การมาถึงของอะราไพม่าในไทย
ปลาชนิดนี้มาถึงไทยเมื่อไร..? ตามที่มีการบันทึกไว้ปลาถูกนำเข้ามาครั้งแรกประมาณปี ค.ศ 1986 และมันก็ได้รับความนิยมอย่างมากในปีต่อมา จนถึงทุกวันนี้มันมีอยู่ทั่วไป เกือบทั้งหมดจะอยู่ในบ่อดิน – บ่อปูน หรือตู้ปลาขนาดใหญ่ เป็นปลาที่คนไทยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่มันก็เป็นปลาเกมที่นักตกปลาชาวไทยอย่างผมอยากตกเช่นกัน
รู้หรือไม่? อะราไพม่า ไม่ใช่ปลาถิ่นในประเทศไทย การปล่อยมันสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะมันเป็นนักล่าที่อยู่จุดสูงสุดในธรรมชาติ ..จึงห้ามปล่อยปลาชนิดนี้ลงแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด
รูปร่างของอะราไพม่า
ปลาอะราไพม่า มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน (Channa stiata) มันมีขนาดใหญ่มาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดงส้ม ตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ส่วนหัวมีลักษณะแข็งและมีน้ำหนักมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง
ในขณะที่ปลายังเล็กพื้นลำตัวจะมีสีเขียวเข้ม และลำตัวส่วนที่ค่อนไปทางหางจะเป็นสีดำ และรูปร่างจะออกไปทางทรงกระบอก เมื่อโตขึ้นบริเวณลำตัวและส่วนที่ค่อนไปทางหาง ครีบ และหาง จะปรากฏสีชมพูปนแดงหรือสีบานเย็นประแต้มกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อจวนตัว ปลาอะราไพม่าจะใช้ส่วนหัวที่แข็งพุ่งชนและกระโดดใส่ด้วยความรุนแรงเพื่อป้องกันตัว
ขนาดของปลา
ปลาอะราไพม่าไม่มีหนวด ซึ่งแตกต่างจากปลาชนิดอื่นๆ ในวงศ์เดียวกัน และเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ไวมาก ภายในเวลาเพียง 1–2 ปี สามารถมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 3–5 เท่าได้ ปลาที่โตเต็มที่เท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร น้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม
แหล่งที่พบโดยธรรมชาติ
พบในแม่น้ำแอมะซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า ปีรารูกู (Pirarucu) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่ประเทศเปรูจะเรียกว่า ไปเช (Paiche) โดยปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้บริโภคกันในท้องถิ่น ในบางท้องที่มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ
อาหารของปลา
ปลาอะราไพม่ากินอาหาร เป็นปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยใช้ลิ้นที่แข็งเป็นกระดูกนั้นบดอาหารกับเพดานปาก ในบางครั้งสามารถกินสัตว์เลือดอุ่นขนาดเล็กกว่าที่อยู่บนบก เช่น ลิง สุนัข นก ด้วยการกระโดดงับได้อีกด้วย
การขยายพันธุ์
ปลาอะราไพม่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 4-5 ปี มันมีอายุยืน มากกว่า 20 ปี ปลาเพศผู้ เพศเมีย สังเกตดูเพศจากภายนอกได้ยาก แต่ในฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทวีปอเมริกาใต้ ปลาเพศเมียจะมีไข่ จะเห็นบริเวณท้องจะขยายใหญ่ขึ้นได้ชัดเจน ส่วนเพศผู้หัวและลำตัวจะสีเข้ม และสีแดงอมส้มแถบโคนหางได้ชัดเจน
ในฤดูวางไข่ ปลาวัยเจริญพันธุ์จะตีแอ่งสร้างรังใต้น้ำ ในระดับความลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร ในบริเวณพื้นที่เป็นทราย แล้วนำหญ้า หรือพืชน้ำมาสร้างเป็นรัง พ่อแม่ปลาจะช่วยกันสร้างรัง จากนั้นตัวเมียจะวางไข่ แม่ปลา 1 ตัวสามารถมีไข่ได้เป็นหมื่นฟอง และจะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 3-4 วัน
แม่ปลาจะฟักไข่หรือดูแลตัวอ่อนไว้ในปาก ส่วนพ่อปลาจะช่วยป้องกันอันตรายจนกว่าลูกปลาจะแข็งแรง และช่วยตัวเองได้ แม่ปลา 1 ตัว (อายุ 4 – 5 ปี) ที่สมบูรณ์เต็มที่ สามารถวางไข่ได้ถึง 180,000 ฟอง ไข่ของปลาชนิดนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.8-1.4 นิ้ว
ปลาจะเลี้ยงลูกเหมือนปลาช่อนไทย เพียงแต่ลูกคอกมีขนาดใหญ่
ปลาอะราไพม่า เป็นปลาที่ได้รับความนิยมในแง่ของการเป็นปลาสวยงาม ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความใหญ่โตในรูปร่าง ซึ่งปลาอะราไพม่าจัดได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดความยาวที่สุดในโลก (ปลาบึก(Pangasianodon gigas) ที่พบในแม่น้ำโขง มีความยาวสั้นกว่า แต่มีน้ำหนักตัวที่มากกว่า)
ปลาอะราไพม่าแม้จะมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดูดุร้ายก็ตาม แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในสถานที่เลี้ยงแล้ว แม้ในปลาขนาดใหญ่กลับไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับมนุษย์เลย ผู้เลี้ยงสามารถลงไปปล้ำไล่จับปลาเล่นได้ โดยที่ปลาไม่ขัดขืนหรือทำอันตรายใดๆ
ปลาอะราไพม่าในฐานะปลาเกมในไทย
ปลาชนิดนี้จริงๆ แล้วหาตกได้ไม่ยาก ตามบ่อฟิชชิ่งปาร์คในไทย เพียงแต่การตกปลาชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีราคาค่อนข้างแพง และต้องถูกควบคุมอย่างดี เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่มาก และแพงมาก (ถ้ามีชีวิต) มันมีโอกาสตายสูง หากตกอย่างไม่ถูกวิธี
การตกปลาอะราไพม่า ในไทยส่วนใหญ่จะใช้เหยื่อปลอมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากวิธีนี้โอกาสที่ปลาจะกลืนเหยื่อลงท้องต่ำกว่าวิธีอื่น แต่ก็มีบางบ่อให้ตกด้วยเหยื่อสดเช่นกัน
ตำนานเกี่ยวกับปลา
ปลาอะราไพม่าเป็นปลาที่ปรากฏในความเชื่อของชนพื้นเมืองอเมริกาใต้ โดยมีชื่อเรียกว่า “พิรารูคู” พิรารูคูเป็นบุตรชายของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่มีความโหดร้ายและหยิ่งผยอง พิรารูคูไม่นับถือเทพเจ้า เทพเจ้าสูงสุดจึงพิโรธ แต่พิรารูคูไม่หวั่นไหว เมื่อพิรารูคูไปตกปลา เทพเจ้าสูงสุดจึงใช้สายฟ้าดึงเขาตกลงไปในแม่น้ำ และสาบให้เขากลายเป็นปลาใหญ่ไป
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ปลาอะราไพม่าได้ปรากฏอยู่ในเกมสตรีตไฟเตอร์ 2 เป็นเครื่องประดับในฉากของคาร์ลอส บลังกา ร่วมกับงูอนาคอนดา
ดูเรื่อง : ช่อนอเมซอนยักษ์ หนัก 200+