ประวัติการค้นพบ
ไจแกนโตพิธิคัส (Gigantopithecus blacki) จัดเป็นลิงไม่มีหางที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์ลิงใหญ่ (Hominidae) มีชีวิตอยู่ในสมัยไพลสโตซีน ในยุคควอเทอร์นารี เมื่อราว 2.6 – 0.8 ล้านปีก่อน
ฟอสซิลของมันถูกค้นพบครั้งแรกโดยบังเอิญ ในปี 1935 โดยนักบรรพชีวิน ชาวเยอรมันลูกครึ่งชาวดัตช์ชื่อ ราล์ฟ ฟอน เคอนิกสวาลด์ (Ralph von Koenigswald) ในร้านขายยาแผนโบราณจีนแห่งหนึ่งในฮ่องกง (รอดจากการถูกบดเอาไปทำยา)
เคอนิกสวาลด์สังเกตพบว่า ฟันกรามที่พบในร้านขายยาดังกล่าว มีขนาดใหญ่ผิดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นฟันกราม ของสัตว์ตระกูลไพรเมตชนิดหนึ่ง จึงตั้งชื่อว่า ไจแกนโตพิธิคัส แปลว่า “ลิงยักษ์” โดยคาดว่าจะมีอายุประมาณ 700,000 – 125,000 ปีมาแล้ว
ต่อมาในปี 1947 นักวิชาการชาวจีนได้ออกสำรวจ และขุดค้นตามถ้ำหลายแห่ง จนได้พบฟันของไจแกนโตพิธิคัส มากกว่า 1,000 ซี่ และพบกระดูกขากรรไกรของมันด้วย
ที่สำคัญคือพวกเขาพบแหล่งอาศัยที่เชื่อว่าเป็นของ “ไจแกนโตพิธิคัส” และยังพบปะปนกับกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ชนิดอื่นๆ เช่น หมีแพนด้า และโฮโม อีเร็กตัส กระดูกขากรรไกรและฟันของ ไจแกนโตพิธิคัส ที่พบในประเทศจีนนี้ มีอายุระหว่าง 400,000 – 300,000 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับช่วง สมัยไพลสโตซีน
ลักษณะของไจแกนโตพิธิคัส
ไจแกนโตพิธิคัส มีรูปร่างลักษณะคล้ายลิงอุรังอุตัง ซึ่งเป็นญาติในปัจจุบัน มีความสูงอยู่ที่ 2.7 – 3 เมตร 9 ฟุต น้ำหนัก 200-300 กก.
มีฟันกรามหรือฟันเคี้ยวมีขนาดใหญ่มาก ขากรรไกรใหญ่เทอะทะ ฟันเขี้ยวใหญ่ แต่ก็ไม่ใหญ่เท่าฟันอื่นๆ และมีเคลือบฟันหนาเหมือนมนุษย์ ลักษณะบางอย่างเหมือนกับ Sivapithecus (ลิงที่สูญพันธุ์ไปแล้ว) แต่บางอย่างก็คล้ายมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นสายวิวัฒนาการอีกสายหนึ่ง