ปลาไหลไฟฟ้า คืออะไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักปลาไหลไฟฟ้ากันก่อน …ปลาไหลไฟฟ้า (electric eel) เป็นปลาน้ำจืด ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอะเมซอนและโอริโนโค ในทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาในสกุล อิเล็กโทรฟอรัส (Electrophorus) จัดเป็นปลาที่ยาวประมาณ 2 เมตร บางชนิดอาจยาวได้ถึง 2.5 เมตร
โดยทั่วไปจะมีรูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล และแม้มันจะคล้ายปลาไหลแต่ในทางเทคนิคมันไม่ใช่ปลาไหลและก็ไม่ใช่ปลาดุกด้วย เป็นปลาที่ชอบอยู่ตามบึงน้ำตื้นๆ หมกโคลนเลน หรือซ่อนตามวัชพืชในน้ำ ชอบน้ำนิ่งที่มีค่า pH สูง
และแม้พวกมันจะมีเหงือกเล็กๆ ที่ด้านข้างของส่วนหัว แต่ปลาไหลไฟฟ้าจะได้รับออกซิเจนส่วนใหญ่ที่ผิวน้ำ มันเป็นปลาที่รับออกซิเจนประมาณ 80% โดยการกลืนอากาศด้วยปาก ซึ่งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับน้ำที่เป็นโคลนและแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ
และแม้ว่าปลาหลายชนิดจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่ไม่มีชนิดไหนเทียบได้กับปลาไหลไฟฟ้า พวกมันมีชั้นของผิวหนังที่ประกอบด้วยเซลล์ประมาณ 6,000 เซลล์ ซึ่งแต่ละเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 0.15 โวลต์ หรืออาจมากกว่านั้นหากจำเป็น แน่นอนยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งผลิตไฟฟ้าได้เยอะ
ในเรื่องอายุขัยของปลาไหลไฟฟ้า ยังคงไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามในสภาพกักขัง ปลาไหลตัวผู้สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 10-15 ปี ในขณะที่ปลาไหลตัวเมียอยู่ได้ประมาณ 12-22 ปี …ส่วนสถานะของพวกมันในธรรมชาติ ยังถือว่าค่อนข้างปลอดภัย
แนวคิดง่ายๆ ในการใช้ประโยชน์จากพลังไฟของปลาไหลไฟฟ้า
หากคิดกันอย่างง่ายๆ ในเมื่อปลาไหลไฟฟ้ามันมีไฟฟ้าอยู่ในตัว และมันก็ผลิตขึ้นมาได้เอง ทำไมเราไม่ลองเอาปลาไหลไฟฟ้าหลายๆ ตัว มาไว้ในบ่อ แล้วก็แปลงพลังงานมาใช้ แค่นี้เราก็น่าจะได้ใช้พลังงานทดแทนหรือเปล่า?
อย่างที่รู้กันปลาไหลไฟฟ้าที่โตเต็มวัย 1 ตัว ส่วนใหญ่จะปลดปล่อยไฟฟ้าได้ประมาณ 600 โวลต์ ซึ่งดูเหมือนจะเหลือเฟือสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า 1 – 2 ชิ้น และยิ่งตอนนี้เราได้ค้นพบปลาไหลไฟฟ้าที่ชื่อ อิเล็กโทรฟอรัส โวลไต (Electrophorus voltai) มันเป็นปลาไหลไฟฟ้าที่ปลดปล่อยไฟฟ้าได้ 860 โวลต์ ซึ่งมากที่สุดในโลก ความจริงคือมากที่สุดในอาณาจักรสัตว์เลยด้วยซ้ำ
โดย อิเล็กโทรฟอรัส โวลไต เป็นหนึ่งใน 3 ปลาไหลไฟฟ้าที่เพิ่งถูกอธิบายเมื่อปี พ.ศ. 2562 (2019) โดยอีก 2 ชนิดคือ อิเล็กโทรฟอรัส อิเลคทริคัส (Electrophorus electricus) ที่มีพลังไฟ 480 โวลต์ และ อิเล็กโทรฟอรัส วาไร (Electrophorus varii) ที่มีพลังไฟ 572 โวลต์
จากแนวคิดง่ายๆ ถ้าเราเอาพวกมันมาเลี้ยงรวมๆ กัน มันก็น่าจะเป็นแหล่งพลังงานได้หรือเปล่า? … ตามทฤษฎีก็คงเป็นเช่นนั้น แต่ตอนนี้ด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์ยังไม่สามารถทำได้จริง
มันเหมือนที่เรารู้วิธีเปลี่ยนน้ำเปล่าให้เป็นโลหะ เพียงแค่เราต้องสร้างแรงดัน 15 ล้านบาร์กับน้ำให้ได้ ซึ่งฟังดูง่าย แต่มันยังทำไม่ได้ในความเป็นจริง นั้นเพราะ แรงดัน 15 ล้านบาร์ สามารถยิงน้ำทะลุดวงจันทร์ได้เลย นักวิจัยบอกคงต้องไปทำกันที่ดาวพฤหัสบดี เสริมอีกนิด …เครื่องวอเตอร์เจ็ทที่ใช้ตัดโลหะด้วยแรงดันน้ำ จะสร้างแรงดันประมาณ 6 พันบาร์
ใช้เป็นพลังงานทดแทน ในทางทฤษฎีคือได้ แต่ยังไม่สามารถทำได้จริง? เพราะอะไร?
เหตุผลหลักเลย การทำให้เป็นจริงนั้นไม่สามารถทำได้ “เพราะมันคือสิ่งมีชีวิต” และเพราะปลามีไม่มากพอ นั้นเพราะว่า ปลาไหลไฟฟ้าไม่สามารถขยายพันธ์ในสถานที่ปิดได้ มันจะขยายพันธุ์ได้ในธรรมชาติเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การมีพวกมันจำนวนมากจึงเป็นไม่ไปได้ และถึงแม้จะพยายามไปจับมาจากธรรมชาติ มันก็ไม่สามารถใช้ได้ในระยะยาวอยู่ดี
และถึงแม้วันนึงมนุษย์จะขยายพันธ์พวกมันได้ แต่การเลี้ยงปลาไหลไฟฟ้าให้สามารถปล่อยพลังไฟฟ้าได้มากพอ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 – 4 ปี และการจะสร้างฟาร์มผลิตไฟฟ้าขึ้นมา จำเป็นต้องใช้ปลาไหลไฟฟ้าจำนวนมาก นี้ยังไม่รวมความเสี่ยงที่มันจะตาย หรือกัดกันเองอีก ป่วย และค่าอาหารที่ต้องจ่าย สุดท้ายคืออายุขัยของพวกมันก็มีจำกัดด้วย
และอีกสิ่งหนึ่งคือ ปลาไหลไฟฟ้าจะไม่ปล่อยพลังงานในระดับสูงตลอดเวลา แต่มันจะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ตลอดเวลา จากที่เคยมีการทดลองง่ายๆ คือ นักวิจัยจะต่อสายไฟจากต้นคริสต์มาส มาเข้ากับแผงอะลูมิเนียม 2 แผ่น และนำไปติดตั้งในตู้ของปลาไหลไฟฟ้า ทุกครั้งที่มันเคลื่อนที่ผ่านแผงอะลูมิเนียม ก็จะเกิดไฟกระพริบที่ต้นคริสต์มาส
มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าปลาไหลไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องโดนตัวถึงช็อต แต่แค่มันว่ายเข้าใกล้ก็เพียงพอแล้ว นั้นเพราะว่าปลาไหลไฟฟ้า เป็นปลาที่สายตาแย่มาก มันจึงต้องปล่อยไฟฟ้าอ่อนๆ ออกมาตลอดเวลา เพื่อนำทาง หาอาหาร หรือระวังภัย
ด้วยหลักการนี้ จึงเป็นไปได้ที่จะสะสมพลังงานจากปลาไหลไฟฟ้า มาเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในภายหลัง มันก็คล้ายกับสะสมพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ แต่ปลาไหลไฟฟ้าไม่สามารถให้พลังไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง พวกมันมีขีดจำกัดและยากที่จะควบคุม … หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ก็คงจะถึงเวลาที่นักวิจัยต้องคิดค้นเทคโนโลยีดึงเอาพลังงานไฟฟ้ามาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายหลายคนอาจสงสัยว่า ปลาไหลไฟฟ้ากินได้หรือไม่? แน่นอนว่ากินได้ แต่คงจะไม่อร่อยเลย แม้ว่าปลาไหลไฟฟ้าจะไม่มีพิษ และเมื่อมันตายก็ผลิตไฟฟ้ามาช๊อตไม่ได้
แต่เจ้าปลาที่ยาวได้ถึง 2.5 เมตร มีอวัยวะสำคัญเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดจะอยู่แถวๆ ส่วนหัว ส่วนหลังทั้งหมดของปลาไหล ซึ่งคิดเป็น 80% ของร่างกาย เป็นอวัยวะที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า แม้แต่ผิวหนังของพวกมันก็ยังถูกปกคลุมด้วยเซลล์รับไฟฟ้า อวัยวะภายในทั้งหมดถูกบีบเข้าสู่ช่องว่างเล็กๆ เท่านั้น และอวัยวะที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าก็คือหนังและมันเหนียวๆ นั้นเอง