เช็คชื่อ 10 สัตว์ป่าควบคุม ประเภทปลา

เป็นเรื่องยากมาก! ที่จะให้พูดถึงสัตว์ป่าควบคุมทั้งหมดของไทย เพราะในไทยจะมีสัตว์ประเภทนี้อยู่ประมาณ 1,100 รายการ ที่ไม่บอกว่าเป็นชนิด เพราะบางชนิดควบคุมทั้งวงศ์สกุล และ! ระดับความเข้มงวดในการควบคุมก็ต่างกันด้วย ซึ่งหลายชนิดแค่ห้ามส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่! ก็ยังดีที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้แบ่งสัตว์ออกเป็นกลุ่มๆ แล้วจะทยอยประกาศให้ประชาชนมาแจ้งครอบครองทีละกลุ่ม ดังเช่นในกรณีที่เพิ่งผ่านไปก็คือ กลุ่มสัตว์ดุร้าย 10 ชนิด ซึ่งก็เพิ่งหมดเขตการแจ้งไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ปี พ.ศ. 2566 ส่วนกลุ่มสัตว์น้ำประเภทปลา ต้องไปทำเรื่องที่กรมประมง! คลิปท้ายเรื่อง

สัตว์ป่าควบคุม

สัตว์ป่าควบคุมคืออะไร?

Advertisements

สัตว์ป่าควบคุม ก็คือ สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ป่าอื่นที่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม

จากภาพจะเห็นว่า สัตว์ป่าควบคุมนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ถือเป็นสัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่ติดไซเตส (CITES) 1 ถึง 3 ในกลุ่มนี้มีมากถึง 1,014 รายการ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ สัตว์ป่าอื่นที่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งมี 86 รายการ!

แต่จากสัตว์ป่าควบคุมทั้งหมดนี้ มีอยู่ 67 ชนิด ที่จำเป็นต้องแจ้งครอบครอง และมีปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนที่เหลือ หากเพียงแค่เลี้ยงไว้ดูเล่น ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้ง …ส่วนรายละเอียดลึกๆ ขอให้ไปหาอ่านเองในเว็บไซต์ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพราะหากให้ผมอธิบายตรงนี้ ก็จะน่าเบื่อ ต่อไปเรามาดูรายชื่อ สัตว์ควบคุมประเภทปลา

ชนิดที่ 1 ปลาช่อนยักษ์ หรือ อะราไพม่า

อะราไพม่า (Arapaima) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในกลุ่ม “ต้องแจ้งครอบครอง หากมีซากก็ต้องแจ้ง และหากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้งเช่นกัน!” โดยปลาอะราไพม่า (Arapaima) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “ปลาช่อนอะแมซอน” เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์อะราไพม่า (Arapaimidae) ปลาในวงศ์นี้จะมีอยู่ 6 ชนิด แน่นอนว่าชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุดก็คือ “อะราไพม่า กิกะ – Arapaima gigas” มันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชาวพื้นเมืองจะเรียกมันว่า ปีรารูกู (Pirarucu)

โดยปลาอะราไพม่าชนิดนี้ มีลักษณะคล้ายปลาช่อน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก มันไม่มีหนวดซึ่งแตกต่างจากอะราไพม่าชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน จัดเป็นปลาที่มีอัตราการเติบโตที่เร็วมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 ปี สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นถึง 3-5 เท่าได้ และปลาที่ยาวที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 450 เซนติเมตร หนักกว่า 400 กิโลกรัม

การมาถึงไทยของปลาชนิดนี้ ตามที่มีการบันทึกไว้ ปลาถูกนำเข้ามาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 (1986) และมันก็ได้รับความนิยมอย่างมากในปีต่อมา จนทุกวันยังพบพวกได้มากมายในไทย โดยปลาเกือบทั้งหมดจะอยู่ในบ่อดิน – บ่อปูน หรือไม่ก็ตู้ปลาขนาดใหญ่มาก และมีการจับได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่หลายครั้ง เป็นปลาที่คนไทยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมันก็เป็นปลาเกมราคาแพงที่นักตกปลาอยากตกเช่นกัน

ชนิดที่ 2 ปลากระเบนโมเสค

ปลากระเบนโมเสค (Potamotrygon scobina) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” โดยปลากระเบนโมเสค จัดเป็นปลาน้ำจืด ในวงศ์ปลากระเบนแม่น้ำ (Potamotrygonidae) เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนในประเทศบราซิล ปลากระเบนโมเสค มีลำตัวกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ความยาวรวมหางประมาณ 130 เซนติเมตร ปัจจุบันถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย จัดเป็นหนึ่งในปลากระเบนที่หายากในธรรมชาติ

ปลากระเบนโมเสค (Potamotrygon scobina)

ชนิดที่ 3 ปลากระเบนหลังเรียบ

Advertisements

ปลากระเบนหลังเรียบ (Potamotrygon orbignyi) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” โดยปลากระเบนหลังเรียบ อยู่ในวงศ์สกุลเดียวกับปลากระเบนโมเสค เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำโอริโนโกในอเมริกาใต้

ปลากระเบนหลังเรียบ (Potamotrygon orbignyi)

ชนิดที่ 4 ปลากระเบนมาราไคโบ

ปลากระเบนมาราไคโบ (Potamotrygon yepezi) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” ปลากระเบนมาราไคโบ อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร ในธรรมชาติชอบฝังตัวอยู่ตามก้นแม่น้ำหรือลำธารที่เป็นดินปนทราย ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงมักจะมีผู้คนเดินไปเหยียบและถูกหนามที่แหลมคมเล่นงาน

ปลากระเบนมาราไคโบ (Potamotrygon yepezi)
Advertisements

ชนิดที่ 5 ปลากระเบนหนาม

ปลากระเบนหนาม (Potamotrygon constellata) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” โดยปลาชนิดนี้โตได้ประมาณ 60 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายปลากระเบนในสกุลเดียวกัน ลำตัวเป็นจานค่อนข้างกลม มีหางค่อนข้างสั้น พบในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน

ปลากระเบนหนาม (Potamotrygon constellata)

ชนิดที่ 6 ปลากระเบนลายกุหลาบ

Advertisements

ปลากระเบนลายกุหลาบ (Potamotrygon schroederi) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” เป็นปลาที่โตได้ประมาณ 60 เซนติเมตร จัดเป็นปลากระเบนที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน บราซิล, เวเนซุเอลา และโบลิเวีย ไม่ทราบจำนวนประชากรในธรรมชาติ แต่ในบางแหล่งข้อมูลระบุว่าอาจสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว

ปลากระเบนลายกุหลาบ (Potamotrygon schroederi)
Advertisements

ชนิดที่ 7 ปลากระเบนแอมะซอน

ปลากระเบนแอมะซอน (Potamotrygon aiereba) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” เป็นปลาที่โตได้ประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นปลากระเบนที่มีหางเรียวและสั้น พบในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำสาขา ชอบอาศัยในน้ำตื้นและใกล้ตลิ่ง

ปลากระเบนแอมะซอน (Potamotrygon aiereba)

ชนิดที่ 8 ปลากระเบนแมกดาเลนา

ปลากระเบนแมกดาเลนา (Potamotrygon magdalenae) เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง” โดยกระเบนชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วนใหญ่จะมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลากระเบนในสกุลโปตาโมไทรกอน ที่มีถิ่นกำเนิดต่างจากกระเบนตัวอื่นๆ ที่พูดถึงไปเล็กน้อย เพราะพบได้เฉพาะในแม่น้ำมักดาเลนา (Magdalena River) และ แม่น้ำอาตราโต (Atrato River) ในโคลอมเบีย

ปลากระเบนแมกดาเลนา (Potamotrygon magdalenae)

ชนิดที่ 9 ปลากระเบนโมโตโร

ปลากระเบนโมโตโร (Potamotrygon motoro) ในบรรดาปลากระเบนในสกุลโปตาโมไทรกอน (Potamotrygon) ที่พูดถึงมา ปลากระเบนโมโตโร ถือว่าได้รับความนิยมเลี้ยงในไทยมาก มันเป็นปลาที่สวยงาม และตอนนี้ก็กลายเป็นสัตว์ควบคุมที่สามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง”

ปลากระเบนโมโตโร (Potamotrygon motoro)
Advertisements

ปลากระเบนโมโตโร มีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลวดลายและโทนสีมากมาย ซึ่งแม้แต่ในธรรมชาติเองก็มีความหลากหลายของลวดลายมากมาย เป็นปลากระเบนที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน พบใน ห้วย หนอง คลอง บึง ในหลายประเทศเช่น บราซิล เปรู โคลัมเบีย ปารากวัย อุรุกวัย โบลิเวีย อาร์เจนตินา

ชนิดที่ 10 ปลาสเตอร์เจียนทุกชนิดในอันดับปลาสเตอร์เจียน

เป็นการควบคุมที่กว้างมาก เพราะปลาในอันดับปลาสเตอร์เจียน (Acipenseriformes) มีมากถึง 28 ชนิด โดยในปัจจุบันเหลือปลาในอันดับนี้อยู่เพียง 2 วงศ์ หนึ่งคือ วงศ์ปลาสเตอร์เจียน (Acipenseridae) และ วงศ์ปลาฉลามปากเป็ด (Polyodontidae) …ทั้งหมดสามารถเลี้ยงได้โดย “ไม่ต้องแจ้งครอบครอง แต่! หากต้องการเพาะพันธุ์ก็ต้องแจ้ง”

สำหรับปลาอันดับปลาสเตอร์เจียนทั้งหมด ถือเป็นปลาขนาดใหญ่! โดยปลาสเตอร์เจียนขนาดใหญ่ที่สุด ที่ยังไม่สูญพันธุ์ ก็คือ สเตอร์เจียนเบลูก้า (Beluga, Huso huso) ซึ่งบันทึกตัวใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้คือ 900 เซนติเมตร หรือ 9 เมตร เป็นปลาที่ผลิตไข่ปลาที่มีราคาแพงที่สุดในโลก แต่ก็ชนิดที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุเอาไว้พิเศษ 2 ชนิด

สเตอร์เจียนเบลูก้า (Beluga, Huso huso)

ชนิดที่หนึ่งก็คือ ปลาสเตอร์เจียนจมูกสั้น (Acipenser brevirostrum) มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จึงเป็นปลาสเตอร์เจียนขนาดเล็กที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำตามแนวชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งแต่แคนาดาไปยังฟลอริดา

ปลาสเตอร์เจียนจมูกสั้น (Acipenser brevirostrum)

ชนิดที่สองคือ ปลาสเตอร์เจียนยุโรป (Acipenser sturio) มีความยาวประมาณ 600 เซนติเมตร และอาจหนักได้ถึง 400 กิโลกรัม จึงจัดเป็นปลาสเตอร์เจียนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดบริเวณชายฝั่งของยุโรป และเป็นเช่นเดียวกับปลาสเตอร์เจียนอื่นๆ พวกมันวางไข่ในแม่น้ำที่เป็นน้ำจืด อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

ปลาสเตอร์เจียนยุโรป (Acipenser sturio)

สรุปส่งท้าย! ก็เป็นอย่างที่เห็น ในบรรดาสัตว์ควบคุมประเภทปลา จะมีเพียงปลาช่อนอะแมซอน หรือ อะราไพม่า เท่านั้นที่หากจะเลี้ยงก็ต้องแจ้ง ที่เหลือจะแจ้งก็ต่อเมื่อคุณคิดจะเพาะพันธุ์และคิดจะทำเพื่อการค้า

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements