ชนิดที่ 1. ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)
จัดเป็นไดโนเสาร์กินพืช 4 เท้า ความยาวทั้งตัวประมาณ 15-20 เมตร มีลำคอและหางยาว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่ จ. ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2537 (1994)
ชนิดที่ 2. กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus Khonkaenensis)
เป็นไดโนเสาร์คล้ายนกกระจอกเทศ กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร วิ่งเร็ว ว่องไว ลักษณะที่เห็นชัดคือไม่มีฟัน มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร อาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น พบที่ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2552 (2009)
ชนิดที่ 3. สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus Suteethorni)
เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย โดยพบที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอด หรือก็คือ ไดโนเสาร์ที่เดิน 2 เท้า มีความยาวประมาณ 7 เมตร มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน มีแหล่งหากินอยู่ริมน้ำ และกินปลาเป็นอาหาร ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2529 (1986)
ชนิดที่ 4. สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
เป็นไดโนเสาร์ตระกูลใหม่ของไทย ค้นพบที่บริเวณหินลาดยาว อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น จัดเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอด ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรงมาก พบกระดูกสันหลัง ตะโพกและหาง ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ฝังอยู่ในชั้นหินทราย จากการศึกษาพบว่า อยู่ในวงศ์ไทแรนโนซอรัส ที่เก่าแก่ที่สุด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นไดโนเสาร์ที่เริ่มวิวัฒนาการครั้งแรกในเอเชียแล้วค่อยแพร่กระจายไปทางเอเชียเหนือ และสิ้นสุดที่อเมริกาเหนือก่อนสูญพันธุ์ไป ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2539 (1996)
ชนิดที่ 5. อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi)
ไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่สุด! เท่าที่โลกเคยพบมา มันเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด หรือ ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว 4 ขา พบที่ อ. หนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ อายุประมาณ 210 ล้านปี มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 209 ล้านปีก่อน มีความยาว 13 – 15 เมตร ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2543 (2000)
ชนิดที่ 6. ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)
ไดโนเสาร์พวกตะโพกแบบนก เป็นพวกเซราทอปเชียน หรือ ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ค้นพบที่ จ. ชัยภูมิ มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง ประมาณ 100 ล้านปีก่อน กินพืชขนาดเล็กเป็นอาหาร ยาวได้ประมาณ 1 เมตร ในอดีตพบเฉพาะในแถบเอเชียกลาง บริเวณซานตุง ประเทศจีน มองโกเลีย และไซบีเรียเท่านั้น ในไทยพบที่ จ. ชัยภูมิ ซึ่งการค้นพบซากไดโนเสาร์ชนิดนี้ เป็นการยืนยันว่า ช่วงยุคต้นครีเทเชียส แผ่นดินอินโดจีนเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชีย ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2535 (1992)
ชนิดที่ 7. สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
ไดโนเสาร์กินพืช มีกระดูกตะโพกแบบนก ขาหลังทั้งสองมีขนาดใหญ่ ขาหน้ามีขนาดเล็กกว่ามาก สามารถเดินได้ด้วย 2 ขา หรือ 4 ขา โดยใช้ขาหน้าช่วยพยุง อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่ จ. อุบลราชธานีและนครราชสีมา ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2554 (2011)
ชนิดที่ 8. สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
เป็นไดโนเสาร์กินพืช จำพวกอิกัวโนดอน มีกระดูกตะโพกแบบนก อยู่ในกลุ่มย่อยที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม ฟันคล้ายอิกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน พบที่บ้านสะพานหิน อ. เมือง จ. นครราชสีมา ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2558 (2015)
ชนิดที่ 9. ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
ไดโนเสาร์ประเภทกินพืช ยาวประมาณ 6 เมตร มีกระดูกตะโพกแบบนก จัดเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเดียวกับอีกัวโนดอน ที่มีลักษณะเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดยุคแรกๆ อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่ จ. นครราชสีมา ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2554 (2011)
ชนิดที่ 10. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi)
ไดโนเสาร์กินเนื้อเทอโรพอด ขนาดกลาง มีลำตัวยาวประมาณ 6 เมตร อยู่ในกลุ่มเมกะแรพเตอร์ อายุ 130 ล้านปี พบที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ. ขอนแก่น ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2562 (2019)
ชนิดที่ 11. สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor Suwati)
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกันกับภูเวียงเวเนเตอร์ ความยาวไม่ต่ำกว่า 7.6 เมตร เป็นไดโนเสาร์สกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัสตัวแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบครั้งแรกที่แหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน อ. เมือง จ. นครราชสีมา ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2562 (2019)
ชนิดที่ 12. วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)
เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง กลุ่มเทอโรพอด พวกซีลูโรซอร์ยุคแรกๆ ยาว 4 – 4.5 เมตร พบที่ จังหวัดหนองบัวลำภู ชิ้นส่วนกระดูกที่พบประกอบด้วย กระดูกขาหลัง กระดูกนิ้วขาหน้า กระดูกหัวหน่าว ซี่โครง และกระดูกจะงอยบ่า มีอายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน ด้วยกระดูกขาที่พบมีความแตกต่างจากที่เคยพบมา จึงตั้งชื่อสกุลและชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อตามเทพวายุ ซึ่งเป็นเทพแห่งสายลม เปรียบเสมือนไดโนเสาร์ที่มีความปราดเปรียวว่องไว ดั่งสายลม ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2562 (2019)
ชนิดที่ 13. มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis)
เป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นชนิดล่าสุดที่ได้รับชื่อ มันเป็นนักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย ด้วยสภาพโครงกระดูกที่เรียงต่อกันแทบทั้งตัว พวกมันอยู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน เป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียน หรือ ไดโนเสาร์กินพืชตะโพกนก ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2566 (2023)
ทำไม! จึงพบฟอสซิลไดโนเสาร์เฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ?
มาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะสงสัยกันว่า ทำไม! ไดโนเสาร์ที่พบในไทย จึงกระจุกอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คำตอบคือ ในช่วงเวลานั้น! แผ่นดินไทยทางฝั่งอีสานได้ยกตัวเป็นแผ่นดินก่อนส่วนอื่นของไทย ได้เชื่อมต่อกับแผ่นดินจีน ทำให้ไดโนเสาร์อพยพลงมาถึงอีสานก่อน ในส่วนภาคเหนือ พบหลักฐานฟอสซิลอยู่เพียงแค่ อ. เชียงม่วน จ. พะเยา เท่านั้น ส่วนดินแดนฝั่งตะวันตกตั้งแต่ภาคตะวันตก ภาคกลาง ลงไปถึงภาคใต้ ช่วงเวลานั้นยังเป็นทะเลอยู่ จึงพบเพียงซากฟอสซิลประเภทสัตว์น้ำ ด้วยเหตุนี้! แผ่นดินอีสานจึงพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากกว่าภาคอื่นของไทย