ปลาการ่ารูฟ่า คืออะไร?
ปลาการ่ารูฟ่า (Garra rufa) เป็นปลาที่อยู่ในสกุลปลาเลียหิน (Garra) และอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มันเป็นปลาตัวเล็กๆ ที่ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ใช่แล้วปลาชนิดนี้ไม่ใช่ปลาของไทย ถิ่นกำเนิดของปลาชนิดนี้คือ ทางตะวันออกกลาง ตอนใต้ของประเทศตุรกี ตอนเหนือของซีเรีย จอร์แดน อิรัก
ในธรรมชาติสามารถพบปลาการ่ารูฟ่าได้ตามห้วยหนองคลองบึง แม้แต่บ่อน้ำเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำบางแห่งก็ยังสามารถพบเห็นได้ เรียกได้ว่าเป็นปลาที่หาได้ง่าย
ปลาการ่ารูฟ่า เป็นปลาที่ถึกทนมากๆ มันไม่ตายแม้จะอยู่ในบ่อน้ำเล็กๆ กลางแจ้ง นั้นเพราะในถิ่นกำเนิดของมัน ในแต่ละวันจะมีช่วงอุณหภูมิที่กว้างมาก หรือก็คือกลางวันร้อนจัดกลางคืนหนาว มันจึงอยู่ได้อย่างสบายๆ ที่อุณหภูมิ 16-35 องศาเซลเซียส
คำว่าการ่า (Garra) นั้นหาหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือไม่ได้ว่ามาจากภาษาอะไร แต่ข้อสันนิษฐานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เชื่อว่ามาจากภาษาโปรตุเกส แปลเป็นภาษาไทยว่า “กรงเล็บ” โดยข้อสันนิษฐานอธิบายว่าปลาการ่านั้นเป็นปลาประเภทอมบ้วนกรวดทราย ซึ่งคล้ายกับการใช้กรงเล็บตะกุยพื้นทรายในธรรมชาติ
ส่วนคำว่ารูฟ่า (rufa) นั้นค่อนข้างชัดเจนว่ามาจากภาษาละติน ที่ว่ารูฟ่า rufus แปลว่าสีแดง เมื่อจับชื่อวิทยาศาสตร์ของการ่ารูฟ่ามาเรียงเป็นประโยคก็จะได้ความหมายว่า “ปลากรงเล็บแดง” อันที่จริงชื่อสามัญของปลาชนิดนี้ก่อนจะได้รับการอวยยศขึ้นเป็น Doctor fish เดิมทีมันใช้ชื่อว่าเรดการ่า Red Garra มาก่อน
คำถามที่น่าสงสัยคือปลาเลียหินในประเทศไทย มีนิสัยคล้ายกับปลาการ่ารูฟ่าหรือไม่? คำตอบคือ หลายชนิดมีนิสัยที่คล้ายกัน อย่างเช่น ปลาเลียหินหน้านอ หรืออาจเรียกว่าปลามูดหน้านอ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า การ่าฟูลิจิโนซา (Garra fuliginosa) ซึ่งก็ชอบตอดแข้งตอบขาเช่นกัน
แล้วทำไมปลาพวกนี้จึงชอบตอดมนุษย์?
มีสมมติฐานของนักวิจัยท่านหนึ่ง ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมปลาการ่ารูฟ่าถึงต้องเข้ามาตอดมนุษย์เวลาลงน้ำ เค้าคิดว่าด้วยอุณหภูมิน้ำในถิ่นกำเนิดของปลาชนิดนี้ ที่สูงถึง 35 องศาเซลเซียส ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ แม้แต่พืชน้ำก็ไม่สามารถอยู่อาศัยในภาวะแบบนี้ได้ง่ายๆ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การ่ารูฟ่าไม่ค่อยจะมีอะไรกิน ดังนั้นเมื่อมีมนุษย์มานั่งแช่เท้า แช่ตัว มันก็เลยปรี่เข้ามาดูดกินหนังกำพร้าของคนที่ลงมาเล่นน้ำเพื่อประทังชีวิตนั่นเอง …แต่!! ทฤษฎีนี้ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร
นั้นเพราะปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกันอย่าง ปลามูดที่อาศัยอยู่ในน้ำตกเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ๆ มีอาหารอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตะไคร่ แพลก์ตอนพืชก็มีเต็มไปหมด แต่ปลาชนิดนี้ก็ยังบุกมาตอดแข้งตอดขาอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะเป็นธรรมชาติของปลาตระกูลการ่ามากกว่า ที่ชอบดูดเกาะในสิ่งต่างๆ และการที่มันมาดูดร่างกายของมนุษย์ มันก็ต้องได้อะไรติดปากไปกินบ้าง เพราะมันดูดแล้วดูดอีก อาจจะอร่อยกว่าตะไคร่ในน้ำตกก็เป็นได้
และนอกจากนี้ ยังเคยมีการทดลองด้วยการอัดอาหารให้กับฝูงปลาการ่ารูฟ่าในตู้ เอาแบบว่าอิ่มจุกกันไปเลย แถมยังมีอาหารเหลือในตู้อีกด้วย จากนั้นก็ลองยื่นมือลงไปดูว่ามันจะเข้ามาตอดอีกหรือไม่? จริงๆ พวกมันก็ไม่จะมาตอด เพราะยังไงมันก็อิ่มมากๆ แล้ว แต่ผลคือ มันก็เข้ามาตอดอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม
ดังนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่า มันคงเป็นสัญชาตญาณของปลาชนิดนี้ และดูมันจะชอบหนังกำพร้าที่ตายแล้วของมนุษย์ ส่วนเรื่องที่ทำไมมันจึงชอบดูดเท้า ทำไมไม่ดูดแขนดูดไหล? คำตอบคือ ปลาพวกนี้เป็นปลาที่หากินตามหน้าดิน สิ่งที่ปลามองเห็นก่อนก็ต้องเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นเท้าอยู่แล้ว หากคุณเอาหัวปักลงน้ำก่อน มันก็คงดูดที่หัวก่อนเช่นกัน
ทำไมฟิชสปาจึงเลือกใช้ปลาการ่ารูฟ่า?
