ประเทศไทยประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือที่เรียกว่าเอเลียนสปีชีส์ หรือก็คือปลาที่ไม่ได้ไม่ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดีจะจนเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้ดี จนทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิมของไทย จนถึงขั้นทำความเสียหายต่อปลาดังเดิมของไทยอีกด้วย
กรมประมงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้
สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย คือ
- ปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron)
- ปลาหมอ มายัน (Cichlasoma urophthalmus)
- ปลาหมอ บัตเตอร์ (Heterotilapia buttikoferi)
ประกาศฉบับดังกล่าวจะมีแนวทางปฏิบัติหลักๆ ที่สำคัญดังนี้
- กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่
กรมประมงโดยด่วน - กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
- กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
- กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงต่อไป
- ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558
สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ปลาหมอสีคางดำ
ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) เป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาเพื่อทดลองเลี้ยงตั้งแต่ปี 2553 มันได้หลุดออกจากฟาร์มทดลองเลี้ยงในปีเดียวกัน ขณะนี้ได้ระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในวงกว้าง จนทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องลงไปแก้ปัญหากันเลยทีเดียว
การระบาดของปลาหมอสีคางดำเริ่มส่งผลกระทบประมาณปี 2555 ในพื้นที่ อ.เขาย้อย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และพื้นที่ อ.อัมพวาและ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ทั้งนี้ เนื่องจากปลาชนิดดังกล่าวเป็นสัตว์กินเนื้อ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด ทำให้กุ้งและปลาชนิดอื่นที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ถูกกินและสูญหายไปจำนวนมาก
ปลาหมอมายัน
ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) เป็นปลาที่หากินได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย หากินตามพื้นท้องน้ำ ชอบอยู่เขตร้อน เป็นปลาขนาดกลาง มีขนาดตั้งแต่ 8 – 22 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุด 600 กรัม เป็นปลาที่อยู่ได้แม้ออกซิเจนต่ำ ปลาชนิดนี้กินเนื้อ เช่นลูกปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก มีนิสัยดุร้าย หวงถิ่น
พบการรุกรานในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยจับได้ที่คลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางขุนเทียน และมีการจับได้โดยชาวประมงในปี 2549 โดยใช้ลอบ ข่าย และเบ็ดตกปลา จัดเป็นปลาที่มีอันตรายต่อระบบนิเวศไทยอย่างมาก
ปลาหมอ บัตเตอร์
ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) เป็นหนึ่งในปลาหมอที่นักตกปลารู้จักกันดี เพราะกันค่อนข้างบ่อย จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ มีสีสันลวดลายสวยงาม ลำตัวเป็นเส้นขีดสีคล้ำพาดขวางตลอดทั้งตัวสีเหลืองหรือขาว สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์และสภาวะแวดล้อม
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร โดยลายจะจางลงไปเมื่อปลาโตเต็มที่ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก และพบมากที่สุดที่ประเทศไลบีเรีย มีอุปนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว สำหรับในประเทศไทย ปลาหมอบัตเตอร์นับว่าเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีผู้เลี้ยงแล้วนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งไปแล้ว เช่นเดียวกับปลานิล
ปลาบู่ คนไทยไม่นิยมกิน เหตุเพราะนิทานปลาบู่ทอง?
จับคนใช้ไอ้โง่ โดนทั้งยึดทั้งปรับ