งานวิจัยเผย ‘คางคกอ้อย’ ในออสเตรเลีย กำลังเร่งวิวัฒนาการสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

คางคกอ้อย (cane toad) คือ 1 ใน 100 สิ่งมีชีวิตรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก มันไม่ใช้สัตว์ท้องถิ่นของออสเตรเลีย คางคกชนิดนี้ถูกนำเข้ามาเพื่อใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช โดยครั้งแรกที่ถูกนำเข้ามา คือช่วงปี พ.ศ. 2478 (1935) พวกมันมีเพียง 102 ตัว ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ. 2553 (2010) พวกมันมีมากถึง 1.5 พันล้านตัว จนตอนนี้มันกลายเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ท้องถิ่นส่วนใหญ่

คางคกอ้อย เป็นสัตว์ที่ยากจะจัดการ นอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้วพวกมันยังมี “พิษรุนแรง” ซึ่งรุนแรงกว่าคางคกทั่วไปมาก มันมีพิษตั้งแต่เป็นลูกอ๊อด แถมยังมีอัตราการขยายพันธุ์ที่ดีซะจนทำให้กระต่ายต้องอับอาย จนถึงตอนนี้พวกมันมีนับพันล้านตัวในออสเตรเลีย

ลูกอ๊อดกำลังกลายเป็นสัตว์กินเนื้อ

Advertisements

แม้ลูกอ๊อดของกบและคางคกหลายชนิดจะกินเนื้ออยู่บ้าง แต่มันก็พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่พวกมันจะกินพืชมากกว่า แน่นอนว่าพวกมันไม่ค่อยกินกันเองด้วย แต่ดูเหมือนในตอนนี้ลูกอ๊อดของคางคกอ้อย ที่อยู่ในออสเตรเลียเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นการกินกันเอง มันเป็นการเร่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้พบว่า ลูกอ๊อดมีการพัฒนาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นอาหารว่างของสัตว์อื่น เช่นการเติบโตในอัตราที่เร็วขึ้น เพื่อลดโอกาสที่พวกมันจะโดนลูกอ๊อดตัวอื่นกิน โดยการศึกษาได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่นานนี้ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences)

เจย์น่า ดีเวอร์ (Jayna DeVore) นักชีววิทยาสายพันธุ์รุกรานที่ เทเทียรัว โซไซอิที (Tetiaroa Society) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต้องการดูว่าคางคกอ้อยทั้งหมดทำเช่นนี้ หรือเป็นเป็นเพียงตัวที่อยู่ออสเตรเลียเท่านั้น เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งนี้ จึงเกิดการทดลองสองสามอย่าง

ในการทดลองหนึ่งที่ทำมากกว่า 500 ครั้ง ดีเวอร์และเพื่อนร่วมงานได้วางลูกอ๊อดหนึ่งตัวในภาชนะที่มีลูกอ๊อดแรกเกิด 10 ตัว แม้ว่าลูกอ๊อดจากถิ่นกำเนิดจะมีส่วนร่วมในการกินเนื้อ แต่นักวิจัยพบว่า หากเป็นลูกอ๊อดที่มาจากออสเตรเลีย จะมีแนวโน้มที่จะกินเนื้อมากกว่าปกติถึง 2.6 เท่า ..นอกจากนั้นลูกอ๊อดที่มาจากออสเตรเลียยังกระตือรือร้นกว่าลูกอ๊อดจากถิ่นกำเนิดอีกด้วย

ส่วนในการทดลองอื่น ทีมงานวางลูกอ๊อดในสระที่มีกับดักสองอัน กับดักหนึ่งจะมีลูกอ๊อดแรกเกิดและไข่ และอีกอันว่างเปล่า พวกเขาพบว่า ลูกอ๊อดที่มาจากออสเตรเลีย ถูกดึงดูดให้มาที่กับดักที่มีอ๊อดแรกเกิด โอกาสที่ลูกอ๊อดของออสเตรเลียจะเข้าไปในกับดักที่มีลูกแรกเกิด มีอยู่ประมาณ 30 เท่า ของลูกอ๊อดที่จะเข้าไปในกับดักที่ว่างเปล่า

ในทางตรงกันข้าม ลูกอ๊อดที่มาจากถิ่นกำเนิด พวกมันดูไม่ค่อยถูกดึงดูดโดยลูกอ๊อดแรกเกิด พวกมันมีแนวโน้มที่จะเข้าไปในกับดักที่ว่างเปล่าพอๆ กับที่มีลูกอ๊อดแรกเกิด ..สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แรงดึงดูดอันแรงกล้าต่อระยะฟักตัวที่เปราะบาง ช่วยให้ลูกอ๊อดที่กินเนื้อสามารถตรวจจับและค้นหาเหยื่อของพวกมันในออสเตรเลียได้ คุณสมบัตินี้ไม่มีอยู่ในลูกอ๊อดที่มาจากถิ่นกำเนิด

การกินกันเองจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้หรือไม่?

