กรมอุทยานฯ เผยภาพ ‘เสือไฟ’ สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ในไทย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยภาพหาดูยากของ “เสือไฟ” สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ผ่านเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยภาพที่เห็นจะเป็นภาพของเสือไฟที่กำลังมองไปด้านหน้าด้วยความสงสัย และหันหลังกลับไปเลียขาของตัวเอง ก่อนจะเดินออกไป

สำหรับเสือไฟ (Asiatic Golden Cat) อยู่ในอันดับ Carnivora วงศ์ Felidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Catopuma temminckii สถานภาพด้านการอนุรักษ์ (IUCN) จัดอยู่ในหมวด NT หรือ ใกล้ถูกคุกคาม

เสือไฟเป็นเสือขนาดกลาง มีรูปร่างบึกบึน ขาค่อนข้างยาว ลำตัวสีเรียบ มีลวดลายน้อย มีสีพื้นน้ำตาลแดงจนถึงแดงอย่างเก้ง บางตัวอาจมีสีดำ หรือน้ำตาล หรือเทา มีเสือไฟดำแบบเมลานิซึมบ้างแต่พบได้น้อย

ลักษณะเด่น บริเวณใบหน้าที่มีแถบสีขาวเหนือตา และแก้ม หางยาวปลายหางด้านล่างมีสีขาวตลอด ท้องและใต้หางมีสีขาว

เสือไฟ สามารถปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบชื้น, ป่าเบญจพรรณ สามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่จะล่าเหยื่อบนพื้นดินมากกว่าล่าบนต้นไม้ และยังพบได้ถึงระดับถึงความสูงกว่า 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาหิมาลัย

Advertisements

เวลาเดินจะยกหางขึ้นเหมือนแมวบ้าน อาหารของเสือไฟมักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู, กระต่าย, ลูกเก้งและนกเล็ก ๆ ที่หากินตามพื้นดิน ในบางครั้งอาจล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวได้ หมูป่าขนาดเล็กและลูกกวางป่าได้ด้วย รวมถึงล่าปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงได้ด้วย

ในต้นปี พ.ศ. 2558 ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังเคยปรากฏข่าวว่าเสือไฟโจมตีช้างพังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้จนล้ม มักอาศัยตามลำพัง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนที่พบเห็นว่าอยู่ด้วยกัน 2-3 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนาน 95 วัน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว ตามโพรงไม้ที่มีความปลอดภัย ปกติเสือไฟจะล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่ ก็อาจล่าเป็นคู่ได้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements