Advertisement
Home บทความพิเศษ 15 ปลาซิว ‘ธรรมชาติ’ ที่พบได้ในไทย

15 ปลาซิว ‘ธรรมชาติ’ ที่พบได้ในไทย

หากพูดถึง "ปลาซิว" จะต้องคิดถึงปลาน้ำจืดตัวเล็กๆ อย่างแน่นอน แต่จริงๆ แล้วปลาจำพวกปลาซิวมีตัวใหญ่รวมอยู่ด้วย อย่างเช่น ปลาบ้าที่ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร แต่ในเรื่องนี้ผมจะพูดถึงเฉพาะปลาที่มีชื่อนำหน้าว่า "ปลาซิว" และพบได้ในประเทศไทย โดยจะเอามาให้ดู 15 ชนิด ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืม กดติดตาม กดกระดิ่ง คอมเมนท์ เป็นกำลังใจกันนะครับ

ชนิดที่ 1 – ปลาซิวข้าวสาร – Oryzias minutillus

ปลาซิวข้าวสาร (Dwarf medaka) เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาว ตาโต จะงอยปากเรียว ปากเล็ก ลำตัวใสและมีสีน้ำตาลอ่อน ในส่วนรอบตาและท้องจะเหลือบสีฟ้าเงิน เป็นปลาที่ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร จัดเป็นหนึ่งในปลาที่เรียกว่าปลาในนาข้าว ซึ่งจะอาศัยอยู่เป็นฝูงในแหล่งนิ่งที่มีหญ้าและพืชน้ำหนาแน่น รวมถึงพื้นที่ในป่าพรุ และแม้ปลาชิวชนิดนี้จะไม่สวยนัก แ ต่ก็ถูกจับมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ปลาซิวข้าวสาร (Dwarf medaka) / Oryzias minutillus (SMITH, 1945)

ชนิดที่ 2 – ปลาซิวข้าวสารแม่น้ำสงคราม – Oryzias songkhramensis

สำหรับปลาซิวชนิดนี้ ถือเป็นปลาซิวชนิดใหม่ ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย และถูกอธิบายในปี 2010โดย ดร.วิเชียร มากตุ่น มันเป็นปลาที่ถูกพบในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย นอกจากนี้แล้วยังพบในเขตประเทศลาว

ปลาซิวข้าวสารแม่น้ำสงคราม / Oryzias songkhramensis (MAGTOON, 2010)

โดยปลาชิวชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก มันมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีลำตัวสีทองแวววาว มักจะอาศัยอยู่เป็นฝูงในนาข้าว ซึ่งจะกินตัวอ่อนยุงและตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร

ชนิดที่ 3 – ปลาซิวเพชรน้อย – Boraras maculates

ปลาซิวเพชรน้อย (Dwarf rasbora) เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาว หัวโต ตาโต ปากเล็ก มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ เส้นข้างลำตัวดูไม่ค่อยสมบรูณ์ มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีแดงส้ม มีจุดสีคล้ำที่เหนือครีบอก ครีบก้นและที่โคนหาง มีขนาดใหญ่สุดประมาณ 2 เซนติเมตร

ปลาซิวเพชรน้อย (Dwarf rasbora) / Boraras maculates (Duncker, 1904)

ปลาซิลเพชรน้อยเป็นปลาที่อาศัยกันเป็นฝูงเล็กๆ ชอบปะปนอยู่กับปลาซิวชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณป่าพรุ พบได้น้อยในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส แม้ปลาชนิดนี้จะเป็นปลาซิวที่สวยและแปลก แต่ก็เลี้ยงได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องปรับคุณภาพน้ำให้ใกล้เคียงกับน้ำในป่าพรุ

ชนิดที่ 4 – ปลาซิวใบไผ่มุก – Danio albolineatus

ปลาซิวใบไผ่มุก หรือ ปลาซิวใบไผ่เล็ก หรือ ปลาซิวเจ็ดสี (Pearl danio) เป็นปลาซิวที่มีขนาดประมาณ 3.5 เซนติเมตร ลำตัวยาวและแบนข้าง ลำตัวส่วนบนมีสีเทาอมชมพู ส่วนท้องดูเป็นประกายสีเขียวสดใส ด้านข้างลำตัวสีชมพูปนเงิน …เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำสาละวิน, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง และแม่น้ำต่าง ๆ ในภาคใต้ รวมถึงแหล่งน้ำในป่าพรุด้วย มักจะหลบอยู่ใต้ซากใบไม้

ปลาซิวใบไผ่มุก หรือ ปลาซิวใบไผ่เล็ก หรือ ปลาซิวเจ็ดสี (Pearl danio) / Danio albolineatus (Blyth, 1860)

ชนิดที่ 5 – ปลาซิวใบไผ่ – Devario regina

ปลาซิวใบไผ่ หรือ ปลาจุกกี หรือ ปลาซิวใบไผ่ราชินี (Blue Danio, Queen danio) เป็นปลาที่มีขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร มีลำตัวกลมเรียวยาว พื้นลำตัวสีเทาอ่อน มีเส้นเหลืองเข้มยาวตลอดลำตัว กลางตัวเป็นสีเหลือบฟ้า ท้องสีขาววาว ด้านบนสีเหลืองคล้ำ เป็นปลาที่พบในน้ำตก ลำธาร ลำห้วย

ปลาซิวใบไผ่ หรือ ปลาจุกกี หรือ ปลาซิวใบไผ่ราชินี (Blue Danio, Queen danio) / Devario regina (Fowler, 1934)

ชนิดที่ 6 – ปลาซิวหนวดยาว – Esomus metallicus

ปลาซิวหนวดยาว (Striped flying barb) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย ปากกว้างเฉียงขึ้นด้านบน มีหนวดสองคู่ โดยคู่บนขากรรไกรจะยาวมาก ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวไปจนถึงโคนหาง เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดของไทย

ปลาซิวหนวดยาว (Striped flying barb) / Esomus metallicus (Ahl, 1923)

ชนิดที่ 7 – ปลาซิวหางแดง – Rasbora borapetensis

ปลาซิวหางแดง หรือ ปลาซิวแถบดำ หรือ ปลาซิวบอระเพ็ด (Blackline rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็ก ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวตลอดลำตัวและยังมีแถบสีทองขนาบด้านบน เป็นปลาที่มีครีบใส แต่ตรงโคนหางจะมีสีแดงสด

ปลาซิวหางแดง หรือ ปลาซิวแถบดำ หรือ ปลาซิวบอระเพ็ด (Blackline rasbora) / Rasbora borapetensis (Smith, 1934)

ปลาซิวชนิดนี้จะอยู่กันเป็นฝูงในแหล่งน้ำนิ่ง และบริเวณน้ำหลาก พบได้ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง ภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซียและสิงคโปร์

ชนิดที่ 8 – ปลาซิวทอง – Rasbora einthovenii

ปลาซิวทอง (Brilliant rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 8 เซนติเมตร มีรูปร่างทรงกระบอกเรียวแบนข้างเล็กน้อย มีครีบหลังตั้งอยู่กึ่งกลางลำตัว ครีบหางเว้าลึก ตาโต หลังมีสีเทา ลำตัวสีขาวเงินสะท้อนแสง เกล็ดมีขอบสีดำ มีแถบสีดำพาดยาวผ่านนัยน์ตาไปสิ้นสุดที่ปลายครีบหาง

ปลาซิวทอง (Brilliant rasbora) / Rasbora einthovenii (Bleeker, 1851)

เป็นปลาที่พบในแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และปัจจุบันจะพบได้ที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม และเป็นหนึ่งในปลาซิวที่พบได้ยากในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ชนิดที่ 9 – ปลาซิวควาย – Rasbora myersi

ปลาซิวควาย (Myer’s silver rasbora) เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำลำธารเกือบทุกภาคในประเทศไทย รวมถึงลุ่มบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เป็นปลาที่ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวยาวทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็กไม่มีหนวด ตาโต ลำตัวมีสีเหลืองอ่อนอมทอง มีแถบสีเงินพาดตามความยาวกลางลำตัวจนถึงโคนหาง ครีบสีเหลืองอ่อนและมีขอบสีคล้ำ

ปลาซิวควาย (Myer’s silver rasbora) / Rasbora myersi (Brittan, 1954)

เป็นหนึ่งในปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมนำมาประกอบอาหาร ทำปลาร้าหรือปลาแห้ง และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ชนิดที่ 10 – ปลาซิวแถบเหลือง – Rasbora pauciperforata

ปลาซิวแถบเหลือง หรือ ปลาซิวแถบทอง (Redstripe rasbora) ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างผอมยาว มีเกล็ดใหญ่ หัวและลำตัวมีสีเหลือง มีแถบสีทองและดำพาดตั้งแต่ส่วนท้ายของหัวไปจนถึงโคนครีบหาง …เป็นปลาที่พบในป่าพรุคันธุลี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และพบได้น้อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลาซิวแถบเหลือง หรือ ปลาซิวแถบทอง (Redstripe rasbora) / Rasbora pauciperforata (Weber & de Beaufort, 1916)

ชนิดที่ 11 – ปลาซิวหางกรรไกร – Rasbora trilineata

ปลาซิวหางกรรไกร หรือ ปลาซิวหางดอก (Scissor-tailed rasbora) จัดเป็นหนึ่งในปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร มีรูปร่างเรียวยาวแบนข้างเล็กน้อย ท่อนหางยาว ส่วนหลังโค้ง หัวโต ตาโต ท้องใหญ่ เกล็ดตามลำตัวมีสีขาวเงินปนน้ำตาล หลังมีสีน้ำตาลปนดำ มีแถบสีดำตามลำตัว มีลายดำบนแฉกของครีบหาง โดยหางจะเป็นแฉกเว้าคล้ายกรรไกรอันเป็นที่มาของชื่อ

ปลาซิวหางกรรไกร หรือ ปลาซิวหางดอก (Scissor-tailed rasbora) / Rasbora trilineata (Steindacher, 1870)

เป็นปลาที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ตั้งแต่ลุ่มน้ำแม่กลอง แม่น้ำโขงและภาคใต้ของไทย นิยมนำมาบริโภคกันในท้องถิ่น และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ชนิดที่ 12 – ปลาซิวข้างขวานเล็ก – Trigonostigma espei

ปลาซิวข้างขวานเล็ก (Lambchop rasbora) เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเทาเงิน กลางลำตัวเป็นสีน้ำตาลอมแดง และกึ่งกลางลำตัวจนถึงโคนครีบหาง จะมีแถบสามเหลี่ยมเรียวเล็กจนมีลักษณะคล้ายขวาน

ปลาซิวข้างขวานเล็ก (Lambchop rasbora) / Trigonostigma espei (Meinken, 1967)

พบในแหล่งน้ำไหลในภาคใต้ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และบริเวณน้ำตกในภาคตะวันออกของไทย จัดเป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยมีชื่อเรียกที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “ปลาซิวข้างขวานภูเขา”

ชนิดที่ 13 – ปลาซิวข้างขวานใหญ่ – Trigonostigma heteromorpha

ปลาซิวข้างขวานใหญ่ (Red rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มีลักษณะลำตัวแบนข้างกว่าปลาซิวทั่วไป หัวและตาโต ปากเล็ก ลำตัวสีส้มแดงเหลือบชมพูหรือม่วง ลำตัวช่วงกลางจนถึงโคนหางมีแต้มสีดำรูปสามเหลี่ยม

ปลาซิวข้างขวานใหญ่ (Red rasbora) / Trigonostigma heteromorpha (Duncker, 1904)

เป็นปลาที่มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในประเทศไทยพบเฉพาะแหล่งน้ำไหลเชี่ยว บริเวณภาคใต้แถบจังหวัดตรัง หรือที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และปัจจุบันปลาซิวข้างขวานใหญ่ ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดอีกด้วย

ชนิดที่ 14 – ปลาซิวสมพงษ์ – Trigonostigma somphongsi

ปลาซิวสมพงษ์ เป็นปลาที่ค้นพบโดยนายสมพงษ์ เล็กอารีย์ พ่อค้าปลาสวยงามชาวไทย โดยปลาตัวผู้จะมีรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีเหลืองส้มและมีลวดลายด้านข้าง มีสีเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ และมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร

ปลาซิวสมพงษ์ / Trigonostigma somphongsi (Meinken, 1958)

ทั้งนี้ ปลาซิวสมพงษ์จัดเป็นปลาที่หายากมาก เนื่องจากเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองแถบจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น มีรายงานการส่งออกไปขายยังต่างประเทศในฐานะปลาสวยงาม จนทำให้ปลาซิวสมพงษ์มีสถานะในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

ชนิดที่ 15 – ปลาซิวใบไผ่แม่แตง – Devario maetaengensis

ปลาซิวใบไผ่แม่แตง (Fire bar danio) เป็นปลาที่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง ส่วนหางเรียวยาว มีหนวดสั้นที่มุมปาก ตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์มีสีสันสดใส โดยท้องและครีบก้นมีสีแดงอมส้ม

ปลาซิวใบไผ่แม่แตง (Fire bar danio) / Devario maetaengensis (Fang, 1997)

พบในลำธารที่มีป่าปกคลุมเฉพาะลุ่มแม่น้ำแม่แตง และพื้นที่รอบๆ ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version