Advertisement
Home บทความพิเศษ 6 ปลาน้ำจืดที่คล้าย ‘ปลานิล’ และพบได้ในธรรมชาติไทยตอนนี้

6 ปลาน้ำจืดที่คล้าย ‘ปลานิล’ และพบได้ในธรรมชาติไทยตอนนี้

ปลา 6 ชนิดที่คล้ายกับปลานิล ในความหมายของผมคือ คล้ายในเรื่องรูปร่าง เป็นสัตว์ต่างถิ่นเหมือนกัน และพบในธรรมชาติไทยเช่นกัน และผมขอตัด ปลานิลแดง ปลาทับทิม หรือปลานิลที่เกิดจากการข้ามสายพันธุ์ทั้งหมด คงเหลือแต่ชนิดที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและพบเจอในแหล่งน้ำบ้านเราตอนนี้ ...คลิปท้ายเรื่อง

ชนิดที่ 1 – ปลาหมอเทศข้างลาย – Oregchromis aureus

ปลาหมอเทศข้างลาย (Blue tilapia, Israeli tilapia) เป็นปลาที่มียาวได้ถึง 50 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยทั่วไปจะแค่ 20 เซนติเมตร มันเหมือนปลานิลอย่างมาก เหมือนซะจนถ้าตกขึ้นมาได้ ก็จะต้องนึกว่าเป็นปลานิลก่อน แต่จุดสังเกตุสำคัญของปลาชนิดนี้คือ ปลาหมอเทศข้างลายจะมีแถบดำแต่ไม่ถึงปลายหาง จากนั้นจะเป็นสีแดงในส่วนที่เหลือแทน

ปลาหมอเทศข้างลาย (Blue tilapia, Israeli tilapia) / Oregchromis aureus

เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาทางตอนเหนือ จนถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง อยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ 2550 จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากปลานิลและปลาหมอเทศ แต่จำนวนน้อยกว่าปลาทั้ง 2 ชนิดมาก

ชนิดที่ 2 – ปลาหมอเทศ – Oreochromis mossambicus

ปลาหมอเทศ (Mozambique tilapia) ก็เป็นอีกชนิดที่คล้ายปลานิลมากๆ แต่จะมีรูปร่างที่เล็กกว่า เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดของปลาหมอเทศและปลานิลคือ ปากของปลาหมอเทศจะยาวกว่า และไม่มีแถบหรือลายบนครีบแต่มีปื้นสีจางบนแก้มของปลาตัวผู้

ปลาหมอเทศ (Mozambique tilapia) / Oreochromis mossambicus

ปลาหมอเทศมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แถวๆ แอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 โดยนำมาจากปีนัง เพื่อส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพ แต่ตอนนี้มีความนิยมน้อยกว่าปลานิล เนื่องจากเนื้อค่อนข้างแข็งและมีขนาดตัวเล็ก จนในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการนำเอาปลาหมอเทศไปผสมข้ามสายกับปลานิล จนเกิดเป็น “ปลานิลแดง”

ชนิดที่ 3 – ปลานิลอกแดง – Coptodon rendalli

ปลานิลอกแดง (Redbreast tilapia) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 45 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะเล็กกว่านั้นมาก ความแตกต่างของปลานิลอกแดงกับปลานิลคือ ส่วนท้องหรืออกของปลานิลอกแดงจะออกสีแดง เป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2498 ด้วยเหตุผลเพื่อการประมง ปัจจุบันกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติประเทศไทย

ปลานิลอกแดง (Redbreast tilapia) / Coptodon rendalli

ชนิดที่ 4 – ปลาหมอสีคางดำ – Sarotherodon melanotheron

ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เดิมพวกมันอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงชายฝั่งทะเล

เป็นปลาที่ทนต่อความเค็มสูง และยังทนต่อความเปลี่ยนแปลงของค่าความเค็มในช่วงที่กว้างมาก และยังอาศัยในน้ำจืดหรือแม่น้ำได้อย่างไม่มีปัญหา

ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) / Sarotherodon melanotheron

เป็นปลาตัวแสบที่สุดชนิดหนึ่งในปลาต่างถิ่นที่ระบาดในไทย โดยเฉพาะใน จังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จะมีพวกมันเยอะเป็นพิเศษ ถ้าลองปลาชนิดนี้ได้ลงไปในบ่อกุ้ง รับประกันได้เลยว่าเมื่อจับกุ้งขายคุณอาจจะไม่ได้เห็นกุ้งแม้แต่ตัวเดียว

โดยข่าวการระบาดของปลาหมอสีคางดำเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าหน่วยงานจะทุ่มงบนับล้านเพื่อรับซื้อปลาหมอสีคางดำ หรือจะเป็นการใช้สารเคมีเพื่อลดจำนวนปลาชนิดนี้ แต่ทุกอย่างไม่เป็นผล เพราะมันขยายพันธุ์ได้ดีกว่าปลานิลซะอีก …และที่สำคัญคนไทยไม่นิยมกินปลาหมอสีคางดำ

ชนิดที่ 5 – ปลาหมอมายัน – Cichlasoma urophthalmus

ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) จัดเป็นปลาหมอสีที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร และอาจใหญ่ได้ถึง 30 เซนติเมตร เป็นปลาที่ทนทานอย่างเหลือเชื่อ มันสามารถอยู่ในอุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส และยังอยู่ได้อย่างสบายที่ 33 องศาเซลเซียส เป็นปลาที่อยู่ได้แม้ออกซิเจนต่ำ เป็นนักล่าที่เก่ง มีนิสัยดุร้ายหวงถิ่น

ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid)

ปลาหมอมายันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง พบประวัติการรุกรานในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยจับได้ที่คลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางขุนเทียน และมีการจับได้โดยชาวประมงในปี 2549 โดยใช้ลอบ ข่าย และเบ็ดตกปลา จัดเป็นปลาที่มีอันตรายต่อระบบนิเวศไทยอย่างมาก แต่ยังไม่เท่าปลาหมอสีคางดำในตอนนี้

ชนิดที่ 6 – ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) เป็นปลาหมอสีที่มีขนาดใหญ่ มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก มันตัวใหญ่กว่าปลาหมอสีคางดำ และปลาหมอมายัน แต่โชคยังดีที่มันอร่อยกว่า ถ้าจับได้แนะนำให้เก็บไปกินซะ

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) / Heterotilapia buttikoferi

เป็นปลาหมอที่มีหน้าตาคล้ายปลานิลที่สุด แต่จะมีลวดลายที่สวยกว่า มีลำตัวเป็นเส้นขีดสีคล้ำพาดขวางตลอดทั้งตัวสีเหลืองหรือขาว สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์และสภาวะแวดล้อม จึงเคยเป็นที่นิยมในแวดวงปลาสวยงาม

ในประเทศไทยปลาหมอบัตเตอร์ จัดเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีคนนำพวกมันไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่มีมากมาย ในบางเขื่อนโดยเฉพาะในเขื่อนศรีนครินทร์ คุณจะตกปลาหมอบัตเตอร์ ได้มากกว่าปลานิลซะอีก และมันก็ตัวใหญ่มากด้วย

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version