ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่าน นักวิจัยมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพวกเราก็พบว่าจริงๆ แล้วไดโนเสาร์ค่อนข้างเหมือนนก และบรรพบุรุษของนกมากกว่าที่จะเหมือนสัตว์เลื้อยคลานซะอีก และคำถามใหม่ก็เกิดขึ้นในหมู่นักบรรพชีวินวิทยา .. ไดโนเสาร์เลือดเย็นหรือไม่?
การศึกษาล่าสุดจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ได้นำเสนอหลักฐานใหม่ที่ว่า เมแทบอลิซึม (Metabolism) ของสัตว์โบราณเหล่านี้ น่าจะทำหน้าที่ผลิตสิ่งมีชีวิตที่มีเลือดอุ่น โดยพิจารณาจากสารประกอบของเสียทางชีวเคมีที่พวกมันผลิตขึ้น
สำหรับการศึกษานี้ ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ของเสีย ที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างออกซิเจนกับโปรตีน น้ำตาล และไขมันที่อยู่ภายในร่างของไดโนเสาร์
นักวิจัยวิเคราะห์ตัวอย่างกระดูกโคนขา – กระดูกต้นขา จากสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกัน 55 ตัว ซึ่งรวมถึงสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 30 ตัว และสัตว์สมัยใหม่อีก 25 ตัว เพื่อทำแผนภูมิว่า ปริมาณของโมเลกุลดังกล่าวแตกต่างกันไปตามสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างไร
ปกติแล้ว ปริมาณโมเลกุลของเสียที่ผลิตโดยสิ่งมีชีวิต จะปรับตามปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายได้รับจากสิ่งแวดล้อม และด้วยสิ่งนี้ จึงสามารถบอกเราได้ว่ามันเป็นเลือดอุ่นหรือเลือดเย็น โมเลกุลเหล่านี้จะปรากฏเป็นรอยแต้มสีเข้มในฟอสซิล พวกมันมีความเสถียรมากและไม่ละลายในน้ำ ซึ่งหมายความว่าพวกมันสามารถทนต่อกระบวนการฟอสซิลได้ดีมาก และให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้แก่เรา
โดยจากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า อัตราการเผาผลาญอาหารของไดโนเสาร์มักสูง และพวกมันบางชนิดก็มีความคล้ายคลึงกับนกในปัจจุบันที่มีอุณหภูมิร่างกายเฉลี่ยประมาณ 42 องศาเซลเซียส และสูงกว่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉลี่ย โดยมีอุณหภูมิร่างกายโดยทั่วไปอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม มีการระบุข้อยกเว้นที่สำคัญบางประการในการศึกษานี้ “ออร์นิทิสเชีย (Ornithischian dinosaurs)” ลำดับของสัตว์ที่มีสะโพกเหมือนกิ้งก่า ซึ่งรวมถึงไทรเซอราทอปส์และเสเตโกซอรัส ดูเหมือนจะมีการพัฒนาอัตราการเผาผลาญที่ต่ำกว่า ซึ่งเทียบได้กับสายพันธุ์สมัยใหม่ที่เป็นเลือดเย็น
“กิ้งก่าและเต่า มักจะอาบแดดเพื่อสะสมความร้อนไว้ ..เราอาจต้องพิจารณาเรื่องการควบคุมอุณหภูมิ ‘พฤติกรรม’ ที่คล้ายคลึงกันในออร์นิทิสเชีย ที่มีอัตราการเผาผลาญต่ำเป็นพิเศษ ไดโนเสาร์ที่เลือดเย็นอาจต้องอพยพไปยังสภาพอากาศที่อุ่นกว่าในช่วงฤดูหนาว และสภาพอากาศอาจเป็นปัจจัยที่เลือกสรรแล้วว่าไดโนเสาร์บางตัวสามารถมีชีวิตอยู่ได้” ทีมนักวิจัยกล่าว
สุดท้ายตอนนี้จะมีการสันนิษฐานว่า นกรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กวาดล้างไดโนเสาร์ไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน แต่การค้นพบของทีมไม่สนับสนุนมุมมองนี้ เพราะไดโนเสาร์หลายชนิดที่ถูกระบุว่ามีอัตราการเผาผลาญสูงมาก ก็สูญพันธุ์ไปในช่วงเวลานั้นเช่นกัน