10 ปลาค้างคาวติดหิน ที่พบเฉพาะในประเทศไทย

คงต้องบอกว่า ปลาค้างคาวติดหิน หรือปลาค้างคาว ที่พบในประเทศไทย ไม่มีชนิดไหนเลยที่หาง่าย เนื่องจากพวกมันเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำธารต้นน้ำ พวกมันต้องการน้ำที่ไหลแรงและสะอาด แต่! ปัจจุบัน บ้านของปลาพวกนี้ได้ถูกทำลายไปมาก ไม่ว่าจะจากน้ำมือมนุษย์ หรือ จากภัยธรรมชาติ อย่างในกรณีล่าสุด! ถิ่นที่อยู่ของปลาเหล่านี้ในแม่ยวมน้อยก็เสียหายหนักมากๆ จากน้ำป่าหลาก ก็หวังว่าจะฟื้นตัวกลัวมาได้ในเร็ววัน เกือบลืมบอกไปอีกอย่าง ปลาค้างคาวติดหินพวกนี้ ผมอ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ และมีเพียง ปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis) เท่านั้นที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย

ปลาค้างคาวติดหินคืออะไร?

Advertisements

ปลาค้างคาวติดหิน เป็นปลาในสกุล ออ-รี-โอ-กลา-นิส (Oreoglanis) ในภาษากรีก ออ-รี-โอ แปลว่าภูเขา ส่วน กลา-นิส แปลว่า ปลาหนัง เมื่อนำมารวมกันก็จะหมายถึง ปลาหนังที่อาศัยอยู่บนภูเขา

ปลาค้างคาวติดหิน จะมีลักษณะเด่นที่คล้ายกันคือ มีลำตัวที่แบน พื้นลำตัวมักจะเป็นสีน้ำตาลหรือเขียวมะกอก มีหนวดแบนสั้น ด้านข้างของแก้มจะปิดเพื่อให้ยืดติดกับหินหรือวัสดุใต้น้ำได้ดี มีครีบอกและครีบท้องขนาดใหญ่แปะแนบกับพื้น

ทั้งนี้ปลาในสกุลปลาค้างคาวมีอยู่ทั้งหมด 23 ชนิด แต่หากนับเฉพาะชนิดที่พบได้ในไทยจะมี 10 ชนิด ทุกชนิดอาศัยอยู่ในลำธารต้นน้ำ ในพื้นลำนำที่ต่างกันและเฉพาะในบริเวณแก่งที่มีน้ำไหลแรง พวกมันเป็นปลาที่ยืดเกาะก้อนหินขนาดใหญ่ได้ดี แม้จะในอาศัยอยู่ในกะแสน้ำที่แรง แต่ก็เคลื่อนไหวได้ว่องไว เป็นปลาที่กินแมลงน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร จัดเป็นปลาที่ยังอยู่ในช่วงแรกของการศึกษา จึงยังมีข้อมูลที่น้อยมาก …ต่อไปมาดูกันว่าปลาค้างคาวติดหินในไทยมีชนิดไหนบ้าง?

ชนิดที่ 1. ปลาค้างคาวติดหินน้ำปาย (Oreoglanis laciniosa)

ปลาค้างคาวติดหินน้ำปาย หรือ ปลาค้างคาวติดหินแม่ฮ่องสอน เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร มีลำตัวค่อนข้างแบน ครีบอกยาวทับครีบท้อง ฐานครีบไขมันกว้าง ปลายอยู่ก่อนถึงโคนหาง มีแผ่นหางตัดตรง มีร่องกลางริมฝีปากล่างด้านนอก

1. ปลาค้างคาวติดหินน้ำปาย (Oreoglanis laciniosa)

ปลาค้างคาวติดหินน้ำปาย ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะในแม่น้ำปาย เฉพาะในลำธารต้นน้ำที่ไหลแรง และสะอาด ในเขตอำเภคปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นปลาที่หายากมากชนิดหนึ่งในไทย

ชนิดที่ 2. ปลาค้างคาวติดหินขุนยวม (Oreoglanis heteropogon)

ปลาค้างคาวติดหินขุนยวม ยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร! มีลำตัวค่อนข้างเพรียวยาว ครีบอกยาวไม่ถึงฐานครีบท้อง ครีบไขมันมีฐานแคบ แผ่นหางตัดตรง มีร่องกลางริมฝีปากล่างด้านนอก ทั้งนี้ปลาค้างคาวติดหินขุนยวม ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) เป็นปลาที่พบในลำธารต้นน้ำแม่ยวมน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นปลาที่หายากมากๆ

2. ปลาค้างคาวติดหินขุนยวม (Oreoglanis heteropogon)

ชนิดที่ 3. ปลาค้างคาวติดหินทุ่งช้าง (Oreoglanis tenuicauda)

Advertisements

ปลาค้างคาวติดหินทุ่งช้าง ยาวได้ประมาณ 8 เซนติเมตร มีลำตัวแบนกว้าง หนวดปลายโค้ง มีครีบอกยาวปิดส่วนหน้าของครีบท้อง ฐานครีบไขมันกว้างเกือบต่อกับแผ่นหาง โคนหางคอดยาว แผ่นหางมีขอบเว้าเล็กน้อย ไม่มีร่องตรงกลางริมฝีปากล่างด้านนอก ทั้งนี้ปลาค้างคาวติดหินทุ่งช้าง ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) พบได้เฉพาะใน แม่น้ำนานตอนบน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

3. ปลาค้างคาวติดหินทุ่งช้าง (Oreoglanis tenuicauda)
Advertisements

ชนิดที่ 4. ปลาค้างคาวติดหินอมก๋อย (Oreoglanis omkoiense)

