ตัวเล็กแสนมหัศจรรย์ ‘ซาลาแมนเดอร์ไฟ’ ลุยไฟได้.? (พร้อมวิธีเลี้ยง)

ในบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เป็นคนนิยมเอามาเป็นสัตว์เลี้ยง นอกจากกบหลากหลายชนิดและแอกโซลอเติล (หมาน้ำ) แล้ว ยังมีซาลาแมนเดอร์อีกหลายชนิดที่นิยมเลี้ยงกัน สำหรับในไทยแล้วที่โด่งดังและหาง่ายสุดคงจะเป็นนิวต์ท้องแดง แต่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับซาลาแมนเดอร์อีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมเลี้ยง โดยเฉพาะที่บ้านเกิดของมันที่ยุโรปที่หาได้ง่ายมากๆ มันคือซาลาแมนเดอร์ไฟ (Fire salamander) เอาล่ะ! มาทำความรู้จักกับเจ้าตัวเล็กที่แสนมหัศจรรย์นี้กัน

ซาลาแมนเดอร์ไฟ

ซาลาแมนเดอร์ไฟ (Fire salamander) เป็นซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปในยุโรป ตั้งแต่สเปนไล่จนไปถึงทางตอนใต้ของรัสเซีย และแม้กระทั้งบางส่วนของตุรกีและอิหร่าน ..ชื่อของมันนั้นคาดว่ามาจากในสมัยโบราณ เมื่อนำท่อนไม้มาใช้ในการจุดไฟเพื่อสร้างความอบอุ่น บางครั้งซาลาแมนเดอร์ชนิดนี้ซึ่งชอบแอบอยู่ตามขอนไม้จะคลานออกมาจากกองไฟ

ทำให้มีความเชื่อกันว่ามันเป็นสัตว์วิเศษที่มีเวทย์มนต์สามารถลุยไฟได้ แต่จริงๆ แล้วมันสามารถป้องป้องร่างกายตัวเองจากไฟได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ จากเมือกและความชื้นบนตัวของมัน

มันมักอยู่ตามบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำที่สะอาด ยิ่งบริเวณที่มีพืชประเภทมอสส์เยอะมันจะยิ่งชอบ ลักษณะของมันมีลำตัวสีดำมีจุดสีเหลืองหรือลายเส้นที่แตกต่างกันออกไป บางตัวอาจจะมีสีเกือบดำสนิท ในขณะที่บางตัวมีแถบสีเหลืองสดตัดกันโดดเด่น และบางตัวก็มีสีออกไปทางเหลืองเฉดแดง หรือสีส้ม

ซาลาแมนเดอร์ไฟมีขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว แต่เคยพบตัวที่ใหญ่สุดมีขนาดถึง 12 นิ้ว จุดเด่นของมันคือเป็น ซาลาแมนเดอร์ที่มีอายุยืนกว่าชนิดอื่น โดยทั่วไปในธรรมชาติพวกมันสามารถมีอายุได้มากกว่า 10 ปี และในที่เลี้ยงส่วนมากถ้าเลี้ยงดีๆ สามารถมีอายุยืนยาวได้มากถึง 30ปี ปัจจุบันซาลาแมนเดอร์ไฟที่มีอายุยืนยาวสุดคือ 50 ปี

ด้วยสีสันที่สดใสทำให้เข้าใจได้ง่ายว่ามันต้องมีพิษ ซึ่งถูกต้องซาลาแมนเดอร์ไฟจะมีต่อมพิษอยู่บริเวณหลังตา พิษของมันจะทำให้เกิดอาการชาที่ผิวหนัง ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น โดยมันจะปล่อยพิษต่อเมื่อถูกคุกคามหรือเจอกับนักล่าขนาดใหญ่ พิษพวกนี้ถ้ามนุษย์ได้รับจะมีแค่อาการชาๆ บริเวณผิวหนัง แต่กับสัตว์ขนาดเล็กอาจตายได้

Advertisements
ซาลาแมนเดอร์ไฟเป็นสัตว์ที่หากินกลางคืน และไม่ชอบแสงจัดๆ กลางวันพวกมันมักแอบอยู่ตามใต้ขอนไม้หรือใบไม้ ที่เย็นและชื้น อาหารของพวกมันคือสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น แมลง,ไส้เดือน,ทาก,กุ้ง,ปลา หรือแม้แต่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าปากของมัน แม้แต่พวกเดียวกันเองทีตัวเล็กกว่า

ที่ไม่เหมือนพวกนิวต์คือ ปกติพวกมันจะแทบไม่ลงน้ำ นอกจากช่วงออกลูกของตัวเมีย โดยพวกมันจะผสมพันธุ์กันได้เมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป และที่แปลกคือตัวเมียจะออกลูกเป็นตัวไม่ได้วางไข่เหมือนซาลาแมนเดอร์ชนิดอื่น ตัวอ่อนช่วงแรกจะอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลาประมาณเดือนกว่าๆ ถึงจะขึ้นบกได้

การเลี้ยงในฐานะสัตว์เลี้ยง

Advertisements

ในยุโรปพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงมานานแล้ว เนื่องจากพบเจอได้ง่ายและช่วงหน้าร้อนที่มันออกลูก เด็กๆ มักจะชอบไปช้อนมาเลี้ยงกัน สำหรับในไทยพวกมันจะไม่ได้เข้ามาบ่อยๆ ปกติเข้ามาในไทยแค่บางช่วงของปีเท่านั้น เดี๋ยวมาดูวิธีเลี้ยงพื้นฐานกัน

สถานที่สำหรับเลี้ยง.?

สำหรับพวกที่โตแล้วอาจจะหาตู้หรือกล่องพลาสติกที่มีรูระบายอากาศให้มันอยู่ โดยรองพื้นด้วยดินผสมขุยมะพร้าวและมอสส์ และมีถ้วยใส่น้ำให้พวกมันลงไปแช่เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และหาขอนไม้หรือถ้วยดินเผาให้มันไปแอบหลบในเวลากลางวัน

Advertisements
สำหรับพวกตัวอ่อนการเลี้ยงเหมือนกับแอกโซลอเติล สามารถเลี้ยงในตู้ปลาได้แต่น้ำต้องไม่สูงมาก และพอแขนขาเริ่มงอกครบแล้วอาจเตรียมส่วนบกไว้ให้พวกมันด้วย ถ้าเลี้ยงหลายตัวแนะนำให้ เตรียมออกซิเจนไว้ให้ด้วย

อุณหภูมิ.?

จริงๆ แล้วพวกมันชอบอากาศที่เย็น ยิ่งเย็นมากยิ่งชอบ อุณหภูมิที่มันชอบสุดคือ 15-20 องศา แต่สำหรับในเมืองไทยแล้ว พบว่าพวกตัวอ่อนที่เกิดและโตในไทยสามารถปรับตัวกับอุณหภูมิที่ร้อนในไทยได้ แต่กระนั้นอุณหภูมิที่เหมาะสุดของมันในไทยไม่ควรเกิน 27 – 28 องศา

ซึ่งแนะนำควรเลี้ยงในห้องแอร์หรือชิลเลอร์ทำความเย็นในการช่วยคงอุณหภูมิให้คงที่ สำหรับผู้เขียนแล้วจะเปิดแอร์ช่วงกลางคืน โดยช่วงกลางวันอุณหภูมิจะอยู่ที่ 27 – 28 องศา แต่ช่วงกลางคืนตอนเปิดแอร์อุณหภูมิจะอยู่ที่ 21 – 23 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กำลังดีของพวกมัน

อาหาร.?

Advertisements

สำหรับพวกที่ยังอยู่ในน้ำ อาหารสามารถให้ทั้งไส้เดือนน้ำแช่แข็ง หรือลูกปลาหางนกยูง แต่ถ้าเลี้ยงหลายตัวให้ระวังตัวที่ตัวโตกว่า เพราะมันอาจจะจับพวกตัวอ่อนที่เล็กกว่ากินได้ แนะนำให้แยกตัวที่เริ่มโตกว่าเพื่อน

สำหรับพวกที่ขึ้นบกแล้ว ช่วงแรกมันจะไม่กินอาหารประมาณหนึ่งอาทิตย์ โดยมันจะยังใช้สารอาหารจากเหงือกที่หดตัวไป เมื่อครบอาทิตย์มันจะเริ่มกินอาหาร อาหารที่ให้กินได้มีทั้งจิ้งหรีดฝอย และ ไส้เดือน อาหารควรให้อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ..แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดค่อนข้างใหญ่อาทิตย์เดียวก็เพียงพอ เพราะการกินอาหารเยอะไปอาจทำให้ซาลาแมนเดอร์ท้องอืดตายได้ โดยเฉพาะพวกที่ยังเล็ก

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements