5 สัตว์น้ำรุกรานไทย ประวัติการมาถึงและตอนนี้เป็นเช่นไร

นี้เป็นเรื่องราวของสัตว์น้ำรุกรานที่เข้ามาในไทย แบบย่อๆ โดยเลือกเอามาให้ดูเพียง 5 ชนิด ตั้งแต่การมาถึงของพวกมัน และตอนนี้พวกมันเป็นเช่นไร ...คลิปท้ายเรื่อง

ปลารุกราน

1. ปลาหมอสีคางดำ – ปลาที่นำเข้าเพื่อเป็นอาหาร

Advertisements

ในไทยมีปลาหมอสีรุกรานหลายชนิด แต่ดูเหมือนปลาหมอสีคางดำ น่าจะเป็นสัตว์รุกรานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในไทย ในบางพื้นที่พวกมันมีเยอะสุดๆ หลายคนถามว่าทำไมไม่กินมันล่ะ? คำตอบคือ ถ้าแค่กิน คุณจะไม่มีวันกินทันมันเกิด ทางเดียวคือต้องกินและจับขายจริงจัง แน่นอนว่าตอนนี้ไม่มีใครรับซื้อปลาหมอสีคางดำจำนวนมาก

ปลาหมอสีคางดำ

การมาถึงไทยของปลาหมอสีคางดำ เริ่มมาจาก บริษัท CPF ในช่วงปี พ.ศ. 2549 พวกเขาได้รับอนุญาติจากกรมประมงให้นำเข้าปลาชนิดนี้เข้าไทยได้ จนในปี พ.ศ. 2553 บริษัทได้แจ้งว่า “ปลาเริ่มตายเเละทำลายซากหมดเเล้ว” และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรุกราน

ในตอนนี้ปลาหมอสีคางดำ จัดเป็นปลาห้ามเลี้ยงเด็ดขาด โดยมีบทลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ปลาซัคเกอร์ – ปลาที่นำเข้าเพื่อเลี้ยงสวยงาม

ปลาดูดกระจก หรือ ปลาซัคเกอร์ ต้องบอกว่ามันไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อหลายปีก่อนแล้ว เนื่องจากปลาชนิดนี้เริ่มถูกคนไทยจับกิน จนในหลายพื้นที่เริ่มหายาก แต่ในบางพื้นที่มันก็ยังเยอะอยู่ดี …ตามประวัติ ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาโดยกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม พวกเขาได้มีการนำเข้าปลาซัคเกอร์มาจากประเทศบราซิล “โดยเจตนาเลี้ยงเพื่อให้มันทำความสะอาดตู้ปลา” ปีที่นำเข้าครั้งแรก อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2520

ปลาซัคเกอร์

แต่ใครจะรู้ว่ามันจะโตแล้วตัวจะใหญ่มาก ด้วยเหตุนี้เมื่อเลี้ยงอยู่สักพัก คนเลี้ยงก็มักจะปล่อยพวกมันสู่แห่งน้ำธรรมชาติ สุดท้ายก็มีเต็มคลอง จนกลายเป็นปลารุกรานอย่างที่เห็นทุกวันนี้

สำหรับตอนนี้กรมประมงได้ประกาศให้เป็นปลาต้องห้าม สำหรับเลี้ยงและจำหน่าย แต่ก็มีเลี้ยงและจำหน่ายอยู่ดี และรณรงค์ให้นำไปปรุงเป็นอาหาร ในปัจจุบันมีผู้นำไปขาย เพื่อเป็นปลาปล่อยตามวัด โดยเรียกว่าปลาราหู”

3. ปลาจาระเม็ดน้ำจืด – ปลาที่นำเข้าเพื่อเป็นอาหาร

สำหรับปลาจาระเม็ดน้ำจืด หรือ ปลาคู้ หรือ ปลาเปคู้ มีประวัติค่อนข้างน่าสนใจ เพราะมันถูกนำเข้ามาโดยกรมประมง ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ 2539 เพราะคิดว่าจะสามารถนำมาเป็นอาหารได้ โดยกรมประมงได้ตั้งชื่อให้พวกมันว่า “ปลาจาระเม็ดน้ำจืด”

แน่นอนว่ามีการส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงเพื่อขาย แต่แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะปลาชนิดนี้โตเร็วเกินไป กินเก่งเกินไป ตัวใหญ่เกินไป และยังก้างเยอะมาก คนไทยจึงไม่นิยมกิน ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นปลาที่ขายไม่ได้ในตลาด

ปลาจาระเม็ดน้ำจืด

Advertisements

แต่ดูเหมือนจะโชคดีเล็กน้อย เพราะปลาชนิดนี้ไปเข้าตานักตกปลาทุนหนา โดยเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ทาง “ฟิชชิ่งเวิลด์” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่มากๆ และในตอนนั้นได้ชื่อว่าเป็นบ่อตกปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้กว้านซื้อปลาชนิดนี้นับแสนตัว เพื่อนำมาปล่อยเอาไว้

จนถึงปี พ.ศ. 2565 ปลาจาระเม็ดน้ำจืดขนาดยักษ์นับแสนตัว ก็ยังคงอยู่ที่ “ฟิชชิ่งเวิลด์” โดยมีการเปิดให้ตกเป็นช่วงๆ ด้วยเหตุนี้ปลาจาระเม็ดน้ำจืดจำนวนมากจึงยังอยู่ในบ่อ และพบไม่มากนักในธรรมชาติ

4. หอยเชอรี่ – นำเข้าเพื่อเลี้ยงสวยงาม

Advertisements

เดิมที “หอยเชอรี่” ถูกนำเข้ามาในฐานะ หอยที่ใช้กำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา ซึ่งเป็นช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2526 โดยหอยเชอรี่ถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ จากนั้นปี พ.ศ. 2530 หอยเชอรี่ก็เริ่มมีคนเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค

แต่มันกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะในตอนนั้นตลาดยังไม่ยอมรับ และคนยังไม่นิยมกิน เลยทำให้หอยขายไม่ได้ จนถึงกับต้องปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หอยเชอรี่ก็กลายเป็นสัตว์รุกรานที่น่ากลัว พวกมันทำลายที่นาอย่างหนัก

หอยเชอรี่

ผ่านไปหลายปี ในที่สุดคนไทยก็เริ่มรู้วิธีกินหอยเชอรี่ให้อร่อย มันได้ถูกควบคุมด้วยเมนูเด็ดของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ก้อยหอยเชอรี่ ยำหอยเชอรี่ และหอยพวกนี้ยังโดนถล่มโดย “นกปากห่าง” ที่ควรจะเป็นนกอพยพ แต่กลับมีบางส่วนที่ย้ายมาอยู่ไทยถาวร และดูเหมือนพวกมันจะมากินหอยโดยเฉพาะ ..สรุปคือตอนนี้ หอยเชอรี่หาได้ยากในธรรมชาติไปซะแล้ว

5. ปลาพีค็อกแบส – นำเข้าเพื่อกีฬาตกปลา

พีค็อกแบสอาจเป็นปลาชนิดแรกในไทย ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อกีฬาตกปลา โดยจุดเริ่มต้นเป็นบ่อตกปลาที่ราชบุรี ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แต่ครั้งนั้นปลายังอยู่ในบ่อและมีจำนวนที่น้อย

หลังจากนั้นไม่นาน ปลาชนิดนี้ก็ถูกนำเข้ามาโดยนักตกปลาชาวไต้หวัน เขาได้นำมันมาปล่อยที่อ่างเก็บน้ำพุหวาย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่จำนวนมาก ..จากวันนั้นพีค็อกแบสชุดแรกๆ เริ่มแพร่ขยายพันธุ์จนเต็มไปหมด ใหม่ๆ ชาวบ้านก็ด่าหาว่าไอ้ลาย ซึ่งเป็นพีค็อกแบสในชื่อไทย มากินปลาเขาไปหมด

ปลาพีค็อกแบส

Advertisements

แต่แล้วก็มีพ่อค้าปลาสวยงามมารับซื้อ ชาวบ้านก็ดีใจเพราะราคาดี แต่ก็ดีใจได้ไม่นาน เพราะพีค็อกแบสเยอะกว่าที่คิดมาก สุดท้ายราคาตกจนไม่มีคนรับซื้อ และมันก็เริ่มขยายไปอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม และแหล่งน้ำเล็กๆ ใกล้เคียง แต่ยังโชคดีที่พวกมันไม่ขยายหนักจนน่ากลัว เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ช้ากว่าพวกปลาหมอสีคางดำ และชาวบ้านตกและจับกินบางส่วน สุดท้ายจึงมีมากในบางพื้นที่เท่านั้น

ขอแถม! ตบท้าย …เป็นเรื่องปลาหมอที่ห้ามเลี้ยงอีก 2 ชนิด

ในไทยมีปลาหมอห้ามเลี้ยงและปรับหนักอยู่ 3 ชนิด ซึ่งหากโดนจับจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท แถมยังอาจติดคุกอีก 1 ปีอีกด้วย โดยปลาหมอที่ว่าคือ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ … สำหรับปลาหมอสีคางดำ ผมได้พูดไปแล้วในข้อแรกเลยไม่ขอพูดซ้ำ

ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid)

Advertisements

ปลาหมอมายัน เป็นปลาที่หากินได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย อยู่ได้ในน้ำที่ออกซิเจนต่ำ ปลาชนิดนี้กินเนื้อ พบการรุกรานไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยจับได้ที่คลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางขุนเทียน และมีการจับได้โดยชาวประมงในปี 2549 โดยใช้ลอบ ข่าย และเบ็ดตกปลา จัดเป็นปลาที่มีอันตรายต่อระบบนิเวศไทยอย่างมาก

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia)

ปลาหมอบัตเตอร์ อยู่ในวงศ์ปลาหมอสีที่มีขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว สำหรับในประเทศไทย ปลาหมอบัตเตอร์นับว่าเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีผู้เลี้ยงนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่ง ในบางเขื่อนตกได้บ่อยกว่าปลานิลด้วยซ้ำ

เอาละก็จบแล้วสำหรับสัตว์น้ำรุกราน คงต้องบอกว่าประเทศไทยมีปัญหากับสัตว์รุกรานน้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อาจเพราะคนไทยมีความสามารถในการกิน การปรุงอาหาร รวมทั้งกฎการจับสัตว์มีความเข้มงวดน้อย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements