ชนิดที่ 1 – ปลาหมอสีคางดำ – Sarotherodon melanotheron
ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) จัดเป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่ง เดิมพวกมันอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงทะเลชายฝั่ง และยังเป็นปลาที่ทนต่อความเค็มสูงได้อีกด้วย
ปลาหมอสีคางดำถือเป็นปลาตัวแสบที่สุดชนิดหนึ่งในปลาต่างถิ่น เพราะมันประสบความสำเร็จอย่างมากในไทย โดยเฉพาะใน จังหวัดสมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม จะมีพวกมันเยอะเป็นพิเศษ ถ้าลองปลาชนิดนี้ได้ลงไปในบ่อกุ้ง รับประกันได้เลย เมื่อจับกุ้งขาย คุณอาจจะไม่ได้เห็นกุ้งแม้แต่ตัวเดียว …จึงสมควรแล้วที่ห้ามเลี้ยง
ชนิดที่ 2 – ปลาหมอมายัน – Cichlasoma urophthalmus
ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) จัดเป็นปลาหมอสีอีกเช่นกัน พวกมันเป็นปลาที่ทนทานอย่างเหลือเชื่อ มันสามารถอยู่ในอุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส และยังอยู่ได้อย่างสบายที่ 33 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าร้อนกว่านี้ก็อยู่ได้ แต่อาจไม่สบายตัว
พวกมันเป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย และยังทนต่อการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพันของความเค็มได้ และแม้พวกมันจะดูทนทาน แต่ประวัติการรุกรานของมันค่อนข้างเงียบเหงาเมื่อเทียบกับปลาหมอสีคางดำ …แต่ถึงอย่างงั้นก็ไม่ควรเอามาเลี้ยง
ชนิดที่ 3 – ปลาหมอบัตเตอร์ – Heterotilapia buttikoferi
ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) เป็นปลาหมอสีที่มีขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก มันตัวใหญ่กว่า 2 ชนิดด้านบน เป็นปลาหมอที่มีหน้าตาคล้ายปลานิลที่สุด แต่จะมีลวดลายที่สวยกว่า
ในประเทศไทยปลาหมอบัตเตอร์ จัดเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีคนนำพวกมันไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่มีมากมาย ในบางเขื่อนโดยเฉพาะในเขื่อนศรีนครินทร์ คุณจะตกปลาหมอบัตเตอร์ ได้มากกว่าปลานิลซะอีก และมันก็ตัวใหญ่มากด้วย …และหากคุณตกได้ แนะนำให้กิน เพราะมันอร่อยกว่าที่คุณคิด
ชนิดที่ 4 – ปลาเรนโบว์เทราต์ – Oncorhynchus mykiss
ปลาเรนโบว์เทราต์ หรือ ปลาเทราต์สายรุ้ง (Rainbow trout) เป็น 1 ใน 100 สายพันธุ์รุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก และปลาชนิดนี้ก็พบได้แล้วในประเทศไทย โดยมันถูกนำมาทดลองเลี้ยงตั้งแต่ปี 1998 และก็พบในธรรมชาติแล้วเช่นกัน
แต่ปลาพวกนี้ยังถูกจำกัดอยู่ที่บนดอย เนื่องจากเป็นปลาน้ำเย็น ไม่สามารถลงในในพื้นที่ด้านล่างได้ จึงยังไม่ค่อยเข้าใจว่าห้ามเลี้ยงไปทำไม เพราะยังไงปลาพวกนี้ก็ตาย หากมันลงมาในแหล่งน้ำธรรมชาติด้านล่าง อีกอย่างคงไม่ทันได้โต โดนจับกินจนหมดซะก่อน
ชนิดที่ 5 – ปลาเทราต์สีน้ำตาล – Salmo trutta
ปลาเทราต์สีน้ำตาล (Brown trout) เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในยุโรป โดยปลาเทราต์ชนิดนี้มีอีกชื่อว่า ปลาเทราต์ทะเล เพราะพวกมันมักจะอยู่ในทะเล จะเข้ามาในน้ำจืดก็แค่ช่วงฤดูวางไข่ ส่วนในประเทศไทยแทบจะไม่มีข้อมูลของปลาชนิดนี้ แต่ก็อยู่ในรายชื่อปลาห้ามเลี้ยงเช่นกัน
ชนิดที่ 6 – ปลากะพงปากกว้าง – Micropterus salmoides
ปลาแบสปากใหญ่ หรือ ปลากะพงปากกว้าง (Largemouth bass) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ และดูเหมือนผมจะเคยเห็นพวกมันในตลาดปลาสวยงาม แล้วยังมีการเลี้ยงในบ่อตกปลาบางแห่งอีกด้วย แต่คิดว่ายังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไร โดยปลากะพงปากกว้าง ถือเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ มันยาวได้ถึง 1 เมตร
โดยปลาชนิดนี้ จัดเป็นหนึ่งในเป็นปลายอดนิยมในเกมกีฬาตกปลา และปลากะพงปากกว้าง ก็เคยสร้างปัญหาให้กับเกาหลีใต้อย่างหนัก เนื่องจากพวกเขาปล่อยปลาชนิดนี้ลงในแหล่งน้ำหลายแห่ง โดยหวังจะแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่ผลคือพวกมันกินปลาท้องถิ่นซะเรียบ
ชนิดที่ 7 – ปลาไทเกอร์โกไลแอต – Hydrocynus goliath
ปลาไทเกอร์โกไลแอต (Goliath tigerfish) เป็นปลาประเภทคาราซิน (Characins) หรือปลาตะเพียนกินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยาวได้ถึง 1.8 เมตร โดยปลาที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีคือ ปลาปิรันย่า, ปลาเปคู หรือขนาดเล็กก็เป็นปลานีออน
เนื่องจากถิ่นกำเนิดของไทเกอร์โกไลแอต เป็นแม่น้ำที่เชี่ยวกราดในแม่น้ำคองโก มันจึงเป็นปลาที่แข็งแกร่งและว่องไวมาก ที่สำคัญคือมีฟันที่ใหญ่และแหลม โดยรวมแล้วคือน่ากลัว และปลาชนิดนี้ก็ถูกนำมาขายในประเทศไทย ในฐานะปลาสวยงามมานานแล้ว แต่ผมเองไม่เคยได้ยินการพบพวกมันในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ชนิดที่ 8 – ปลาเก๋าหยก – Scortum barcoo
ปลาเก๋าหยก แม้ปลาชนิดนี้จะถูกเรียกว่า “ปลาเก๋า” แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับปลาเก๋าเลย และมันก็หน้าตาไม่เหมือนด้วย เนื้อยิ่งไม่ใช่ ผมว่ามันคล้ายปลาหมอผสมปลาตะเพียนมากกว่า พวกมันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และชื่อเดิมของมันคือ บาโค กรันซ์เตอร์ (Barcoo grunter) หรือ เจดเพิร์ช (Jade perch) และก็ตามสไตล์ไทย ชื่อเดิมไม่น่ากิน ก็เลยเปลี่ยนชื่อแบบหน้าด้านๆ ให้เป็นปลาเก๋าหยกซะเลย
โดยปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาโดย CP เจ้าเก่า แล้วก็เอามาทำตลาดในชื่อปลาเก๋าหยก ในราคาค่อนข้างแพง แรกๆ แพงกว่าปลาแซลมอนเลยด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังเริ่มเงียบเหงาเพราะปลาก็ไม่ได้ดีตามราคา สุดท้ายตอนนี้ก็ห้ามเลี้ยงแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่า CP ยังเลี้ยงได้อยู่หรือเปล่า
ชนิดที่ 9 – ปูขนจีน – Eriocheir sinensis
ปูขนจีน หรือ ปูเซี่ยงไฮ้ (Chinese mitten crab) เป็นปูที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อาศัยอยู่ตามทะเลสาบ และเจริญเติบโตได้ดีอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งต่ำกว่า 10 องศาเชลเชียส เรื่องที่ปูชนิดนี้จะเลี้ยงในประเทศไทยได้คงจะไม่ง่าย
ปูชนิดนี้กับคนไทยรู้จักกันมานานมาก มันเป็นปูที่คนไทยมักจะได้กินในช่วงฤดูหนาว โดยในอดีตถือเป็นอาหารของผู้มีอันจะกิน เพราะต้องเดินทางไปกินที่ต่างประเทศ ใกล้ที่สุดคงเป็นที่ฮ่องกง แต่ตอนนี้สามารถหากินได้ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ที่โครงการหลวง บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ชนิดที่ 10 – หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิด – Hapalochlaena
หมึกสายวงน้ำเงิน (blue-ringed octopus) เป็นหมึกขนาดเล็กที่มีสีสันสดใส และมีจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงที่ดูโดดเด่น หมึกชนิดนี้เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก ซึ่งร้ายแรงกว่าพิษงูเห่าถึง 20 เท่า แต่คุณต้องโดนกัดเท่านั้น หากจับเฉยๆ จะไม่เป็นไร แต่ดูเหมือนมันจะไม่ค่อยชอบกัดคนเท่าไร และอีกอย่างไม่ควรเอามันมาย่างกิน
ชนิดที่ 11 – ปลาทุกชนิดในสกุลซิคคลา – Cichla
ข้อห้ามนี้ค่อนข้างกว้าง เพราะปลาในสกุล “ซิคคลา – Cichla” มีอยู่หลายชนิด แต่ที่ระบาดแล้วในประเทศไทย ก็คือปลาพีค็อกแบส หรือ ปลาหมอออสเซลาริส (Peacock bass – Cichla ocellaris) ซึ่งเป็นปลากินเนื้อที่ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ส่วนชนิดอื่นที่ผมพอจะนึกออกก็เป็น ปลาหมอโมโนคูลัส (Cichla monoculus) ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับพีค็อกแบส แต่จะตัวเล็กกว่าหน่อย
และหลายคนอาจไม่รู้ว่า ปลาที่รุกรานในแหล่งน้ำประเทศไทยในตอนนี้ ที่พวกเราเรียกว่าปลาพีค็อกแบส จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นปลาหมอโมโนคูลัส นะครับ! แต่ยังไงพวกมันก็เรียกว่าพีค็อกแบสได้อยู่ดี
ชนิดที่ 12 – ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
ห้ามแบบนี้ก็คือกว้างใช่ได้เลย ถ้าหมายถึงปลาที่มีการดัดแปลง ก็จะหมายถึงพวกปลาที่ทำให้เรืองแสงได้ด้วย พวกที่มีเต็มไปหมดในตลาดปลาสวยงามด้วยหรือไม่? …เอาเป็นว่าผมไม่ขอแจ้งชนิดปลา เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดไหน แต่สรุปคือห้าม
ชนิดที่ 13 – หอยมุกน้ำจืดจีน – Hyriopsis cumingii
หอยมุกน้ำจืดจีน (Triangle shell mussel) เป็นหอยมุกที่ผมไม่แน่ใจชนิดที่แท้จริงของมัน เพราะข้อมูลแถมยังไม่ตรงกันด้วย ประกอบกับความรู้ของผมก็ไม่ถึง ด้วยเหตุนี้จึงแค่จะมาบอกว่า ห้ามเลี้ยงนะ
สุดท้ายขอสรุปท้ายเรื่องซะหน่อย …สัตว์น้ำห้ามเลี้ยง 13 ชนิดนี้ ไม่ใช่ทั้งหมดที่ถูกห้ามนะครับ จริงๆ ยังมีอีกมากมาย เพียงแต่เป็นชนิดที่เพิ่งประกาศเพิ่มเติม และออกมาเน้นย้ำโดยกรมประมง โดยมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย หากจะเลี้ยงให้ได้ก็ต้องระวังกันให้ดี …ระวังจะเหมือนกับกรณีที่โดนจับปลาปิรันยากันล่ะ