in the Dark” เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะหากเหยื่อยางเรืองแสงที่นักตกปลาซื้อหามาใช้ มีรูปร่างเป็นเช่นไรจากสายตาเรา เมื่อเวลาลงไปอยู่ใต้น้ำหรือเมื่อถูกนำไปใช้ในบริเวณที่ไม่มีแสง เหยื่อทั้งตัวจะเรืองแสงหมด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหนอน เป็นจิ้งจก เป็นปลาเป็นกุ้ง เวลาเรืองแสงก็จะยังคงเป็นหนอน เป็นจิ้งจก เป็นปลาเป็นกุ้งเหมือนกับที่เราเห็นอย่างตอนที่เราซื้อมา
เพราะเนื้อของยางทั้งหมดจะมีส่วนผสมของสารเรืองแสง ซึ่งจะแตกต่างจากเหยื่อฮาร์ดเบทหรือเหยื่อลำตัวแข็ง ซึ่งจะมีการนำเอาสีที่มีส่วนผสมของสารเรืองแสงมาใช้แค่ในบางส่วนของลวดลายเท่านั้น แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เหยื่อปลั๊กหรือเหยื่อฮาร์ดเบทบางตัวจะทาด้วยสีที่ผสมสารเรืองแสงทั้งตัว ดังนั้นในการเลือกซื้อเพื่อนำมาใช้งานเราจึงจำเป็นต้องรู้ด้วยว่า เหยื่อเรืองแสงที่เรากำลังจะซื้อมาใช้นั้น มีลวดลายเรืองแสงเป็นเช่นไร
ก็ขอจบเรื่อง การสะท้อนแสง การเรืองแสง กับการตกปลา แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้าๆ ไม่มากก็น้อย ยังไงซะอ่านแล้วนำไปปรับใช้ได้ต่อไป
อ่านเรื่อง ทฤษฎีพลังสีขาวในเหยื่อปลอม
อ่านเรื่อง 6 เคล็ดลับเพื่อทำให้คุณใช้เหยื่อผิวน้ำได้ดีขึ้น