การค้นพบลูซี่ Lucy (Australopithecus)
ในอดีตเราเชื่อว่ามนุษย์มาจากลิง แม้จะยังไม่สามารถระบุจุดเชื่อมโยงที่ชัดเจนไม่ได้ก็ตาม จนในปี พ.ศ. 2517 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน บริเวณแหล่งขุดค้นฮาดาร์ (Hadar) ประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา นักบรรพชีวินวิทยา ที่นำโดยโดนัลด์ โจฮันสัน (Donald Johanson) ได้ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ ที่เป็นโครงกระดูกรูปร่างคล้ายมนุษย์ โดยซากดึกดำบรรพ์นี้มีสภาพสมบูรณ์ถึง 40% ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักวิจัยสามารถเห็นความเป็นจริงได้มากขึ้น
หลังจากการศึกษาโครงกระดูก นักวิจัยก็พบว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตเพศเมีย มีอายุประมาณ 3.2 ล้านปี และยังแสดงให้เห็นว่ามีส่วนคล้ายกับชิมแปนซี ซึ่งอยู่ในกลุ่มลิงใหญ่ (Ape) และสิ่งนี้ก็มีความสูงประมาณ 1 เมตร หนักประมาณ 29 กิโลกรัม
ทั้งนี้โครงกระดูกถูกระบุในชื่อรหัสว่า AL 288-1 และต่อมาก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อลูซี่ (Lucy) ซึ่งมาจากชื่อเพลง “Lucy in the Sky with Diamond” ของวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งเป็นเพลงที่ทีมงานในช่วงเวลานั้น ชอบเปิดฟังกันในขณะขุดค้นภาคสนาม
เหตุที่ลูซี่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญ นอกจากมีความสมบรูณ์ที่สูง ยังเป็นหลักฐานของจุดเชื่อมต่อของวิวัฒนาการจากวานรสู่มนุษย์ และลูซี่ก็ถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์ ออสตราโลพิเธคัส อฟราเรนซิส (Australopithecus afrerensis) ซึ่งเป็น โฮมินิดส์ (hominids) ในอันดับของไพรเมต ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมใกล้ชิดกับมนุษย์ และอยู่ในสายวิวัฒนาการเดียวกับมนุษย์ ในสกุลโฮโม (Homo spp.)
ลูซี จัดเป็นโฮมินิดที่เดินสองขาในยุคแรกๆ มีลักษณะทั่วไปคล้ายชิมแปนซี และยังมีสมองที่เล็กใกล้เคียงกัน หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของมนุษย์ปัจจุบัน แต่ถึงอย่างงั้นลูซี่ก็ต่างจากชิมแปนซีตรงที่ มีกระดูกเชิงกราน (pelvis) และกระดูกขา (leg bone) ที่มีลักษณะแทบจะเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ลูซีจึงควรจะเดินตัวตรงด้วยขาทั้งสองข้างแบบเดียวกับพวกเรานั้นเอง
สำหรับโครงกระดูกของลูซี่ ได้รับการเคลื่อนย้ายไปในหลายส่วนของโลก ทั้งเพื่อการจัดแสดงและการวิจัย โดยในช่วงหลังๆ ลูซีได้ถูกจัดแสดงที่นิทรรศการ ในดิสคัฟเวอรีไทม์สแควร์นครนิวยอร์ก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม ปี พ.ศ. 2552 จากนั้นก็ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาเม็กซิโก จนกระทั่งกลับมาที่เอธิโอเปียในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2556
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ไพรเมต (Primates) และมนุษย์
ลิง ลิงใหญ่ (Apes) และมนุษย์จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรียกว่าไพรเมต ซึ่งบรรพบุรุษร่วมของเรากับลิง มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 30 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษร่วมกับอุรังอุตัง เมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน และมีบรรพบุรุษร่วมกับชิมแปนซีเมื่อประมาณ 7 ล้านปีก่อน
ต่อมาก็มาถึงกลุ่มของลูซี่ (Australopithecus afarensis) และสายของสกุลโฮโม (Homo spp.) ซึ่งเป็นสายวิวัฒนาการเดียวกันกับมนุษย์ในยุคนี้ และสปีชีส์ต่างๆ เช่น มนุษย์ชวา (Homo erectus) มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) ที่สืบเนื่องต่อกันมาและค่อยๆ สูญพันธุ์ไป จนปัจจุบันเหลือเพียงสปีชีส์เดียว ซึ่งก็คือ มนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens)
แล้วก็เป็นอย่างที่เห็น แท้จริงแล้ว มนุษย์เองก็คล้ายกับสัตว์ทั่วไป ตรงที่ไม่ได้มีลำดับวิวัฒนาการเป็นเส้นตรงเพียงเส้นเดียว เพราะจากหลักฐานเท่าที่ค้นพบในตอนนี้ ทำให้รู้ว่า ในช่วง 2 ล้าน – 1 หมื่นปีก่อน โลกใบนี้ มีมนุษย์อยู่หลายสปีชี่ส์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน จนเมื่อประมาณแสนปีก่อน ก็มีมนุษย์อย่างน้อย 6 สปีชีส์ที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงสปีชีส์ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งพวกเราทุกคนเป็นหนึ่งในสมาชิกของมนุษย์กลุ่มนี้