จริงๆ แล้วปลาในสกุลปลาการ่า หรือปลาดูดหิน ถือว่าเก่งในเรื่องนี้เกือบทั้งหมด เมื่อพวกมันเริ่มดูดมันจะเคลื่อนตัวไปตามที่หัวมันชี้ไป มันจะไม่กลับตัวหรือเลี้ยวไปมา แต่จะไถไปเรื่อยๆ ในขณะที่ปลาปากดูดประเภทอื่นจะดูดด้วยการฉก หรือก็คือมันจะพุ่งเข้าไปดูดแล้วจะสะบัดตัวออกมา จากนั้นก็กลับไปดูดแล้วก็สะบัดตัวออกไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งที่ดูดก็เปลี่ยนไปมา ซึ่งจะขาดความสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ปลาการ่ารูฟ่า ก็มีพลังในการดูดมากกว่าปลาชนิดอื่น มากถึงขนาดที่สามารถกระตุ้นการไหลเวียนของกล้ามเนื้อตรงจุดนั้น ได้แบบเดียวกับที่เอาไฟฟ้ากำลังต่ำมาจี้กระตุก
และจุดที่สำคัญที่สุดคือ ชื่อดอกเตอร์ฟิชของการ่ารูฟ่าไม่ได้ตั้งมามั่วๆ แต่ได้มาเพราะน้ำลายของปลาการ่ารูฟ่า มีเอนไซม์ไดทรานอล (Dithranol) ซึ่งมีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด และเอนไซม์ตัวนี้ก็ปรากฎอยู่บนฉลากยาสำหรับทาภายนอก สำหรับการใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เลยสรุปได้ว่า การทำฟิชสปาโดยใช้ปลาการ่ารูฟ่านั้น ไม่ใช่เรื่องลวงโลก มันมีประโยชน์ต่อร่างกายจริง แต่เอาจริงๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีฟิชสปาน้อยร้านมากที่ใช้ปลาการ่ารูฟ่าจริงๆ ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นปลาเล็บมือนาง ปลานกกระจอก แปลกหน่อยก็เคยเห็น ปลากาแดง ปลากาเผือก ปลาน้ำผึ้ง
แต่ที่เห็นแล้วตกใจจริงๆ และคิดว่ามาได้ไงก็คือ ปลากาดำ กับ ปลาทรงเครื่อง ไอ้กาดำนี่กัดแล้วเจ็บแบบได้แผลเลยนะครับ …การใช้ฟิชสปาให้ได้ผลและได้รับการทดสอบแล้วจึงต้องเป็นปลาการ่ารูฟ่า
ฟิชสปาในไทยตอนนี้เป็นเช่นไร?
ในไทยฟิชสปาน่าจะเริ่มมีกระแสในช่วงปี 2009 บวกลบนิดหน่อย มันเป็นช่วงที่มีผู้คนพูดถึงปลาชนิดนี้เป็นอย่างมาก แต่มีคนไม่มากหลอกที่จะรู้จริงๆ ว่ามันคือปลาอะไร
จนตอนนี้กระแสฟิชสปาเงียบไปก่อนที่โควิดจะระบาดมานานโข จริงๆ มันก็เป็นเหมือนแฟชั่นที่มาฮิตเดี๋ยวก็ไป แต่สำหรับปลาการ่ารูฟ่าในบ้านเรา ถือว่ามีฟาร์มที่เพาะพันธุ์พวกมันได้มานานมากแล้ว แต่ไม่ได้มีความต้องการเหมือนในสมัยก่อน
และประโยชน์อื่นๆ ของปลาชนิดนี้นอกจากเอาไปดูดเท้า มันก็คล้ายกับปลาเหียหิน หรือพวกปลาลูกผึ้ง เพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาหน้าดินอาศัยอยู่ด้านล่าง มีหน้าที่ช่วยเก็บกวาดเศษอาหาร ดูดกินตะไคร่ พฤติกรรม “อมบ้วนทราย” ก็ช่วยให้วัสดุรองพื้นถูกพลิกกลับอยู่เสมอ เป็นปลาที่กินง่าย ไม่ดุร้าย นิสัยดี ติดอย่างเดียวที่สีสันลวดลายบนตัวไม่มีจุดไหนดึงดูดสายตาเลย หรือก็คือไม่สวยนั้นเอง ..แต่! ถ้าจะเลี้ยงปลาประมาณนี้ก็ลองพิจารณาปลาถิ่นไทยอย่างปลาน้ำผึ้งก็ดีครับ น่าจะทำงานได้ใกล้เคียงกัน เป็นปลาไทยที่ราคาไม่แพงด้วย