ปลาค้างคาวติดหินอมก๋อย ยาวได้ประมาณ 9 เซนติเมตร มีลำตัวเพรียวยาว ฐานครีบไขมันยาว โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่เกือบถึงท้ายครีบหลัง หนวดยาวอยู่ที่บริเวณรูจมูก ปลายหนวดบริเวณริมฝีปากแหลม ไม่งุ้มเข้า ริมฝีปากล่างมีรอยหยักตรงกลางและขอบด้านหลัง

4. ปลาค้างคาวติดหินอมก๋อย (Oreoglanis omkoiense)

ทั้งนี้ปลาค้างคาวติดหินอมก๋อย ถูกอธิบายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2563 (2020) พบอาศัยอยู่ในบริเวณแก่งน้ำไหลของแม่น้ำแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ชนิดที่ 5. ปลาค้างคาวติดหินดอยภูคา (Oreoglanis colurus)

ปลาค้างคาวติดหินดอยภูคา ยาวได้ประมาณ 6 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีหัวแบนกว้าง มีลำตัวค่อนข้างสั้น ฐานครีบไขมันกว้างจนเกือบเชื่อมกับแผ่นหาง มีแผ่นหางเว้าเล็กน้อย ไม่มีร่องตรงกลางริมฝีปากล่างด้านนอก เป็นปลาที่ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) พบได้เฉพาะในลำธารในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

5. ปลาค้างคาวติดหินดอยภูคา (Oreoglanis colurus)
Advertisements

ชนิดที่ 6. ปลาค้างคาวติดหินคุณสืบ (Oreoglanis nakasathiani)

Advertisements

ปลาค้างคาวติดหินคุณสืบ ยาวได้ประมาณ 9 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวเพรียวยาว มีข้อหางยาว ครีบอกยาวแต่ไม่ทับครีบท้อง ฐานครีบไขมันแคบ อยู่กึ่งกลางระหว่างครีบหลังและโคนหาง แผ่นหางเว้าเล็กน้อย ไม่มีร่องตรงกลางริมฝีปากล่างด้านนอก

6. ปลาค้างคาวติดหินคุณสืบ (Oreoglanis nakasathiani)

เป็นปลาที่ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) พบได้เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปลาที่ถูกตั้งชื่อตาม คุณ สืบ นาคะเสถียร

ชนิดที่ 7. ปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis)

ปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนนท์ หรือ ปลาค้างคาวติดหินสยาม ความได้ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายปลาค้างคาวติดหินทั่วไป ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาวหัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว

7. ปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis)

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 (1933) พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และจะพบได้ที่ระดับความสูงอย่างน้อย 1,200 เมตร

ชนิดที่ 8. ปลาค้างคาวติดหินแม่ลาน้อย (Oreoglanis sudarai)

ปลาค้างคาวติดหินแม่ลาน้อย หรือ ค้างคาวติดหินอาจารย์สุรพล จัดเป็นปลาค้างคาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวเพียวยาว ครีบอกยาวไม่ถึงจุดเริ่มต้นของครีบท้อง มีครีบไขมันอยู่ตรงกลางระหว่างครีบหลังและโคนหาง มีร่องตรงกลางริมฝีปากล่างด้านนอก

8. ปลาค้างคาวติดหินแม่ลาน้อย (Oreoglanis sudarai)
Advertisements

ทั้งนี้ ปลาค้างคาวติดหินแม่ลาน้อย ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) พบในอำเภคแม่ลาน้อย ลำห้วยแม่ปิงน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชนิดที่ 9. ปลาค้างคาวติดหินดอยตุง (Oreoglanis suraswadii)

ปลาค้างคาวติดหินดอยตุง หรือ ปลาค้างคาวติดหินคุณปลอดประสพ ยาวได้ประมาณ 6 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีครีบอกยาวปิดส่วนต้นของครีบท้อง หนวดที่อยู่บริเวณจมูกค่อนข้างสั้น มีครีบไขมันอยู่กึ่งกลางระหว่างครีบหลังและโคนหาง เมื่อเทียบกับชนิดอื่น ปลาค้างคาวติดหินชนิดนี้จะมีครีบไขมันที่สูงกว่า มีแผ่นหางเว้าเล็กน้อย มีร่องตรงกลางริมฝีปากล่างด้านนอก เป็นปลาที่ถูกอธิบายครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2552 (2009) พบในลำธารบนดอยตุง จังหวัดเชียงราย

9. ปลาค้างคาวติดหินดอยตุง (Oreoglanis suraswadii)

ชนิดที่ 10. ปลาค้างคาวติดหินน้ำตกศิลาเพชร (Oreoglanis vicina)

ปลาค้างคาวติดหินน้ำตกศิลาเพชร ยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร ถูกอธิบายเอาไว้ว่า มีความคล้ายกับ ปลาค้างคาวติดหินทุ่งช้าง ที่พูดไปในชนิดที่สาม แต่! ลำตัวจะเพรียวยาวกว่า มีหนวดปลายโค้ง ครีบอกยาวปิดทับครีบท้องบางส่วน ฐานครีบไขมันกว้างเกือบเชื่อมต่อกับแผ่นหาง แผ่นหางเว้าเล็กน้อยและมีเปียสั้นๆ ที่ขอบหางด้านบนและล่าง ไม่มีร่องตรงกลางริมฝีปากล่างด้านนอก เป็นปลาที่ถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 (2009) พบเฉพาะในน้ำตกศิลาเพชร จังหวัดน่าน

10. ปลาค้างคาวติดหินน้ำตกศิลาเพชร (Oreoglanis vicina)

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements