ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง
วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย
จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ
สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว
20 เรื่องราวของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ (ที่มา adaybulletin.com )
- เคยอยากสอบเข้าคณะสถาปัตย์ แต่สุดท้ายได้มาเรียนที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เพื่อนเรียกพี่สืบว่า ‘ต่วย’ (ที่มาจากชื่อนิตยสาร ต่วย’ตูน) เพราะเป็นคนวาดรูปเก่ง มีความสามารถในทางศิลปะ มักวาดการ์ตูนล้อเลียนให้เพื่อน
- สืบเป็นคนที่วิ่งเข้าเส้นชัยได้คนแรกๆ ในงานประเพณีงานแข่งวิ่งมาราธอน 15 กิโลเมตร คณะวนศาสตร์ เขาเคยฝึกว่ายน้ำทุกวัน วันละหลายพันเมตร เพื่อไปเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย และยังเป็นนักกีฬาโปโลน้ำของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
- ในบรรดาศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น 35 จำนวนทั้งหมด 120 คน มีคนสนใจงานด้านอนุรักษ์เพียง 5 คนเท่านั้น
- การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี คืองานวิจัยชิ้นแรกของเขา
- สืบเคยส่งบทกลอนเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า–ป่าไม้และได้รางวัล
- พรานที่มาส่องล่าสัตว์กลางคืนถูกจับกุมนับร้อยคนจากฝีมือของสืบ ในช่วงที่เขาทำงานอยู่ที่เขาเขียว
- สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก การบุกรุกทำลายป่า รวมถึงวิดีโอต่างๆ สืบบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน และไม่เคยหวงหากใครอยากนำไปเผยแพร่
- ปี พ.ศ. 2528 เขาเคยไปลงพื้นที่วิจัยชีวิตกวางผากับ ดอกเตอร์แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ออกสำรวจวิจัยกวางผาในวันนั้นทำให้สืบเข้าใจถึงความเสี่ยงอันตรายที่แท้จริงของนักพิทักษ์ป่า
- ครั้งหนึ่งมีงูจงอางพุ่งออกมาจากโพรงไม้ สืบออกเรือตามไปช่วยเพราะงูจะหมดแรงตายก่อนที่จะว่ายข้ามแม่น้ำไปถึงอีกฝั่งทั้งๆ ที่ไม่เคยจับงูพิษมาก่อน ระยะทางจากจุดที่จับงูห่างจากโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง สุดท้ายงูจงอางตัวนั้นก็ถูกยัดลงกระสอบอย่างปลอดภัย
- สืบค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทยระหว่างทำโครงการอพยพสัตว์ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน
- รศ.ดร. นริศ ภูมิภาคพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่าสืบไม่ใช้คำว่า ‘ไอ้-อี’ เรียกใคร แม้แต่กับลูกน้องของตัวเอง
- ตอนที่ ‘ฝน’ – ชินรัตน์ นาคะเสถียร ลูกสาวของสืบ อายุประมาณ 8-9 ขวบ เธอมักจะเห็นพ่อในสภาพที่เหน็ดเหนื่อยตลอด สืบมักจะชวนชินรัตน์คุยเรื่องอาชีพในอนาคต และชวนเก็บฝักจามจุรีข้างทางไปปลูกเมื่อขับรถไปต่างจังหวัด
- สืบเคยยืมเงินแม่เดือนละ 20,000 บาทโดยที่ไม่บอกแม่ว่านำไปจ่ายเงินเดือนให้ลูกน้องเพราะระบบราชการตกเบิกช้า
- เขาเคยจัดดนตรี ‘คนรักป่า’ ขึ้นเพื่อนำเงินมาตัดชุดลาดตระเวนให้ลูกน้อง หรือทำประกันชีวิตให้กับพนักงานพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทุกคน
- สืบตัดสินใจมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแทนการไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
- สืบให้ความรู้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ด้วยการจัดนิทรรศการและทำสื่อต่างๆ จากภาพที่เขาถ่ายเองและล้างอัดเอง และแน่นอนว่าเขาใช้เงินส่วนตัวทุกครั้ง
- เวลาที่เข้าป่า สืบมักจะย้ายไปนอนคนเดียวเพราะรู้ดีว่าตัวเองมีค่าหัว และอาจจะมีคนลอบทำร้ายได้
- ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม สืบเขียนพินัยกรรมและจัดสรรสิ่งของทั้งหมดไว้อย่างเป็นสัดส่วน และข้อความในจดหมายที่เสียบไว้ใต้หมอน สืบเขียนไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”