ปลาข้าวสารคืออะไร?
ปลาข้าวสาร หรือ ปลาซิวข้าวสาร เป็นปลาที่อยู่ในสกุล Oryzias (ออ-รี-เซียส) ซึ่งสื่อถึงปลาที่อาศัยอยู่ในนาข้าว จากหนังสือปลาน้ำจืดไทยได้อธิบายเอาไว้ว่า ปลาข้าวสารที่พบในประเทศไทยจะแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่งจะเป็นปลาข้าวสารขนาดเล็ก มีลำตัวกลมยาว พบในแหล่งน้ำที่จืดสนิท โดยเฉพาะในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำขึ้นอย่างสมบูรณ์และนาข้าว กลุ่มที่สองจะมีขนาดใหญ่กว่า และลำตัวก็แบนข้างมากกว่า มักพบในแหล่งน้ำกร่อย ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพค่อนข้างดีและถูกรบกวนน้อย เป็นปลาที่หากินบริเวณผิวน้ำและอยู่รวมกันเป็นฝูง
ในธรรมชาติปลาข้าวสารจะคอยกินแมลงที่ตกลงบนผิวน้ำ และยังกินสัตว์น้ำขนาดเล็กจนถึงตัวอ่อนแมลงในน้ำเป็นอาหาร พวกมันเป็นปลาเกล็ดขนาดเล็กที่พบได้มากหากเป็นถิ่นอาศัยที่เหมาะสม
ปลาข้าวสารเป็นปลาที่ผสมพันธฺุ์แบบการปฏิสนธิภายใน (Internal Fertilization) โดยกลุ่มไข่จะห้อยติดอยู่กับที่วางไข่ของตัวเมีย หลังจากนั้นตัวเมียก็จะเอาไข่ซึ่งมีเส้นใยไปเกาะเกี่ยวไว้กับพืชใต้น้ำ พวกมันเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ได้ง่าย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ในญี่ปุ่นมีการพัฒนาสายพันธุ์จนเกิดเป็นสีใหม่มากมาย
และในโลกนี้มีปลาข้าวสารอยู่ประมาณ 32 ชนิด พบในประเทศไทย 5 ชนิด แต่ในบางแหล่งข้อมูลก็บอกว่ามี 6 ชนิด ซึ่งรวมเอาปลาข้าวสารญี่ปุ่นเข้าไปด้วย
ชนิดที่ 1 – ปลาข้าวสารชายครุย – Oryzias dancena
ปลาข้าวสารชายครุย เป็นปลาน้ำจืดและน้ำกร่อย ที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง ตัวผู้มีขนาดใหญ่ ก้านครีบยื่นยาวออกมาเป็นชายครุย ชอบอาศัยอยู่กันเป็นฝูงเล็กๆ ตามแหล่งน้ำที่มีพืชชายน้ำขึ้นหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณเขตน้ำกร่อยที่ไหลลงอ่าวไทยและน้ำจืดสนิทในคลองต่างๆ เช่นในคลองบางกรวย
ชนิดที่ 2 – ปลาข้าวสารแคระ – Oryzias minutillus
ปลาข้าวสารแคระ ยาวได้ประมาณ 1.2 เซนติเมตร จัดเป็นหนึ่งในปลาและสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดเล็กที่สุดในไทย มีลำตัวค่อนข้างยาว มีลักษณะโปร่งแสงจนเห็นอวัยวะภายในได้ค่อนข้างชัดเจน ในปลาที่โตเต็มวัยจะมีเส้นสีฟ้าพาดตั้งแต่ปลายปากจนถึงดวงตา ชอบอาศัยรวมกับเป็นฝูงใหญ่ หากินบริเวณผิวน้ำที่นิ่งและมีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น
ถือเป็นปลาที่มีถิ่นอาศัยกว้างใหญ่ที่สุดในปลาข้าวสารที่พบในไทย พบได้เกือบทั่วประเทศยกเว้นลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวินและทางตะนาวศรี
ชนิดที่ 3 – ปลาข้าวสารชวา – Oryzias javanicus
ปลาข้าวสารชวา ยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง รอบตามีสีฟ้า หางมีสีส้มจางๆ บริเวณปลายครีบก้นของปลาเพศผู้ จะมีก้านครีบยื่นออกมาเล็กน้อย แต่ไม่ยาวเท่ากับปลาข้าวสารชายครุย พบได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืดบริเวณลำธารติดทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย
ชนิดที่ 4 – ปลาข้าวสารแม่โขง – Oryzias mekongensis
ปลาข้าวสารแม่โขง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร จึงถือเป็นปลาที่มีขนาดเล็กมากชนิดหนึ่งที่พบในประเทศไทย มีลำตัวค่อนข้างกลม มีแต้มสีดำที่โคนครีบอก ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำขึ้นรก พบกระจายพันธุ์อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เป็นปลาข้าวสารชนิดหายากที่สุดในชนิดที่พบในไทย
ชนิดที่ 5 – ปลาข้าวสารแม่น้ำสงคราม – Oryzias songkhramensis
ปลาข้าวสารแม่น้ำสงคราม ถือเป็นสายพันธุ์ใหม่ของปลาข้าวสาร ถูกค้นพบโดยนักมีนชาวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยปลาตัวอย่างถูกพบในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย
ปลาข้าวสารชนิดนี้มีความยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร มีแถบสีส้มพาดเหนือตาไปจนถึงแนวท้อง มีขอบหางสีส้มสดแต่ไม่มีขอบสีดำเหมือนปลาข้าวสารแม่โขง พบกระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำสงครามและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนของไทย
ปลาข้าวสารญี่ปุ่นเป็นเช่นไร?
สำหรับปลาข้าวสารญี่ปุ่น หรือ เมดากะ (Medaka) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryzias latipes เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร บางข้อมูลระบุว่าปลาชนิดนี้อาจพบได้ในไทยแถวๆ ภาคอีสาน แต่ความถูกต้องของข้อมูลยังไม่ได้รับการยืนยัน
ปลาข้าวสารญี่ปุ่น ขึ้นชื่อในเรื่องความถึกทน ดูแลง่าย เป็นปลาที่ถูกใช้เพื่องานวิจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านชีววิทยา พิษวิทยา และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยจะเลี้ยงเพื่อดูปลาแบบท็อปวิวหรือดูปลาจากด้านบน ซึ่งเหมาะจะเลี้ยงไว้ในบ่อน้ำหรือชามที่ตกแต่งตามศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่น
ปลาข้าวสารญี่ปุ่น ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนมีความสวยงามจะมีราคาที่แพงมาก ในญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงกันมานานแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยก็มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นปลาสวยงาม เลี้ยงง่าย และราคาก็ดี ยังไงถ้าคุณต้องการเลี้ยง แนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดี เพราะปลาชนิดนี้หลายสีหลายราคามากๆ เพราะหากไปซื้อมั่วๆ อาจไปเจอของไม่ดีราคาแพงก็เป็นได้