กระทิง (Bos gaurus) เป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ทั้งด้านการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ และด้านการเป็นเหยื่อที่สำคัญของสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ โดยกระทิงตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีความยาวลำตัวและหัว 250-300 เซนติเมตร หาง 70-105 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ 170-185 เซนติเมตร น้ำหนัก 650-900 กิโลกรัม โดยตัวผู้มีน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย
มีการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของจีน, อินเดีย, ภูฏาน, เนปาล, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย Bos gaurus gaurus พบในอินเดียเนปาลและภูฏาน, Bos gaurus readei พบในตะนาวศรี, และ Bos gaurus hubbacki พบในไทยและมาเลเซีย
พวกมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สถานภาพกระทิงทั่วโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) โดยมีจำนวนประชากรทั่วโลกประมาณ 13,000-30,000 ตัว และประชากรของกระทิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
ประเทศไทยในอดีตเคยพบกระทิงได้ทั่วไปในทั่วทุกภูมิภาค แต่ปัจจุบันพบอาศัยอยู่ในเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 59 แห่ง โดยกลุ่มป่าที่มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกระทิงประกอบไปด้วย กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และ กลุ่มป่าตะวันออก
ถึงแม้ว่าสถานภาพประชากรกระทิงมีแนวโน้มฟื้นตัวและเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ แต่ประชากรของกระทิงในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งมีจำนวนประชากรกระทิงเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีประชากรกระทิงจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เคลื่อนย้ายมาอาศัยและเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ โดยมีประชากรกระทิงเคลื่อนย้ายมาอาศัยจำนวน 27 ตัวในปี 2543 และได้เพิ่มจำนวนประชากรเป็น 253 ตัวในปี 2559
กระทิงมีพฤติกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายขอบป่าและออกหากินบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบเป็นประจำ ซึ่งมีความถี่ของการออกนอกพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรกระทิงและปัญหาความขาดแคลนแหล่งน้ำและแหล่งอาหารในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ได้ก่อให้เกิดปัญหากระทิงออกนอกพื้นที่เพื่อไปกินพืชผลทางการเกษตร ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทิงและชุมชนที่อยู่โดยรอบ
ดังนั้นข้อมูลสถานภาพประชากรของกระทิงที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลนิเวศวิทยาถิ่นอาศัย เช่น การเลือกใช้พื้นที่อาศัย ลักษณะพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม และข้อมูลพฤติกรรมของกระทิง เช่น กิจกรรมในรอบวัน เส้นทางการเคลื่อนที่ของกระทิง จึงมีความสำคัญเพื่อวางแผนการอนุรักษ์และการจัดการประชากรกระทิงและถิ่นอาศัยในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน