สัตว์ 7 ชนิด หากินได้ในไทย และอยู่ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์รุกรานที่ร้ายที่สุดในโลก

เมื่อหลายปีก่อน ISSG ที่ดำเนินงานโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้จัดทำรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก (100 of the World's Worst Invasive Alien Species) ขึ้นมา ซึ่งในนั้นมีทั้ง ปลา พืช แมลง หอย หรือแม้แต่เชื้อรา แน่นอนว่าผมไม่สามารถเอามาเล่าได้ทั้งหมด แต่ถึงอย่างงั้นผมก็ได้ทำเรื่องที่เกี่ยวกับนกไปแล้ว สามารถกดดูที่ลิงค์ท้ายเรื่อง ส่วนในเรื่องนี้คือ สัตว์ 7 ชนิด ‘หากินได้ในไทย’ และมีชื่อใน 100 สายพันธุ์รุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย

1. หอยเชอรี่ (Pomacea canaliculata)

Advertisements

หอยเชอรี่ หรือ หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือ หอยเป๋าฮื้อน้ำจืด (Golden apple snail, Channeled apple snail) ชื่อวิทยาศาสตร์: Pomacea canaliculata เป็นหอยน้ำจืดจำพวกหอยฝาเดียว มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้

เนื่องจากเป็นหอยที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยนานมากๆ แล้ว หลายคนเลยเข้าใจว่าเป็นหอยที่มีถิ่นกำเนิดในไทยไปแล้ว แต่ความจริงพวกมันถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยแรกเริ่มมันถูกนำเข้ามาในฐานะของหอยที่ช่วยกำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา ซึ่งเป็นช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2526 หอยเชอรี่ถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2530 เริ่มมีคนเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค แต่ในตอนนั้นหอยเชอรี่มีภาพไปทางหอยที่เลี้ยงเพื่อตลาดปลาสวยงาม จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับหากจะเอามากิน ซึ่งคล้ายกุ้งก้ามแดงที่ในไทยตอนนี้ยังไม่นิยมกินกัน

เมื่อหาที่ขายไม่ได้ สินค้าเต็มตลาด สุดท้ายจึงปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในช่วงนั้นเองที่หอยเชอรี่ก็เริ่มสร้างความเดือดร้อนให้กับแหล่งน้ำโดยเฉพาะชาวนา

แต่อาจเพราะความสามารถพิเศษของคนไทย สุดท้ายหอยรุกรานที่มีจำนวนมหาศาล ก็โดนควบคุมด้วยเมนูเด็ดของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ก้อยหอยเชอรี่ ยำหอยเชอรี่ ยำสลัดตะไคร้หอยเชอรี่ แม้แต่ไข่ของหอยเชอรี่ก็เอามาขายได้ ปัจจุบันถือว่าระบาดในหลายพื้นที่ แต่ก็ไม่หนักเหมือนในอดีต

2. ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus)

ปลาดุกด้าน (Thailand catfish, walking catfish) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่ถูกระบุว่ามาจากประเทศไทย และยังเป็นปลาลำดับแรกที่ถูกพูดถึงใน 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลกอีกด้วย มันเป็นที่รู้จักในชื่อ ปลาดุกเดิน หรือ Walking catfish โดยปลาดุกชนิดนี้รุกรานหนักที่สุดคือทวีปอเมริกาเหนือ

ปลาดุกด้านเป็น 1 ใน 5 ปลาดุกน้ำจืดพื้นเมืองของไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ปลาดุกอุย (Broadhead catfish), ปลาดัก หรือ ปลาดุกเนื้อเลน (Blackskin catfish), ปลาดุกลำพัน (Slender walking catfish) และ ปลาดุกลำพันภูเขา (Hillstram walking catfish) … ปัจจุบันในประเทศไทย ปลาดุกชนิดนี้ถูกแทนที่ด้วยปลาดุกรัสเซียและปลาดุกบิ๊กอุย แต่ก็พอจะหากินได้ในธรรมชาติ และในตลาด

ปลาดุกด้าน (Walking catfish)

และแม้ปลาดุกด้านจะมีน้อยในไทย แต่! ในอเมริกาถือว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยทีเดียว โดยเริ่มต้นที่ฟลอริดา มีบันทึกเอาไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2503 – 2505 ได้มีการนำเข้าปลาดุกด้านมาจากประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่อการค้า จนมาถึงช่วง พ.ศ. 2506 ปัญหาที่เกิดจากปลาดุกด้านก็เริ่มเห็นได้ชัด นั้นเพราะปลาตัวเต็มวัยจำนวนมากเริ่มหลบหนีออกไปจากฟาร์ม รวมถึงมีผู้เพาะเลี้ยงเริ่มปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนในปี พ.ศ. 2511 ภาครัฐได้สั่งห้ามการนำเข้าและครอบครองปลาดุกด้าน …แต่ก็สายไปแล้ว เพราะปลาดุกด้านก็มีอยู่เต็มไปหมดในฟลอริดาไปซะแล้ว

3. หอยทากยักษ์แอฟริกัน (Lissachatina fulica)

หอยทากยักษ์แอฟริกัน (African giant snail, giant African land snai) จัดเป็นหอยทากบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลก มีชนิดย่อยอยู่ 3 ชนิด เป็นหอยตัวอ้วนๆ ที่โตได้ใหญ่กว่าลูกเบสบอล และอยู่ในไทยมาก่อนหอยเชอรี่ นานซะจนคนไทยบางส่วนคิดว่ามันเป็นหอยไทยแท้เลยด้วยซ้ำ …ความจริงผมเจอหอยชนิดที่เดินไปเดินมาในปั้มน้ำมันเกือบทุกเช้าในตอนที่ผมไปซื้อกาแฟ หลายครั้งมันเกาะอยู่ที่กระจกร้านเลย

หอยทากยักษ์แอฟริกา มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในฐานะสัตว์เลี้ยงแปลกประหลาดและเพื่อบริโภค อาจเป็นเพราะหอยชนิดนี้มีขนาดที่ใหญ่โตมาก ประกอบกับลวดลายที่แปลกตาของมัน ไม่มีข้อมูลว่าหอยชนิดนี้ถูกนำเข้ามาเมื่อไร

แต่ข่าวการระบาดเริ่มต้นที่กรุงเทพ ในช่วงปี พ.ศ. 2500 ก่อนที่กระจายไปทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2515 หอยทากยักษ์แอฟริกา จะมีอาณาเขตหากินต่างจากหอยเชอรี่ นั้นเพราะหอยทากยักษ์ไม่ชอบลงน้ำ พวกมันจึงไม่ไปกินต้นข้าวในน้ำ ในขณะที่หอยเชอรี่ชอบอยู่ในน้ำพวกมันจึงกินต้นข้าวเป็นอาหารหลักนั้นเอง

แม้ในประเทศไทย จะไม่นิยมกินหอยชนิดนี้ แต่ก็มีกินกันอยู่บ้าง! โดยจากงานวิจัยระบุว่า เนื้อหอยทากยักษ์มีโปรตีนสูงเกือบ 70% เนื้อนุ่ม รสชาติดี เป็นที่นิยมกินกันในต่างประเทศ แต่! หากเป็นเนื้อหอยที่จับมาจากธรรมชาติ ก็มีความเสี่ยงในเรื่องพยาธิหรือปรสิต …หากจะกินก็ระวังกันหน่อย

4. ปลาเรนโบว์เทราต์ (Oncorhynchus mykiss)

Advertisements

ปลาเรนโบว์เทราต์ (Rainbow trout) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาแซลมอน (Salmonidae) แต่เดิมปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่เย็นและไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาเหนือ เป็นปลาที่วงจรชีวิตในทะเลและน้ำจืด

จัดเป็นปลาเนื้อดี และใช้ตกเป็นเกมกีฬา และเพราะแบบนี้ ปลาเรนโบว์เทราต์ จึงถูกนำไปเพาะเลี้ยงในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี, ฟินแลนด์, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น ทั้งในประเทศในเขตอบอุ่นและเขตหนาว หรือแม้แต่เขตร้อน อย่างในประเทศไทยก็ไม่มีข้อยกเว้น

โดยปลาเรนโบว์เทราต์ ได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยเลี้ยงไว้บนดอยอินทนนท์ ในตอนนี้มีหลุดออกมาในธรรมชาติพอสมควร แต่เพราะเป็นปลาน้ำเย็น พวกมันจึงอยู่ได้เฉพาะในแหล่งน้ำบนดอย ผลกระทบจึงยังไม่ชัดเจน

