แร้งประจำถิ่นไทย 3 ชนิด กับการเกิดลูกพญาแร้งตัวแรกในรอบ 30 ปี

ในประเทศไทยมีแร้งที่ถือว่าเป็นนกประจำถิ่นอยู่ 3 ชนิด หนึ่งคือ พญาแร้ง สองคือ แร้งเทาหลังขาว และสามคือ แร้งสีน้ำตาล นกทั้งสามชนิดนี้เคยพบในธรรมชาติของไทยเรา แม้แต่ในกรุงเทพก็มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มาสมัยนี้แร้งที่ถือว่าเป็นนกประจำถิ่นได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติหมดแล้ว และทั้งหมดก็อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ แต่! ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง ที่เมื่อไม่กี่วันก่อน มีรายงานการเกิดของลูกพญาแร้งตัวแรกในรอบ 30 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความหวังใหม่! ที่แร้งเหล่านี้จะได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ต่อไปเป็นเรื่องราวของแร้งประจำถิ่นไทยทั้ง 3 ชนิด และการกำเนิดของลูกพญาแร้งตัวแรก

กำเนิดของลูกพญาแร้งตัวแรกในรอบ 30 ปี

Advertisements

ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องที่น่ายินดีซะหน่อย เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อน มีข่าวการลืมตาดูโลกของลูกพญาแร้ง 1 ตัว! ถามว่า ทำไมจึงน่ายินดี มันก็แค่นกหนึ่งตัว? นั้นเพราะพญาแร้ง เป็นนกที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ในไทยถือว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว จากการประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2564 คาดว่าทั่วโลกมีพญาแร้งเหลืออยู่ระหว่าง 2,500 – 9,000 ตัวเท่านั้น ในไทยเหลือไม่ถึง 10 ตัวในกรง

สำหรับลูกของพญาแร้งตัวนี้ เริ่มต้นมาจาก ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พวกมันถูกนำมาใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟู ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด

แร้งทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันประมาณ 2 ปี ตลอดเวลาเจ้าหน้าที่ก็พยายามสร้างบรรยากาศ กระตุ้น และทำทุกวิถีทางให้ทั้งคู่ได้ผสมพันธุ์กัน จนในที่สุดทั้งสองก็ได้เริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2566 และมีการผสมพันธุ์หลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง จนถึงวันนี้ 9 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2567 ภาพจากกล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะลูกนกได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก

แร้งประจำถิ่น 3 ชนิดในไทย

อย่างที่บอกเอาไว้ว่า แร้งประจำถิ่นในไทยมีทั้งหมด 3 ชนิด ซึ่งทั้งหมดถือว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของไทยแล้ว แม้ว่าแร้งพวกนี้จะถือว่าเป็นนกนักล่าที่กินเนื้อ พวกมันก็ไม่ได้ล่าสัตว์ตัวเป็นๆ แต่จะกินซากของสัตว์ที่ตายไปแล้ว มันเป็นดัง “เทศบาลประจำผืนป่า”

แต่เพราะการกินซากของพวกมัน ก็เป็นจุดอ่อนร้ายแรงที่ทำให้นกเหล่านี้ต้องตายทีละจำนวนมาก เนื่องจากในสังคมสมัยใหม่ การใช้ยาบางชนิดเพื่อเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ ถือว่าเป็นพิษสูงต่อแร้ง ในกัมพูชามีการใช้ยาพิษเพื่อจับปลาหรือนกน้ำที่อยู่ตามแอ่งน้ำ และพิษได้ไปตกค้างอยู่ในซากปลาที่ตาย สุดท้ายแร้งมากิน พวกมันก็ตาย!

Advertisements

ในกรณีของไทย มีเรื่องราวที่ชื่อเสียงอย่างมากคือ “การตายของพญาแร้งฝูงสุดท้ายของไทย” มันเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 แร้งฝูงสุดท้ายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตายทั้งหมด!

ยาฆ่าแมลงในซากเก้ง ที่พรานล่าสัตว์ป่าใช้เป็นยาเบื่อใส่ไว้ หวังที่จะวางยาเบื่อเสือโคร่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พญาแร้งในป่าห้วยขาแข้ง ตายไป 30 กว่าตัว ทำให้พญาแร้งลดจำนวนลงและไม่พบในป่าห้วยขาแข้งอีกเลย … ปัจจุบันมีพญาแร้งหลงเหลืออยู่ในการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย (สวนสัตว์และสถานีเพาะเลี้ยง) 6 ตัว ภายใต้ “โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” …ต่อไปรู้จักกับแร้งทั้ง 3 ชนิดกัน

ชนิดที่ 1 – พญาแร้ง (Red Headed Vulture)

พญาแร้ง (Sarcogyps calvus) จัดเป็นแร้งขนาดใหญ่ เป็นนกเพียงชนิดเดียวในสกุล ซาร์โคยิปส์ (Sarcogyps) ขนาดเมื่อโตเต็มที่จะอยู่ที่ประมาณ 80 เซนติเมตร หนัก 3 – 6 กิโลกรัม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน เมื่อโตเต็มที่หัวและคอเปลือยมีสีแดงถึงส้ม เท้ามีสีแดง ขนตามลำตัวสีดำ ปีกมีแถบสีขาว–เทา ที่หน้าอกและโคนขามีสีขาว ที่คอมีสีขาวขึ้นโดยรอบมองดูคล้ายสวมพวงมาลัย ตัวที่ยังไม่โตเต็มที่ ขนบริเวณหัวและอกมีสีขาว ปีกสีน้ำตาล

พบในทวีปเอเชีย พบมากในภูมิภาคเอเชียใต้, จีน, พม่า จนถึงภูมิภาคอินโดจีน สำหรับในประเทศไทยในอดีตพบอยู่เกือบทุกภาคยกเว้นภาคอีสานและภาคตะวันออก แต่ในปัจจุบันพบเห็นได้ยากมากแล้ว และไม่มีรายงานพบมานานกว่า 2 ทศวรรษ คาดว่าสูญพันธ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

ชนิดที่ 2 – แร้งเทาหลังขาว (White-rumped vulture)

Advertisements

แร้งเทาหลังขาว (Gyps bengalensis) จัดอยู่ในสกุลยิปซี (Gyps) มีขนาดประมาณ 90 เซนติเมตร สีลำตัวดำแกมสีน้ำตาล บริเวณส่วนหัวและลำคอไม่มีขนปกคลุมเป็น แผ่นหลังสีคล้ำตอนล่างของคอมีขนเป็นวงสีขาวรอบหลังตอนล่างและโคนหางสีขาวเด่นชัดบริเวณด้านในของต้นขามีแต้มสีขาวซึ่งจะเห็นได้ชัดขณะเกาะยืน นกอายุน้อยลำตัวสีน้ำตาลออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้มไม่มีแถบสีขาวเลย

Advertisements

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภูมิภาคเอเชียใต้, จีน และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย แร้งเทาหลังขาวเป็นนกที่หาดูได้ยากมาก

ชนิดที่ 3 – แร้งสีน้ำตาล (Slender-billed Vulture)

แร้งสีน้ำตาล (Gyps indicus) เป็นแร้งที่อยู่ในสกุลเดียวกับแร้งเทาหลังขาว มีขนาดตัวประมาณ 90 เซนติเมตร ขนตามลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน ขอบขนเป็นสีจาง ๆ ส่วนท้องมีสีน้ำตาลอ่อน แผงขนรอบต้นคอเป็นขนอุยหรือขนอ่อนสีน้ำตาล มีจะงอยปากที่งุ้มเรียวกว่าแร้งชนิดอื่น

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภูมิภาคอินโดจีน มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ในประเทศไทยถือว่าพบเห็นได้ยากมาก โดยพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ที่จังหวัดพัทลุง และต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 พบอีกตัวที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นลูกนกที่ยังไม่โตเต็มวัย ความจริงมีรายงานการพบแร้งชนิดนี้ในไทยเพียง 5 ตัวเท่านั้น

นอกจากแร้งทั้ง 3 ชนิดนี้ ยังมีแร้งอีก 2 ชนิดที่ถือเป็นเป็นแร้งอพยพ คือ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Himalayan Griffon Vulture) และ แร้งดำหิมาลัย (Cinereous Vulture) ทั้งสองชนิดถือว่ามีประชากรที่ดูดีกว่าแร้งทั้ง 3 ชนิดที่พบในไทยมาก

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements