ชนิดที่ 1 – เต่ากระอาน – Batagur baska
เต่ากระอาน เป็นเต่าที่มีจมูกเชิด ตาสีขาว เท้าหน้าแผ่แบนมีผังผืด มี 4 เล็บ ขาสีเทาหรือดํา อาจมีสีแดงที่ฐานของขาหน้า กระดองส่วนหลังเรียบ สีเทาหรือดํา กระดองยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร และจะใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่ ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย
เต่าชนิดนี้อาศัยอยู่ทางใต้สุดของประเทศไทย เคยพบมากมายในแหล่งนํ้าจืดและบริเวณปากแม่นํ้าที่เป็นน้ำกร่อยป่าชายเลน โดยเฉพาะที่คลองละงู จังหวัดสตูล เป็นเต่าที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ จัดเป็นเต่าที่หายากมากและอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 2 – เต่าลายตีนเป็ด – Callagur borneoensis
เต่าลายตีนเป็ด เป็นเต่าที่มีกระดองค่อนข้างกลม ขนาดกระดองยาวประมาณ 60 เซนติเมตร กระดองสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีดำตามยาว 3 เส้น หัวสีน้ำตาลมีแถบสีขาว ขามีสีเทา กระดองส่วนท้องสีขาวหรือสีครีม และขาหน้ามี 5 เล็บ
เต่าชนิดนี้อาศัยอยู่ทางใต้สุดของไทย ซึ่งจะพบได้ตามแนวฝั่งทะเลทั้งสองด้าน แต่ปัจจุบันพวกมันจำนวนลดลงไปอย่างมาก จนคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากฝั่งอ่าวไทยแล้ว เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนเป็นหลักและจะวางไข่บนชายหาดริมแม่น้ำหรือชายฝั่ง อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 3 – เต่าปูลู – Platysternon megacephalum
เต่าปูลู เป็นเต่ากินเนื้อที่มีรูปร่างแตกต่างไปจากเต่าชนิดอื่นที่พบในไทย มันมีหัวที่โต จงอยปากงุ้มแหลมคล้ายปากนกแก้ว เล็บมีความแหลมคมมาก มีหางที่ยาวมาก และเกือบจะไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองที่เรียวยาวได้ เต่าปูลูตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกคือตัวที่พบในจังหวัดลำปาง มีน้ำหนัก 910 กรัม ความยาวกระดอง 18.7 เซนติเมตร มีหางยาว 23 เซนติเมตร
เป็นเต่าที่พบในลำธารน้ำตกบนภูเขาหรือป่าดิบชื้น ในประเทศไทยนอกจากที่จังหวัดลำปางแล้ว เต่าปูลูยังพบได้ที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อุทยานแห่งชาติคลองตรอน ในจังหวัดพิษณุโลกพบที่อำเภอนครไทย จังหวัดน่านพบที่ป่าห้วยหลวง อุทยานแห่งชาติขุนน่าน และ อุทยานแห่งชาตินันทบุรี รวมถึงอีกหลายที่ในภาคเหนือ …จัดเป็นเต่าอีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 4 – เต่าจัน – Pyxidea mouhotii
เต่าจัน มีกระดองหลังสีน้ำตาลแดง กระดองท้องสีเหลือง หัวสีนํ้าตาลหรือส้มและมีจุดสีนํ้าตาลแดง ขาดํา หนังดํา แผ่นเกล็ดเหนือต้นคอมีขนาดเล็กมาก กระดองล่างส่วนหน้าพับได้ กระดองหลังโค้งสูงและมีสันอยู่กลางแผ่นเกล็ดสันหลัง ส่วนบนของแผ่นเกล็ดชายโครงหักมุมลงมายังด้านขอบกระดอง ทําให้กระดองหลังดูคล้ายกับหลังคา กระดองหลังยาวประมาณ 17 เซนติเมตร
เป็นเต่าที่พบได้ทางภาคเหนือของไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นเต่าที่อยู่ในกลุ่มเต่าน้ำจืดแต่ชอบอยู่บนบกมากกว่า โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาและที่ราบต่ำ กินได้ทั้งพืชและสัตว์ …จัดเป็นเต่าอีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์
ชนิดที่ 5 – เต่าดำ – Siebenrockiella crassicollis
เต่าดำ เป็นเต่าขนาดเล็กที่กระดองหลังยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวแบน มีกระดองสีดำ หัว หางและขามีสีดำ มีผังผืดที่ขา ลักษณะเด่นคือ มีแต้มสีขาวเหนือตาแก้มและตามใบหน้าอีกหลายแห่ง
ชอบอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่ไหลช้าจนถึงน้ำนิ่ง เป็นเต่าที่พบได้ทั่วไทยแต่จะพบมากทางภาคกลางและภาคใต้ กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เป็นเต่าที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 6 – เต่าทับทิม – Notochelys platynota
เต่าทับทิม มีกระดองหลังที่แบนด้านบนและมีหนามเล็กๆ อยู่บนหลัง กระดองหลังของเต่าวัยอ่อนจะมีสีเหลือง เขียว หรือสีส้ม มีจุดสีดำ 2 จุดบนแผ่นเกล็ดสันหลัง และมีหนามที่เห็นได้ชัด บริเวณของด้านท้ายกระดองบริเวณส่วนล่างสามารถขยับได้เล็กน้อย
เป็นเต่าที่พบในพื้นที่ป่าทางภาคใต้สุดของไทย เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ชอบอยู่ป่าดิบรกและมีแหล่งน้ำตื้นที่น้ำไหลไม่แรงจนถึงน้ำนิ่ง เป็นเต่าได้ทั้งพืชและเนื้อ อยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 7 – เต่านาหัวใหญ่ – Malayemys macrocephala
เต่านาหัวใหญ่ มีลักษณะกระดองหลังสีน้ำตาลอ่อน หัวมีสีดำมีลายสีขาวเป็นเส้นใหญ่จากจมูกผ่านนัยน์ตาตอนบน และจากปากผ่านนัยน์ตาตอนล่าง 2 ขีด มีลายขาวที่แก้ม ซึ่งลายเส้นขาวขนาดใหญ่นี้ถือเป็นจุดเด่นของเต่าชนิดนี้ ผิวหนังทั่วไปและขามีสีเทาดำ ความยาวกระดองเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร
เต่าชนิดนี้ถือเป็นเต่าที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตั้งแต่นาข้าว, ท้องร่องสวน หรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นเต่ากินเนื้อที่ชอบกินหอยน้ำจืด กุ้ง ปู อยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 8 – เต่านาอีสาน – Malayemys subtrijuga
เต่านาอีสาน เป็นเต่านาอีกชนิดที่แยกออกมาเมื่อปี 2004 มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเต่านาหัวใหญ่ ซึ่งเป็นเต่านาอีกชนิด แต่ที่ต่างกันคือมีขีดตามแนวตั้งใต้จมูก 4-5 ขีด ซึ่งมีมากกว่าเต่านาหัวใหญ่ และเส้นขีดที่นัยน์ตาจะเล็กกว่า รวมทั้งมีรูปร่างที่เล็กกว่าด้วย
เป็นเต่าที่มีพบในภาคอีสานของประเทศไทย พบได้ทั่วไปในพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ รวมถึง นาข้าว ท้องร่องสวน ชอบกินหอยน้ำจืด กุ้ง ปู อยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 9 – เต่าหก – Manouria emys
เต่าหก จัดเป็นเต่าบกที่มีกระดองส่วนบนกลมมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ มีเดือยจำนวนมากบริเวณขาและส่วนบน กระดองส่วนล่างบริเวณใต้คอยื่นไปข้างหน้า มีแผ่นเกล็ด 2 แผ่นเหนือหาง กระดองหลังยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร
ทั้งนี้เต่าหกมีอยู่ 2 ชนิดคือ เต่าหกเหลือง พบที่ภาคใต้ของไทย และเต่าหกดำ ซึ่งมีกระดองสีเข้มกว่าและใหญ่กว่าเต่าหกเหลือง โดยเต่าหกดำจัดเป็นเต่าบกขนาดใหญ่ที่สุด อันดับ 4 ของโลก เป็นเต่าที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 10 – เต่าหับ – Cuora amboinensis
เต่าหับมีรูปร่างคล้ายเต่านา แต่มีกระดองโค้งนูนสูงกว่าและกระดองก็ดูราบเรียบกว่า ใต้ท้องแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งเรียกว่า “แผ่น” หรือ “หับ” สามารถเก็บขา หัว และหางเข้ากระดองได้มิดชิด หัวมีขนาดเล็กสีเหลืองมีลวดลายสีดำ กระดองสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีขาวหรือสีเหลือง ขามีผังผืด กระดองหลังยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร
เป็นเต่าที่พบได้บ่อยทางภาคใต้และภาคกลางของไทย ในแหล่งน้ำและบนบก โดยเฉพาะในลำธารและบึงของป่า นาข้าว และทางน้ำเล็กๆ ตามป่าชายเลน บางครั้งก็พบอยู่ไกลจากแหล่งน้ำมาก กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 11 – เต่าเหลือง – Indotestudo elongata
เต่าเหลือง เป็นเต่าบกขนาดกลาง มีกระดองโค้งสูง ทั่วตัวมีสีขาวหรือเหลืองเป็นส่วนใหญ่ มีแต้มสีดำประปราย ขอบกระดองของบางตัวมีสีเหลืองใสดูคล้ายขี้ผึ้งหรือเทียน ในบางตัวเมื่อโตเต็มวัยอาจมีสีน้ำตาลแก่ปน ขามีสีเทาดำ ขาหน้ามีเกล็ดใหญ่อยู่ด้านบน ขาหลังสั้นทู่ ขาหน้าและขาหลังไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว แต่มีนิ้วแข็งแรงมาก ตัวผู้จะมีเกล็ดกระดองเว้าและลึก ขณะที่ตัวเมียจะราบเรียบกว่า
ในประเทศไทยพบเต่าชนิดนี้ได้ทุกภาค โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาและพื้นที่สูง มักพบบริเวณที่แห้งและป่าโปร่ง เป็นเต่าที่กินพืชเป็นหลัก อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ยังพบพวกมันได้ค่อนข้างง่ายที่หมู่บ้านบ้านกอก จังหวัดขอนแก่น พวกมันอาศัยและเดินไปเดินมาทั่วไปในหมู่บ้าน โดยที่ชาวบ้านจะไม่ทำอันตรายพวกมัน
ชนิดที่ 12 – เต่าใบไม้ – Cyclemys dentata
เต่าใบไม้ หรือ เต่าแดง มีกระดองส่วนล่างคล้ายบานพับ แต่จะปิดได้เฉพาะตอนหน้า หัวมีสีน้ำตาลแดง หรือสีเขียวมะกอก ด้านบนสุดของหัวอาจมีจุดสีดำ และด้านข้างของใบหน้าอาจมีแถบสีเหลือง หรือชมพู กระดองส่วนล่างสีจาง มีเส้นเป็นแนวรัศมี กระดองส่วนบนได้ประมาณ 22 เซนติเมตร
ในประเทศไทยพบอยู่ทั่วไปในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือลำธารในป่า กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เป็นเต่าที่อยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 13 – เต่าหวาย – Heosemys grandis
เต่าหวาย กระดองส่วนบนจะดูคล้ายหนาม บริเวณที่ยกขึ้นของแผ่นเกล็ดสันหลังบนเส้นกลางของกระดองส่วนบนจะมีสีจาง กระดองส่วนล่างมีสีเหลือง และมีเส้นสีดำเป็นแนวรัศมีออกจากตุ่มสีดำบนแผ่นเกล็ดแต่ละแผ่น เส้นสีดำบางครั้งหายไปเมื่อเต่าอายุมากขึ้น หัวมีสีส้มอ่อนมีจุดหรือขีดสีดำจาง ลักษณะรอยต่อระหว่างแผ่นเกล็ดต้นขาและแผ่นเกล็ดทวารเป็นเส้นตรง กระดองส่วนล่างไม่เป็นบานพับ กระดองหลังยาวได้ประมาณ 48 เชนติเมตร
ในประเทศไทยพบเต่าชนิดนี้ได้ในบริเวณที่ราบต่ำ และเนินเขาทางภาควันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ เป็นเต่าที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 14 – เต่าจักร – Heosemys spinosa
เต่าจักร หรือ เต่าหนาม กระดองหลังมีสีน้ำตาลแดง ในเต่าวัยอ่อนจะมีแผ่นเกล็ดขอบกระดองแต่ละชิ้นคล้ายหนาม 1 หนาม ซึ่งดูคล้ายจักร อันเป็นที่มาของชื่อ ยกเว้นแผ่นเกล็ดขอบกระดอง ที่ 4 ที่ 5 จะมี 2 หนาม ซึ่งหนามที่ปรากฏในลูกเต่าจะค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้น กระดองท้องและด้านข้างแผ่นเกล็ดขอบกระดองออกสีเหลืองหรือสีส้ม และมีเส้นลายสีน้ำตาลดำ ขาสีน้ำตาลดำเกล็ดลำตัวออกสีชมพูอ่อน ผิวสีน้ำตาลเทา ส่วนหัวสีน้ำตาล
ในไทยพบเต่าชนิดนี้บริเวณภาคใต้ เช่น ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ระนอง ชอบอยู่ในพื้นที่ชุ่มชื้นของป่าดิบ และอยู่บนบกไม่ชอบลงน้ำ หากเลี้ยงในน้ำจะตาย อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 15 – เต่าบัว – Hieremys annandalii
เต่าบัว ในเต่าที่โตเต็มวัยจะมี กระดองหลังยกสูงและยาวไม่มีสันนูน หัวมีสีเทาและมีจุดประสีเหลืองและดำเล็กๆ มีกรามสีเหลือง กระดองส่วนล่างมีสีเหลือง และมีแต้มสีดำบนแผ่นเกล็ดและมีลักษณะเหมือนรอยเปื้อน แต่กระดองจะเป็นสีดำทั้งหมดเมื่ออายุมากขึ้น เต่าบัววัยอ่อนจะมีกระดองหลังที่แบนกลมและมีสันเหลืองที่แผ่นเกล็ดสันหลัง กระดองส่วนบนยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร
ในประเทศไทยพบเต่าชนิดนี้บริเวณที่ราบต่ำของภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ชอบอยู่ในแหล่งน้ำ หนองน้ำ บ่อน้ำ และแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลช้าหรือน้ำนิ่งในบริเวณที่ราบ และยังสามารถอยู่รอดได้บริเวณน้ำกร่อย อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชนิดที่ 16 – เต่าเดือย – Manouria impressa
เต่าเดือย จัดเป็นเต่าที่มีกระดองสวยงามมากที่สุดชนิดหนึ่ง กระดองส่วนบนมีลักษณะแบนด้านบน มีขาหลังคล้ายเท้าช้าง มีเดือยคล้ายไก่ 1 เดือยระหว่างโคนขาหลังและโคนหาง แผ่นเกล็ดใต้คอมีขนาดเล็ก แผ่นเกล็ดท้องมีขนาดใหญ่ มีแผ่นเกล็ดที่กระดองหลังบางแผ่นจะดูโปร่งแสง แผ่นเกล็ดสันหลังและแผ่นเกล็ดชายโครงยุบลงมาเล็กน้อย กระดองหลังยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
พบเต่าชนิดนี้ตั้งแต่ชายแดนของประเทศไทยแถบจังหวัดตราด ต่อเนื่องไปตามแนวเทือกเขาไปจนถึง ประเทศกัมพูชาภาคตะวันตก เป็นเต่าที่ชอบอยู่ที่ความสูงประมาณ 800 เมตร เคยพบสูงที่สุดที่ 2000 เมตร อยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ก็ครบทั้ง 16 ชนิดแล้ว และก็เป็นอย่างที่เห็นเต่าทั้งหมดนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หากต้องการเลี้ยงพวกมันคุณต้องศึกษาข้อกฎหมายกันเล็กน้อย เพราะเสี่ยงที่จะโดนปรับได้หรือแย่หน่อยก็โดนโยนเข้ากรง
และอีกสิ่งที่ผมอยากให้ทำความเข้าใจเต่าพวกนี้คือ ไม่ใช่เต่าทุกชนิดจะชอบน้ำ หลายชนิดเป็นเต่าบกแท้ พวกมันอาจจะตายหากอยู่ในน้ำที่ลึกแค่ท่วมกระดอง และความจริงไม่มีเต่าน้ำเต็มตัว เพราะแม้มันจะได้ชื่อว่าเป็นเต่าน้ำ แต่ก็ต้องขึ้นมาบนบก พวกมันว่ายน้ำไม่เก่งเหมือนเต่าทะเล มันจะตายหากคุณเอาเต่าพวกนี้ไปปล่อยในแม่น้ำที่ลึกและไหลแรง ด้วยเหตุนี้จึงอยากแนะนำว่า ถ้าอยากทำบุญปล่อยเต่า โปรดอย่าปล่อยเต่าลงในแม่น้ำ