แก้มช้ำ สีสันแห่งลำห้วย

ในกลุ่มปลาพื้นเมืองของไทยที่ผู้คนชักจะลืมๆ ไปบ้างแล้ว มีชื่อปลาแก้มช้ำรวมอยู่ด้วยตัวหนึ่ง ผมเชื่อเหลือเกินว่ามีนักตกปลาน้อยคนนักที่เคยพบหน้าค่าตาของปลาแก้มช้ำ และยิ่งน้อยลงไปอีกถ้าถามว่าเคยตกปลาแก้มช้ำได้หรือไม่ ปลาแก้มช้ำมีขื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า ปลาแก้มแดง หรือ Red cheek barb มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Systomus rubripinnis

แหล่งอาศัยของปลาแก้มช้ำ

Advertisements

เชื่อกันว่าปลาแก้มช้ำเป็นหนึ่งในปลาสายพันธุ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดตัวหนึ่ง สำหรับในเมืองไทยเดิมแก้มช้ำเป็นปลาที่พบมากในแทบทุกภาคของประเทศ แต่ในปัจจุบันปลาแก้มช้ำบางตัวลงทุกที จนสถานการณ์ของปลาตัวนี้ในแหล่งน้ำเดิมที่มันเคยอยู่ไม่ดีเลย

จากรายงานพบว่าทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยมีปลาแก้มช้ำอาศัยอยู่ยกเว้นในแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอื่นๆ ทางเทือกเขาฝั่งตะวันตก จากการสำรวจปลาพันธุ์นี้มีมากตามลำคลองหนองบึงในบริเวณรอบๆ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองซอยที่ไหลลงแม่น้ำของจังหวัดภาคกลาง หลายปีก่อนตอนฟิชชิ่งเวิลด์เปิดกิจการใหม่ๆ มีการทดน้ำจากคลองหนองจอกเข้ามา ปรากฏว่ามีปลาแก้มช้ำตามน้ำติดเข้ามา

พวกมันค่อยๆ เจริญเติบโตจนแต่ละตัวน้ำหนักเป็นกิโลมีนักตกปลาบางคนลากสปูนและสปินเนอร์เพื่อตกปลาเปคูในสมัยนั้น โดยมีปลาแก้มช้ำฮุปเหยื่อสปูนขึ้นมาหลายตัว หลายคนคิดว่าเป็นปลากระสูบเพราะรูปพรรณสัณฐานของปลาแก้มช้ำคล้ายปลากระสูบมาก เพียงแต่ไม่มีขีดดำพาดกลาตัวแบบกระสูบขีด และไม่มีจุดดำแปะอยู่กลางตัวแบบปลากระสูบจุด

จากการสอบถามพบว่าบริเวณประตูระบายน้ำของคลองหนองจอก คลองพระองค์เจ้าไชยานุราชิตและคลองที่ต่อเชื่อมกันมีปลาแก้มช้ำอาศัยอยู่ ชาวบ้านมักจะจับได้พร้อมปลาตะเพียน ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่ว่าปลาแก้มช้ำนั้นมักจะอาศัยอยู่รวมกับปลาตระกูลตะเพียน

ในภาคเหนือพบว่าหลายพื้นที่มีปลาแก้มช้ำโดยเฉพาะในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ปิง วัง ยม น่าน ย้อนอดีตไปหลายสิบปีคือ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479 มีบันทึกว่าพบปลาแก้มช้ำในแม่น้ำเมา  ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำฝาง ที่กว๊านพะเยา แม่น้ำมูลบริเวณเหนือปากช่อง นครราชสีมา ทางฝั่งตะวันออกที่แม่น้ำจันทบุรี และตามลำคลองที่ต่อเชื่อม แถวศรีราชา ระยอง บริเวณที่มีลำห้วยมักจะพบปลาแก้มช้ำ ที่น่าแปลกใจก็คือพบปลาแก้มช้ำในลำห้วยที่ยอดดอยขุนตาล ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 2,000 ฟุต เลยทีเดียว

คุณสุธี สุทธิวงศ์ เล่าให้ฟังว่า

ในสมัยที่ยังทำไม้อยู่ บริเวณต้นแม่น้ำแควใหญ่ ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เคยตกปลาแก้มช้ำได้ตามวังด้วยเหยื่อไส้เดือน ปลาแก้มช้ำนั้นจะพบปะปนอยู่กับปลาตะเพียง ปลาตะพาก เคยจับได้ครั้งละหลายตัว แต่ปัจจุบันหลังจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ก็แทบจะไม่พบปลาแก้มช้ำในทะเลสาบเหนือเขื่อนอีกเลย ถ้าจะมีตัวเข้าใจว่าต้องขึ้นไปตามลำห้วยซึ่งเป็นต้นน้ำ

ขนาดตัวของปลาแก้มช้ำ

ปลาแก้มช้ำเท่าที่เคยมีความยาวสูงสุดประมาณ 1 ฟุต แต่ปัจจุบันขนาดของปลาแก้มช้ำที่จับได้มีความยาวเฉลี่ย 15-20 เซนติเมตร และจากที่มันแพร่กระจายไปทั่วทุกภาคนั้นทำให้ปลาตัวนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก ปลาลาบก ชาวบ้านริมแม่ปิง เชียงใหม่และที่เชียงดาวรู้จักปลาแก้มช้ำในชื่อปลาปกหรือปลาสะปก ขณะที่ทางแม่ยมตั้งชื่อปลาแก้มช้ำเสียใหม่ว่าปลาปกส้ม เข้าใจว่าจะเรียกตามลักษณะเด่นของปลาแก้มช้ำคือ บริเวณแก้มจะมีสีส้มสดออกแดงไม่เท่านั้นครับพี่น้องแถวแม่น้ำมูลใกล้โคราชเรียกปลาขาวสมอมุก

การวางไข่ของปลาแก้มช้ำ

Advertisements

ปลาตัวนี้จะวางไข่ในเดือนมีนาคมถึงกันยายน ซึ่งก็เป็นฤดูกาลเดียวกับการวางไข่ของปลาน้ำจืดทั่วไป ในแง่ของปลาเกมนั้น ปลาแก้มช้ำแทบจะไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมาก เพราะพบตัวได้น้อยในธรรมชาติ สาเหตุน่าจะมาจากความที่เป็นปลาเนื้อดี คนไทยนิยมกินมาแต่โบราณ เมื่อคนชอบกินก็มีคนจับมาขายมากขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทานทำให้ปลาแก้มช้ำลดจำนวนอย่างรวดเร็ว

เคยมีความพยายามที่จะเพาะพันธุ์ผสมเทียมโดยกรมประมง แต่ก็ไม่ได้มากนักเพราะไม่มีการสานต่อ แต่ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีว่าปลาแก้มช้ำนั้นเป็นปลาที่งงการปลาสวยงามนิยมเลี้ยงกันมาก ทำให้ภาคเอกชนเสาะหาวิธีเพาะพันธุ์ขึ้นมาจนได้ ทำให้ปลาแก้มช้ำมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ขึ้นมาจนได้

ทำให้ปลาแก้มช้ำมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์อีกครั้ง เช่นเดียวกับปลาบ้าหรือที่วงการปลาตู้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “แซมบ้า” พอมีการผสมเทียมเพาะพันธุ์ขึ้นมาจำหน่ายมากๆ เข้า ราคาซื้อขายลูกปลาก็ถูกลงทำให้หลายบ่อซื้อไปปล่อยเป็นปลาเกมให้นักตกปลาตก มองในมุมนี้วงการปลาตู้ก็เอื้อประโยชน์ต่อวงการตกปลาไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ปลาแก้มช้ำสวยกว่าเยอะ สีแดงสด เหมือนสีเลือดช้ำตรงข้างกระพุ้งแก้มที่ตัดกับแถบคาดสีดำ ลอยเด่นท่ามกลางเกล็ดสีเงินยวงดูสง่างามมาก

อุปกรณ์ตกปลาแก้วช้ำ

ในการตกปลาแก้มช้ำน่าจะเป็นชุดไลท์ ระดับ 4-6 ปอนด์ หรือถ้าไปตกตามแหล่งน้ำที่มีสิ่งกีดขวางเยอะ จะขยับขึ้นมาใช้อุปกรณ์ระดับสาย 8-10 ปอนด์ก็ได้ ในธรรมชาตินั้นปลาแก้มช้ำกินเหยื่อคล้ายปลาบ้าคือเป็นทั้งปลากินพืชและปลาล่าเหยื่อ นิยมใช้ไส้เดือน ลูกกุ้งเกี่ยวเบ็ดถ่วงตะกั่วตกหน้าดิน แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ปลาแก้มช้ำไล่ฮุบสปูนของนักตกปลาที่ยืนตกกระสูบตามชายคลอง

“ถึงแม้ว่าปลาตัวนี้จะได้ขึ้นชื่อว่ารสชาติดี แต่ถ้าใครตกได้ก็ยังอยากจะขอให้ปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำเดิมอยู่ดี เก็บไว้เฉพาะภาพถ่ายกับความทรงจำที่ดี โดยส่วนตัว ทุกครั้งที่เห็นปลาแก้มช้ำ แล้วดีใจทุกครั้งที่ยังเห็นมันมีชีวิตรอดมาจนปัจจุบัน”

อ่าน ปลากระสูบขีด

Advertisements