5. ปลาหมอเทศ – ปลานิล (Oreochromis mossambicus)

ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกราน มีชื่อของปลาหมอเทศเท่านั้น แต่เมื่อลงรายละเอียดก็พบว่ามันได้รวมเอาปลานิลเข้าไปด้วย โดยทั้งสองชนิดนี้แม้แต่ในประเทศไทยก็ถือว่ามีเยอะมาก เพียงแต่ปลานิลในไทยตอนนี้ ถือเป็นปลาน้ำจืดหลักที่คนไทยนิยมกิน จนลืมไปว่าพวกมันเป็นปลาต่างถิ่น

ปลาหมอเทศมีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร ในขณะที่ปลานิลจะตัวใหญ่กว่า และเพราะอยู่ในสกุลเดียวกัน ปลาทั้งสองชนิดนี้ จึงมีหน้าตาที่คล้ายกัน และยังเอามาผสมกันได้ด้วย พวกมันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่กินได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ พวกมันกินตะกอน อินทรียสาร เหยื่อปลอมยังไล่กัด เป็นปลาที่ทำรังด้วยวิธีขุดหลุมคล้ายหลุมขนมครก หากแหล่งน้ำไหนที่ปลาพวกนี้อาศัยอยู่จำนวนมาก หากน้ำแห้งจะพบหลุมมากมายอยู่ที่พื้น

ปัจจุบันพบปลาพวกนี้ได้ในแหล่งน้ำจืดเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนหลายแห่งทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มันถูกนำเข้าไปเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ต่อมาก็หลุดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วก็เพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว จนเป็นเหตุให้ปลาท้องถิ่นหลากหลายชนิดต้องลดลงหรือสูญพันธุ์ไป

6. ปลาไน (Cyprinus carpio)

ปลาไน (Eurasian carp) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก เป็นปลาที่รุกรานไปทั่วโลก และยังเป็นปลาน้ำจืดที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของโลก เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์เลี้ยงเป็นชนิดแรกของโลกเพื่อเป็นอาหาร โดยเลี้ยงในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว

และแม้ปลาไนจะมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก แต่ก็เป็นปลาที่ถูกนำไปเลี้ยงแล้วมากกว่า 59 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย หากพื้นที่ไหนไม่มีนักล่าตามธรรมชาติหรือไม่มีการจับปลาเชิงพาณิชย์ พวกมันจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่แถบนั้นเป็นวงกว้าง

นั้นเพราะปลาไนมีอัตราการสืบพันธุ์และพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการคุ้ยหาอาหารตามพื้น พวกมันอาจทำลาย ถอนราก รบกวนปลาอื่น และกินพืชพรรณที่จมอยู่ใต้น้ำ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์พื้นเมืองจำนวนมาก

มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับการเปิดเผยในงานวิจัย พวกเขาพบว่าไข่ของปลาไนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกนกน้ำกินเข้าไป จะสามารถอยู่รอดและฟักออกมาเป็นตัวได้ แม้จะผ่านทางเดินอาหารจนออกมาพร้อมของเสียก็ตาม ด้วยเหตุนี้การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้จึงน่ากังวลมากขึ้น

7. ปูขนจีน (Eriocheir sinensis)

Advertisements

ปูขนจีน หรือ ปูเซี่ยงไฮ้ (Chinese mitten crab) เป็นปูที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อาศัยอยู่ตามทะเลสาบ และเจริญเติบโตได้ดีอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งต่ำกว่า 10 องศาเชลเชียส เรื่องที่จะเลี้ยงปูชนิดนี้ในประเทศไทยจึงไม่ง่าย

ความจริงคนไทยรู้จักและกินปูชนิดนี้มานานมากๆ แล้ว มันเป็นปูที่คนไทยมักจะได้กินในช่วงฤดูหนาว โดยในอดีตถือเป็นอาหารของผู้มีอันจะกิน เพราะต้องเดินทางไปกินที่ต่างประเทศ ใกล้ที่สุดคงเป็นที่ฮ่องกง แต่ตอนนี้สามารถหากินได้ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ที่ยอดดอยอินทนนท์

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements