การค้นพบปลาเทราต์ญี่ปุ่น ที่หายสาบสูญไปเกือบร้อยปี

สำหรับปลาเทราต์ที่กำลังพูดถึงในเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตในกลุ่มลาซารัสแท็กซอน (Lazarus taxon) ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์ที่ไม่ถูกพบเห็นมานานหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี สัตว์ชนิดนั้นมักจะถูกประกาศให้สูญพันธุ์ แต่ความจริงที่ว่า แม้แต่มนุษย์อย่างพวกเราก็ยังไม่สามารถสำรวจพื้นที่บนโลกได้ทุกตารางเมตร โดยเฉพาะในทะเล มันจึงมีโอกาสที่จะพบสัตว์ที่คิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วแน่ๆ เดินออกมาจากที่ไหนสักแห่ง และเมื่อสัตว์ตัวนั้นถูกพบอีกครั้ง มันจะถูกจัดให้อยู่ในลาซารัสแท็กซอน และ ปลาเทราต์ ที่มีชื่อว่า คุนิมาสึ (kunimasu) ซึ่งเป็นปลาเทราต์ประจำชาติญี่ปุ่น ก็เป็นหนึ่งในนั้น ต่อไปนี้คือเรื่องราวของปลาชนิดนี้ และแม้พวกมันจะกลับมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในสถานะสูญพันธุ์ไปจากป่าอยู่ดี (Extinct in the Wild)

ปลาเทราต์คุนิมาสึ คืออะไร?

Advertisements

แบล็คโคคานี (Black kokanee) หรือ ปลาเทราต์คุนิมาสึ (kunimasu) บางสื่อก็เรียกปลาแซลมอน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออนโครินคัส คาวามูเร (Oncorhynchus kawamurae) จัดเป็นปลาเทราต์ประจำชาติ ที่เคยพบในทะเลสาบน้ำจืดเพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่น

บันทึกที่เกี่ยวกับสัณฐานวิทยาและวงจรชีวิตของปลาชนิดนี้น้อยมากๆ เท่าที่ทราบคือ ปลาเทราต์คุนิมาสึ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวจะมีจุดสีดำและมีพื้นสีมะกอกจนถึงเทาเข้ม ยกเว้นในช่วงเวลาวางไข่ มันจะกลายเป็นสีเขียวมะกอกเข้ม

เมื่อปลาเติบโตขึ้น มันก็จะมีช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปลาแซลมอนและปลาเทราต์ ความเปลี่ยนแปลงของสัณฐานวิทยาจะเกิดขึ้น ทั้งสีและขนาดก็จะเปลี่ยนไป ในช่วงโตเต็มวัยและก่อนวางไข่ ทั้งตัวผู้ละตัวเมีย จะมีลำตัวที่ยาวเพรียวและแบน แต่สิ่งที่ต่างกันคือความยาวของจมูก และสีก็จะเข้มขึ้นด้วย

โดยทั่วไป! ตัวผู้จะมีจมูกที่แหลมยาวเล็กน้อย ในขณะที่ตัวเมียจะมีจมูกที่สั้นกว่า ยิ่งใกล้วางไข่ พวกมันก็ยิ่งเปลี่ยนไป หลังจะค่อมและจมูกจะเว้า ในตัวเมียที่จะวางไข่ปากจะใหญ่ขึ้นด้วย …ไม่มีบันทึกที่ชัดเจนว่าหลังวางไข่พ่อแม่ปลาจะตายหรือไม่?

การหายไปและการกลับมาของปลาเทราต์คุนิมาสึ

ปลาเทราต์คุนิมาสึ เป็นปลาเทราต์แปซิฟิกชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทะเลสาบทาซาวะ (Lake Tazawa) ในจังหวัดอาคิตะ ซึ่งเป็นทะเลสาบปล่องภูเขาไฟ ขนาด 25.9 ตารางกิโลเมตร มีความลึกระหว่าง 280 – 423 เมตร

ต่อมาก็มีการนำไข่ปลาที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว (Eyed Egg) ไปปล่อยในทะเลสาบหลายแห่งในญี่ปุ่น รวมถึงทะเลสาบไซโกะ ในจังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) แต่ความพยายามทั้งหมด ไม่สำเร็จ!

ตัวบน Kokanee salmon (Himemasu) / ตัวล่าง Black kokanee (kunimasu)

จนในปี พ.ศ. 2483 (1940) มีการนำน้ำจากแม่น้ำทามะเข้าสู่ทะเลสาบทาซาวะ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และเพราะน้ำที่นำเข้ามา มีความเป็นกรดสูง จึงทำให้ประชากรปลาเทราต์คุนิมาสึ ตายทั้งหมด! และเป็นความจริงที่ว่าปลาชนิดนี้ไม่ถูกพบมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว …วันเวลาผ่านไปหลายสิบปี ปลาเทราต์คุนิมาสึ ก็ถูกประกาศการสูญพันธุ์

หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี … ในปี พ.ศ. 2553 (2010) ทีมนักวิจัยที่กำลังทำงานในทะเลสาบไซโกะ (Lake Saiko)ได้ค้นพบตัวอย่างปลาเทราต์คุนิมาสึ จำนวน 9 ตัว ซึ่งคาดว่าพวกมันเป็นลูกหลานของไข่ปลาที่ได้รับการปฏิสนธิ ที่ถูกเอามาปล่อยในช่วงทศวรรษที่ 1930

ทั้งนี้ปลาเทราต์คุนิมาสึ เป็นญาติใกล้ชิดกับ ปลาแซลมอนโคคานี (Kokanee salmon) ซึ่งเป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาในทะเลสาบไซโกะเช่นกัน และมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับ ปลาเทราต์คุนิมาสึ จึงทำให้เกิดความถามว่า ปลาที่เพิ่งค้นพบนี้ เป็นปลาเทราต์คุนิมาสึจริงหรือไม่? หรือ แท้จริงพวกมันเป็นลูกผสมหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า ทั้งสองสายพันธุ์มีกลไกการแยกระบบสืบพันธุ์ (Reproductive isolation) ซึ่งหมายความว่า ตัวอย่างที่พบในปี พ.ศ. 2553 คือ ปลาเทราต์คุนิมาสึ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันด้วยการตรวจดีเอ็นเอ

สุดท้ายในตอนนี้ แม้จะเจอได้ยากมากๆ แต่ก็อาจเจอปลาเทราต์คุนิมาสึ ได้เฉพาะในทะเลสาบไซโกะ อยู่ห่างจากทะเลสาบทาซาวะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของปลาเทราต์คุนิมาสึ ไปทางใต้ประมาณ 500 กิโลเมตร

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements