ปลาตูหนา และ ปลาสะแงะ ต่างกันยังไง..?
ขอเข้าประเด็นก่อนเลย ผมเองก็พยายามหาข้อมูล และรูปมาแสดงให้ดู ถ้าผิดพลาดอะไรน้าๆ สามารถบอกกันได้ เพื่อให้ผมตรวจสอบและแก้ไขต่อไป ..ขอเริ่มจากภาพวาดก่อน
จากที่ผมเขียนเอาไว้ น้าๆ เห็นความแตกต่างอะไรบ้าง..? เอาง่ายๆ เลยแบบยังไม่ต้องดูขนาดตัว “ลาย” ลายที่ตัวแตกต่างกันมาก เพราะ “ปลาสะแงะ มีลายอย่างชัดเจน” ส่วนตูหนาไม่มี และ “ปลาสะแงะไม่ใช่ปลาไหลหูดำ แต่เป็นปลาตูหนา”
ข้อมูลเพิ่มเติมปลาตูหนา
ปลาตูหนา หรือ ปลาไหลหูดำ (Shortfin eel, Level-finned eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Anguilla bicolor เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตูหนา (Anguilidae) มีรูปร่างอ้วนป้อม ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนปลาสะแงะ ซึ่งอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน แต่ปลาตูหนามีรูปร่างที่เล็กกว่า ครีบอกของปลาตูหนามีสีคล้ำ ในปลาโตเต็มวัยครีบหลังและครีบก้นมีสีคล้ำด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ปลาไหลหูดำ” ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนไม่มีลวดลาย ใต้ท้องสีขาว ขนาดโตเต็มที่ได้ 1.5 เมตร
ในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกแถบริมชายฝั่งอันดามัน เรื่อยไปจนถึงประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย และในภาคตะวันตกในชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า เช่น จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยชาวกะเหรี่ยงเรียกปลาชนิดนี้ว่า “หย่าที” ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกพบได้ตั้งแต่พม่า บังกลาเทศ จนถึงอินเดีย โดยปลาที่พบในประเทศแถบนี้จะเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ
ปลาตูหนามีพฤติกรรมจะกลับไปผสมพันธุ์และวางไข่แถบป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำ ลูกปลาแรกเกิดมีลำตัวใสเหมือนวุ้นเส้น มีสีแดงเรื่อ จากนั้นเมื่อโตขึ้นจะค่อยอพยพว่ายทวนน้ำมาสู่แหล่งน้ำจืด ซึ่งบางครั้งอาจพบได้ไกลถึงลำธารน้ำตกบนภูเขา
ปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนในแถบจังหวัดระนองหรือตรัง ถือเป็นเมนูราคาแพง สามารถนำไปปรุงได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ ย่าง หรือทำน้ำแดง ในต่างประเทศที่นิยมบริโภคได้แก่จีนและญี่ปุ่น โดยหน่วยงานประมงของประเทศเหล่านี้ได้มีการส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจ มีการทำฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ แต่ว่าเนื้อมีกลิ่นคาวมาก จึงนิยมปลาตูหนาญี่ปุ่น
ข้อมูลเพิ่มเติมปลาสะแงะ
ปลาสะแงะ (Bengal freshwater eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Anguilla bengalensis เป็นปลาจัดอยู่ในวงศ์ปลาตูหนา (Anguillidae) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย โดยสามารถยาวได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร ในตัวเต็มวัยครีบอกมีสีจาง ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางด้านท้ายของลำตัว ลำตัวด้านหลังมีสีเทาคล้ำอมเหลืองและมีประสีจางและคล้ำผสมกันคล้ายกับลายหินอ่อน ท้องมีสีน้ำตาลอมเหลือง
พบมากในแม่น้ำสาละวินและสาขาในจังหวัดตาก และ แม่ฮ่องสอน และยังสามารถพบได้เป็นครั้งคราวในแม่น้ำของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ต่างประเทศพบได้ในบริเวณแม่น้ำชายฝั่งของประเทศอินเดีย, พม่า และทวีปแอฟริกาแถบตะวันออก
ปลาสะแงะ มีบันทึกว่าพบครั้งแรกและสร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็น คือ มีผู้จับได้ในคลองบางกะปิที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2469 ด้วยความใหญ่โตของลำตัว ทำให้บางคนเชื่อว่า เป็นปลาไหลไฟฟ้าบ้าง บางคนก็คิดว่าเป็นพญานาค หรือมังกร โดยปลาตัวนั้นมีขนาดความยาว 65 เซนติเมตร
“ว่ากันว่า ปลาชนิดนี้สามารถส่งเสียงร้องคล้ายเสียงเด็กทารกได้ด้วยในเวลากลางคืน”
ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกและแถบภาคตะวันตกไปจนถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีชื่อพื้นเมืองภาษากะเหรี่ยงว่า “หย่าที” เป็นปลาที่พบน้อย หายาก เนื้อมีรสชาติอร่อย ราคาแพง และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
เอาล่ะเท่านี่ก็น่าจะแยกกันได้แล้วว่าปลาตูหนา ปลาสะแงะ ต่างกันยังไง หลังจากนี่แม้แต่ตัวผมเองเวลาได้มีโอกาสเจอปลาพวกนี่ก็คงมองไม่พลาดแล้ว เอาไว้เจอกันเรื่องต่อไป อย่าลืมแชร์ให้น้าๆ ท่านอื่นอ่านกันนะ