ตะพาบต่างจากเต่า อย่างไร?
วิธีมองว่าสัตว์ตัวนี้เป็นตะพาบหรือเต่า แบบง่ายๆ ก็คือ เต่ามีกระดองแข็งแล้วก็นูนๆ ตะพาบมีกระดองนิ่มแบนๆ มันเป็นลักษณะทางกายภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยที่ไม่ต้องไปจับดูเลยด้วยซ้ำ แต่จริงๆ กระดองของตะพาบมันก็ไม่ได้นิ่มซะทีเดียว มันจะเป็นหนังที่ค่อนข้างแข็งโดยเฉพาะส่วนกลาง แล้วมันจะไปนิ่มก็ตรงขอบกระดองที่เรียกว่า “เชิง” …และแน่นอนว่าตะพาบตัวจะแบนกว่าเต่ามาก เท่านี้ก็ตัดสินได้แล้วว่า สัตว์เลื้อยคลานที่เรามองอยู่เป็นตะพาบหรือเต่า
หากมองให้ลึกลงไปอีก ตะพาบชอบอยู่ในน้ำมากกว่าเต่า และแม้ตะพาบจะหายใจด้วยปอด แต่มันก็สามารถกบดานอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานาน และมันจะถึงจากน้ำเมื่อจำเป็นเท่านั้น ด้วยเหตุตะพาบจึงสังเกตุเห็นได้ยากกว่าเต่า แต่ถึงอย่างงั้นก็ยังถูกจับได้โดยมนุษย์อยู่ดี
ในเรื่องการวางไข่ของตะพาบก็จะคล้ายๆ กับเต่าทะเล มันจะขึ้นมาริมตลิ่งที่เป็นพื้นทราย จากนั้นก็ขุดหลุมและหลังจากวางไข่ก็จะกลบทรายก่อนจะลงไปอยู่ในน้ำตามเดิม ทั้งนี้ตะพาบส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินเนื้อมากกว่ากินพืช มันจึงมีนิสัยดุร้ายกว่าเต่า จึงควรระวังเอาไว้บ้าง …ต่อไปมาดูชนิดของตะพาบน้ำที่พบได้ในไทย
ชนิดที่ 1 – ตะพาบไทย – Amyda cartiliaginea
ตะพาบไทย หรือ ตะพาบสวน หรือ ตะพาบน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amyda cartiliaginea (อะมีดา คาร์ติลาจิเนีย) จัดเป็นตะพาบที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย พบได้ทั่วไปในทุกภาคของไทย ทั้งในแม่น้ำลำคลองหรือในท้องร่องสวน แต่ในตอนนี้ก็ไม่ง่ายที่จะพบตะพาบชนิดนี้ในธรรมชาติ
ตะพาบไทย เป็นตะพาบชนิดเดียวในสกุล Amyda (อะมีดา) ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน มีกระดองสีเขียว ใต้ท้องสีขาว ขนาดกระดองเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 75 เซนติเมตร หนักประมาณ 35 กิโลกรัม ในตะพาบตัวเล็กกระดองจะมีสีเทาเข้มหรือเกือบดำ และมีจุดสีเหลืองเล็ก ๆ ประปรายทั่วกระดอง และบนกระดองยังมีลายคล้ายดาว 4 – 5 แห่ง
ทั้งนี้ตะพาบไทยถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ นิยมกินโดยคนจีน แต่การเลี้ยงตะพาบไทยยังให้ผลผลิตไม่ค่อยดี ยังสู้ตะพาบไต้หวันไม่ได้ เนื่องจากโตช้ากว่า นอกจากนี้ยังถูกนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
ชนิดที่ 2 – ตะพาบม่านลายไทย – Chitra chitra
ตะพาบม่านลายไทย ถือเป็นตะพาบที่พิเศษมากถึงมากที่สุด เนื่องจากเป็นตะพาบที่หายากมากๆ และยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยตะพาบชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร และหนัก 100 – 120 กิโลกรัม บางแหล่งข้อมูลบอกหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมียมาก อาจเล็กกว่าครึ่งเลยทีเดียว
ตะพาบม่านลายไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitra chitra (ชิตรา ชิตรา) อยู่ในสกุลของตะพาบม่านลายที่มีอยู่ 3 ชนิด คือ ตะพาบม่านลายไทย, ตะพาบม่านลายอินเดีย และตะพาบม่านลายพม่า โดยตะพาบม่านลายไทยถือว่าใหญ่ที่สุด
ลักษณะโดยทั่วไปของตะพาบม่านลายไทย คือตัวใหญ่มาก หัวเล็กและคอยาว ในตอนที่ตัวยังเล็กจะมีแถบสีเหลืองปนน้ำตาลบนส่วนหัวและกระดองอย่างชัดเจน โดยสีอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บนกระดองลายแถบจะพาดผ่านส่วนหัวยาวอย่างต่อเนื่องมาบนกระดอง ส่วนท้องจะมีสีขาวหรือขาวอมชมพู
ตะพาบม่านลายไทยมีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี, แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และแม่น้ำปิงในเขตภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น มีรายงานว่าพบที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และอาจพบชนิดย่อยในประเทศอื่น
สถานภาพปัจจุบันของตะพาบชนิดนี้ในธรรมชาติถือว่าแย่เอามากๆ เนื่องจากไม่มีรายงานการพบเห็นมานานมากๆ จนเชื่อว่าอาจสูญพันธุ์ไปธรรมชาติ จนเมื่อปี พ.ศ. 2545 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ตะพาบม่านลายไทยในที่เลี้ยงได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก
จนในปี พ.ศ. 2553 แม่พันธุ์ตะพาบม่านลายไทยได้วางไข่มากถึง 305 ฟอง ซึ่งนับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยไข่ชุดนั้นฟักเป็นตัวทั้งหมด 92 ตัว ซึ่งกรมประมงตั้งเป้าหมายจะเพาะขยายพันธุ์ให้มาก เพื่อจะได้ปล่อยลูกตะพาบกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ชนิดที่ 3 – ตะพาบม่านลายพม่า – Chitra vandijki
ตะพาบม่านลายพม่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitra vandijki (ชิตรา วานไดกิ) เป็นชนิดที่เพิ่งได้รับการอนุกรมวิธานเมื่อปี พ.ศ. 2546 มีลักษณะคล้ายกับตะพาบม่านลายชนิดอื่น แต่มีลวดลายที่กระดองเป็นระเบียบกว่า จะมีลายเป็นบั้งๆ และมีสีที่อ่อนกว่า โดยกระดองมักจะเป็นสีเขียว อีกทั้งขนาดเมื่อโตเต็มที่ก็มีขนาดเล็กกว่าด้วย
ตามข้อมูลระบุว่า มักพบ “ตะพาบม่านลายพม่า” ตามแหล่งน้ำจืดชายแดนที่ติดกับประเทศไทยอย่างเช่นในแม่น้ำสาละวิน และถือเป็นตะพาบที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ แต่ยังโชคดีเล็กน้อยที่สามารถเพาะได้ในสถานที่เลี้ยงแม้จะไม่ง่ายก็ตาม
ชนิดที่ 4 – ตะพาบหัวกบ – Pelochelys cantorii
ตะพาบหัวกบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pelochelys cantorii (เพโลเคลิส คันโตริ) จัดเป็นตะพาบขนาดใหญ่ที่มีกระดองยาวได้ถึง 120 เซนติเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในสกุลตะพาบหัวกบ ที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด และอีก 2 ชนิดที่ยังไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจน
ตะพาบหัวกบ เป็นตะพาบที่มีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเขียว ด้านล่างสีอ่อน ตามีขนาดเล็ก หัวมีลักษณะเล็กสั้นคล้ายกบหรืออึ่งอ่าง อันเป็นที่มาของชื่อ ตะพาบชนิดนี้อยู่ใต้น้ำได้นานมากๆ ตามรายงานระบุว่า จะโผล่ส่วนจมูกขึ้นมาหายใจวันละ 2 – 3 ครั้งเท่านั้น
ในประเทศไทยพบได้ในแม่น้ำสายใหญ่ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงแถบภาคอีสาน ปัจจุบันเป็นตะพาบที่หายากมาก และถือเป็นตะพาบที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
ชนิดที่ 5 – ตะพาบหับพม่า – Lissemys scutata
ตะพาบหับพม่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lissemys scutata (ลิซเซมิส สคูทาทา) โดยตะพาบในสกุลนี้มีทั้งหมด 3 ชนิด คือ ตะพาบหับศรีลังกา, ตะพาบหับอินเดีย และ ตะพาบหับพม่า ที่พบได้ในประเทศไทย