แม้การกินกันเองจะทำให้พวกมันโตเร็วขึ้นมาก แต่สิ่งนี้จะทำให้พวกมันสูญพันธุ์หรือลดจำนวนลงไปได้หรือไม่? ดีเวอร์กล่าว แม้พวกมันจะเป็นศัตรูตัวร้ายของออสเตรเลีย และทุกคนหวังว่าพวกมันจะลดลงหรือหายไปเลย แต่พวกเราไม่คิดว่ามันจะสูญพันธุ์ในเร็ววันนี้

Advertisements

นั่นเป็นเพราะว่าการกินกันเองได้ประโยชน์มากกว่าที่คิด หลังจากที่มันได้รับสารอาหารจำนวนมาก พวกมันยังจำกัดการแข่งขัน ลูกอ๊อดที่กินเนื้อจะ “แปลงร่างเป็นคางคกได้เร็วขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น แน่นอนมันแข็งแรงขึ้น” เป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าคางคกที่ประสบความสำเร็จ เหล่านี้ จะบุกเข้าไปในสถานที่ใหม่ๆ ของออสเตรเลียได้เร็วขึ้น

แต่สำหรับมนุษย์พวกเราก็ยังมีข่าวดี อย่างน้อยด้วยการกินกันเองของพวกมัน จะช่วยควบคุมการเติบโตของประชากรหรืออย่างน้อยก็ทำให้ช้าลงไป อย่างน้อยต่อไปนี้ พวกมันอาจมีไม่ถึง 1.5 พันล้านตัวเหมือนเคย แต่ตัวของมันใหญ่ขึ้นแน่นอน

ประวัติที่น่าสนใจของคางคกอ้อยในออสเตรเลีย

คางคกอ้อยมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จากนั้นมันถูกนำเข้าไปในหลายๆ ประเทศ ทั้งฟลอริดา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งเกาะแถบ ทะเลแคริบเบียนและฮาวาย และที่อื่นๆ มันเป็นคางคกที่ยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร และหนัก 1 กิโลกรัม ตัวใหญ่ที่สุดที่เพิ่งถูกจับได้ ถูกเรียกว่า Toadzilla เป็นคางคกอ้อยที่หนักถึง 2.7 กิโลกรัม

คางคกอ้อยถูกนำเข้าโดยเกษตรกร ที่หวังว่าสิ่งมีชีวิตนี้จะสามารถกำจัดศัตรูพืชในท้องถิ่นได้ แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคางคกตัวนี้กลายเป็นศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่กำจัดยากกว่ามาก มันตะกละกินพืชและยังกินสัตว์พื้นเมืองได้หลายชนิดอีกด้วย คางคกชนิดนี้เป็นพิษตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน โดยจะเป็นพิษกับสัตว์หลายชนิด แม้แต่จระเข้หากกินคางคกอ้อยโตเต็มวัยลงไปมันก็จะตายได้

คางคกอ้อยมีการสืบพันธุ์ที่น่ากลัวมาก มันทำให้กระต่ายต้องอับอาย ตัวเมียแต่ละตัววางไข่ 8,000 – 25,000 ฟองในแต่ละปี แถมระยะฟักตัวยังแค่ 48 ชั่วโมง จากนั้นมันจะกลายเป็นคางคกหนุ่มสาวภายใน 12 – 60 วันเท่านั้น

Advertisements

ในกรณีของออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2478 (1935) คางคกอ้อย 102 ตัว ถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับด้วงอ้อย (cane beetle) จนกระทั้งปี พ.ศ. 2553 (2010) จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านตัว พวกมันกระจายไปทั่วพื้น 1 ล้านตารางกิโลเมตรและพวกมันไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้

สุดท้ายต้องบอกว่าค้างคกชนิดนี้กินได้เกือบทุกอย่าง มันกินหนู , สัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, นก, และแม้กระทั่งค้างคาว สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กินพืช อาหารสุนัข และของใช้ในครัวเรือน ขยะมันก็กิน …แต่ความหน้ากลัวของมันอีกอย่างคือพิษที่ตัว เพราะคางคกชนิดนี้มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้สัตว์ป่ารวมทั้งสัตว์เลี้ยงต้องตาย เนื่องจากพิษมีความร้ายแรงเพียงพอจะฆ่าสัตว์ป่ารวมทั้งสุนัขตัวใหญ่ หรือแม้แต่กับมนุษย์ที่กินมันหรือแม้แต่แค่เลีย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาsmithsonianmag