สำหรับเรื่องนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้จะมาบอกว่าปลากดอเมริกันกินไม่ได้และไม่อร่อยนะ แต่จะให้รู้ว่าในไทยมีปลากดที่มีขนาดตัวและหน้าตาใกล้เคียงกับปลากดคัง และราคาก็ถูกกว่า นั้นเพราะผมเคยได้ยินคนมาเล่าว่า มีคนเอาปลากดอเมริกัน มาขายแล้วบอกเป็นปลากดคังอยู่ จึงควรระวังไว้บ้าง …จะได้ไม่ต้องจ่ายแพงจนเกินไป
ประวัติการมาถึงไทยของปลากดอเมริกันที่เปลี่ยนชื่อเป็นปลากดหลวง
ตามบันทึกระบุว่า “ปลากดอเมริกัน” ถูกนำเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรกในปี 1990 โดยสถาบันพัฒนาแห่งเอเซีย (AIT) รวมกับกรมประมง ซึ่งนำพันธุ์ปลาจำนวน 50 คู่ มาทดลองเลี้ยงในพื้นที่ของโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ จนในปี 1991 ก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จ
หลังจากนั้นไม่นาน ปลากดอเมริกันก็ได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง ซึ่งเริ่มต้นในพื้นภาคเหนือ โดยจะเป็นการเลี้ยงในกระชังที่วางตามแม่น้ำ เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำในหลายพื้นที่ และผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากปลากดอเมริกันสามารถกินอาหารปลาสำเร็จรูป พวกมันเติบโตได้ดี อัตรารอดสูง และยังมีระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้น …ต่อมาไม่นานจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ปลากดหลวง”
แน่นอนว่าการเลี้ยงปลาในกระชังที่วางในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะต้องมีประชากรปลากดอเมริกันบางส่วน หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งการหลุดครั้งใหญ่และที่มีบันทึกเป็นครั้งแรกคือ ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 1995 จากนั้นก็มีการหลุดออกมาเรื่อยๆ
หากถามว่า “ปลากดอเมริกัน” จะสร้างปัญหาให้กับคนไทย เหมือนกับสิ่งมีชีวิตรุกรานบางชนิด อย่างปลาซัคเกอร์ หรือไม่? ผมคงว่าไม่น่าจะมีปัญหา เหตุผลแรกคือ ปลากดอเมริกัน กินได้ กินง่าย ราคาก็ดี คนส่วนใหญ่ที่จับได้ก็น่าจะเก็บไปกินจนหมด อย่างที่สองคือ ปลากดชนิดนี้ชอบน้ำค่อนข้างเย็น หรือต้องไม่เกิน 29 องศาเซลเซียส พวกมันจึงอยู่ได้ในแหล่งน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย …แต่! ต่อให้ปลาชนิดนี้ เติบโตได้ดีเทียบเท่าในถิ่นกำเนิดอย่างอเมริกัน พวกมันก็คงไม่มีปัญหาอยู่ดี เพราะคนไทยกินปลาน้ำจืดเก่งจนน่ากลัว
ต่อไปเป็นข้อมูลของปลากดอเมริกัน
ปลากดอเมริกัน หรือ ปลากดหลวง (Channel Catfish) เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (อิคทาลูรัส พลัดทาทูส / Ictalurus punctatus อยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกัน (Ictaluridae)
เป็นปลาที่มีลักษณะโดยรวมคือ มีหัวที่ใหญ่ ปากกว้าง มีหนวด 4 คู่ คู่ที่รูจมูกจะสั้น คู่ที่ริมฝีปากและคางจะยาว ลำตัวเรียวยาวและแบนข้างที่ส่วนท้าย มีเงี่ยงที่ครีบหลังและครีบอก ครีบไขมันมีขนาดเล็กและสั้น ครีบก้นยาว ครีบหางเว้าลึก ลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาลหรือเหลือง ด้านท้องมีสีจาง มีกะสีดำกระจายอยู่ห่างๆ
ปลากดอเมริกัน มีฉายาอีกอย่างว่า “ลิ้นว่ายน้ำ” นั้นเพราะปลาชนิดนี้ มีความสามารถในการรับรู้รสชาติที่ดีเป็นพิเศษ พวกมันมีปุ่มรับรสอยู่ทั่วพื้นผิวภายนอกร่างกายและภายในช่องคอหอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกมันมีความไวต่อกรดอะมิโนอย่างมาก
มันเป็นปลาที่ยาวได้ถึง 120 เซนติเมตร แต่ขนาดทั่วไปจะยาว 50 เซนติเมตร เป็นปลาพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ พบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีและตอนใต้ของแคนาดา นิยมตกเป็นเกมกีฬาและเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ
โดยปลาชนิดนี้จัดเป็นปลาในสายพันธุ์ปลากดหรือปลาดุก ที่ถูกจับได้มากที่สุดในอเมริกา เนื่องจากมีนักตกปลาประมาณ 8 ล้านคนกำหนดเป้าหมายไปที่พวกมัน
สำหรับปลากดอเมริกัน ที่อยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกัน หรือที่เรียกว่า Ictaluridae /อิค-ทา-ลู-ริ-ดี้/) จะมีอยู่ทั้งหมด 45 ชนิด และขนาดใหญ่ที่สุดคือ ปลาดุกอเมริกันสีน้ำเงิน (Ictalurus furcatus) โดยสถิติที่เคยจับได้คือยาวเกือบ 160 เซนติเมตร และหนักเกิน 50 กิโลกรัม ส่วนชนิดที่เล็กที่สุดจะหนักไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม บางชนิดไม่มีตาด้วยซ้ำ
สำหรับปลากดอเมริกัน เมื่อเทียบกับปลากดที่พบในประเทศไทย มันจะคล้ายกับปลากดแก้ว หรือ ปลากดคังมากที่สุด แต่หัวของปลากดอเมริกันจะเล็กกว่าปลากดคัง ในเรื่องราคาต่อกิโลของปลากดชนิดนี้ บอกตรงๆ ว่าผมลองเช็คดูในเว็บไซต์ ในเดือนมกราคม 2023 ไม่พบข้อมูลการขายปลาชนิดนี้เลย ก็เลยงงว่าเกษตรกรเลี้ยงแล้วเอาไปขายที่ไหน? หรือเพราะขายดีจนไม่มีพอให้ประกาศราคาในเว็บไซต์