ตะพาบหับพม่ามีรูปร่างกลม กระดองโค้งนูนสูงกว่าตะพาบน้ำอื่นๆ ลักษณะพิเศษของตะพาบหับคือ ท้องมีแผ่นหนังปิดขาทั้ง 4 ขา ซึ่งสามารถพับปิดได้สนิทเหมือนเต่าหับ ลักษณะตรงนี้นับว่าแตกต่างไปจากตะพาบชนิดอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีกระดองสีเทาหรือสีชมพู ใต้ท้องสีขาว เมื่อยังเล็กอยู่กระดองจะมีจุดสีเหลืองกระจายอยู่ทั่ว และกระดองก็มีสีเข้ม ใต้ท้องสีแดงเข้ม มีขีดสีดำระหว่างตาและหางตาไปทางด้านหลังทั้ง 2 ข้าง
ตะพาบชนิดนี้พบได้เฉพาะในลุ่มน้ำสาละวิน จัดเป็นตะพาบขนาดเล็กที่สุดที่สามารถพบได้ในธรรมชาติประเทศไทย ตามข้อมูลระบุว่าเมื่อโตเต็มที่จะใหญ่ประมาณฝ่ามือ สถานะในปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันกรมประมงพยายามศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์
ชนิดที่ 6 – ตะพาบแก้มแดง – Dogania subplana
ตะพาบแก้มแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dogania subplana (โดกาเนีย ซัพแพนา) จัดเป็นตะพาบขนาดเล็กอันดับสองที่พบได้ในไทย ซึ่งจะยาวประมาณ 30 เซนติเมตร นอกจากนี้ตะพาบแก้มแดงยังเป็นตะพาบเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Dogania (โดกาเนีย)
ตะพาบแก้มแดงจะมีกระดองสีเทาเข้มมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป หัวมีสีเทานวล มีรอยเส้นสีดำตลอดตามแนวกระดูกสันหลังจนถึงส่วนท้ายกระดอง นอกจากนี้ยังมีสีแดงที่แก้มและข้างคอ เมื่อยังเล็กจะมีจุดสีดำคล้ายดวงตากระจายอยู่ทั่วกระดอง มีรายงานว่าตะพาบที่พบในจังหวัดตากและกาญจนบุรี จะมีสีเข้มกว่าและไม่มีสีแดงที่แก้ม
ในประเทศไทยพบตะพาบแก้มแดงได้ที่ จังหวัดตาก, กาญจนบุรี และจะพบมากทางภาคใต้ แถบจังหวัดชุมพรและจังหวัดนครศรีธรรมราช ชอบอยู่ในห้วยหนองคลองบึงทั่วไป และมีชุกชุมตามลำธารบนภูเขา
และนอกจากตะพาบ 6 ชนิด ที่พบได้ในประเทศไทย ยังมีตะพาบบางชนิดที่ไม่ใช่ตะพาบพื้นเมืองของไทย นั้นก็คือ ตะพาบไต้หวัน (Trionyx sinensis) ซึ่งถูกนำเข้ามาในฐานะสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์เลี้ยงสวยงาม จนปัจจุบันได้แพร่ขยายลงในแหล่งน้ำของไทย จนคิดว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นไปแล้ว
ส่วนคำถามที่ว่าตะพาบหายากที่สุดในโลกคือชนิดไหน? เรื่องนี้ถ้าอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ คงต้องบอกว่าเป็นตะพาบยักษ์แยงซีเกียง (Rafetus swinhoei) ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองที่พบได้เฉพาะในประเทศจีนและเวียดนามเท่านั้น ปัจจุบันพบเพียง 5 ตัว คือที่สวนสัตว์ประเทศจีน 4 ตัว และที่ทะเลสาบคืนดาบที่ฮานอย 1 ตัว
แต่บางแหล่งข้อมูลระบุว่า ตะพาบยักษ์แยงซีเกียง เคยมีอยู่บนโลก 2 ตัว ซึ่งเป็นคู่ผัวเมีย ที่อาศัยในสวนสัตว์ซูโจว จนเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2562 ตัวเมียก็จากไป จึงทำให้เหลือตัวผู้เพียงตัวเดียว จนในปี พ.ศ. 2564 ก็พบตะพาบ 2 ตัว ในทะเลสาบใกล้กรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ซึ่งหนึ่งในนั้นถูกจับมาตรวจ DNA ก็ยืนยันได้ว่าเป็นตะพาบยักษ์แยงซีเกียงตัวเมีย และหนัก 86 กิโลกรัม แต่ไม่มีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับตะพาบอีกตัว และก็ไม่มีรายงานการส่งตัวตะพาบตัวเมียไปให้จีนด้วย