งูกะปะ (Malayan pit viper) เป็นงูพิษที่มีพิษรุนแรงมากมีผลต่อ “ระบบเลือด” จัดเป็นงูเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Calloselasma โดยไม่มีชนิดย่อย ที่อยู่ในวงศ์งูแมวเซา (Viperidae)
ลักษณะของงูกะปะ
ลักษณะหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ลำตัวอ้วน หางเรียวสั้น มีลายเป็นรูปเหมือนหลังคาบ้านอยู่ด้านข้างตลอดลำตัว มีสีเทาอมชมพูลายสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดมีขนาดใหญ่ จะงอยปากงอนขึ้นข้างบน หากินเวลาพลบค่ำและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลาที่มีความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก
ชอบอาศัยในดินปนทรายที่มีใบไม้หรือเศษซากไม้ทับถมกันเพื่อซ่อนตัว ด้วยสีสันและลวดลายจึงทำให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม
เป็นงูที่ไม่ปราดเปรียว เวลาตกใจจะงอตัวหรือขดนิ่ง แต่ฉกกัดรวดเร็วมาก กินอาหารได้แก่ สัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู, นก หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตร ออกไข่ครั้งละ 10–20 ฟอง สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ทุกฤดูกาล ในตัวที่มีสีคล้ำเรียกว่า “งูปะบุก”
สถานที่พบ
สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค แต่จะพบมากที่สุดในภาคใต้ เป็นงูที่ปรับตัวได้ดีมาก จนสามารถอาศัยอยู่ที่ๆ มีการทำเกษตรกรรมได้ เช่น สวนยางพารา หรือสวนปาล์มน้ำมัน จึงมักจะมีผู้ถูกกัดอยู่บ่อยๆ “นับเป็นงูพิษที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดที่พบในประเทศไทย”
พิษของงูกะปะ
พิษของงูกะปะนั้นมีผลต่อระบบเลือด ทำให้เลือดออกมากผิดปกติ เมื่อถูกกัดภายใน 10 นาที บริเวณรอบแผลที่ถูกกัดจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งแขนหรือขาข้างนั้นบวมไปหมดภายใน 1 ชั่วโมง โดยในรอยเขี้ยวจะมีเลือดไหลตลอดเวลา
บริเวณแขนขาที่บวมจะมีสีเขียวคล้ำ ผิวหนังเกิดพอง ตอนแรกมีน้ำใส ต่อมาภายหลังมีเลือด ภายหลังถูกกัดไม่กี่วัน รอยเขี้ยวจะเกิดการเน่า ทำให้ผิวหนังมีเลือดออกเป็นรอยคล้ำ เลือดออกทางเดินอาหาร ผู้ที่โดนกัดจะเสียชีวิตได้จากความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเกิดจากการเสียเลือด
โดยคำว่า “กะปะ” เป็นภาษาใต้ แปลว่า “ปากเหม็น” ซึ่งหมายถึง แผลของผู้ที่ถูกกัดจะเน่าเหม็น จัดเป็น 1 ใน 7 งูพิษที่มีความสำคัญต่อวงการแพทย์และพิษวิทยา
-
ดูเรื่อง : เกือบถูกตัดขา หนุ่มกางเต็นท์ตกปลาถูก งูกะปะ
-
กาบูนไวเปอร์ งูประหลาดเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง & เขี้ยวยาวที่สุดในโลก
การดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโดนงูพิษกัด
- หลังจากถูกงูกัดให้หลีกให้พ้นตัวงูโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการถูกกัดซ้ำ ระยะที่ปลอดภัยประมาณระยะทางยาวเท่ากับตัวงู
- อย่าตกใจกลัว ดิ้นรน โวยวาย เพราะจะทำให้อาการจากพิษของงูรุนแรงและรวดเร็วขึ้นไปอีก
- ถอดเครื่องตกแต่งบริเวณที่ถูกกัด เช่น แหวน
- หากมีเลือดออกให้ปล่อยให้เลือดออก เพื่อให้พิษออกให้มากที่สุด
- พยายามให้บริเวณที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
- ล้างแผลด้วยนํ้าสะอาดเท่านั้น
– ห้ามกรีดแผล, ใช้ไฟจี้, ใส่ยา,พอกยา หรือพอกน้ำแข็งที่แผลเป็นอันขาดเพราะจะทำให้แผลหายช้าและติดเชื้อแบคทีเรีย - อย่าให้ผู้ป่วยดื่มสุรา หรือยาที่มีสุราเจือปนอยู่
- อย่าให้ยาระงับประสาท, ยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท ยาแก้ปวดจำพวก morphine และยาแก้ปวดพวก aspirin เพราะจะไปเสริมฤทธิ์กับพิษงู hemotoxin
- เคลื่อนไหวผู้ป่วยให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ควรจะให้นอนพักและรีบหามผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลไม่ควรนั่งเพราะจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะ หากผู้ป่วยอยู่นิ่งพิษจะดูดซึมช้า เนื่องจากพิษจะถูกดูดซึมผ่านทางระบบน้ำเหลือง
- จัดตำแหน่งอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดอยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ
- ให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลก่อนที่จะพบตัวงู หากไม่พบต้องจำสี ลักษณะพิเศษของงู ถ้าเป็นไปได้ ญาติควรพยายามหางูตัวนั้นให้พบ โดยตีที่คอแล้วนำซากงูไปโรงพยาบาล
ที่มา : siamhealth.net
“กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยถูกงูพิษกัดปีละ 7,000-10,000 คน เตือนประชาชนยังมีความเข้าใจผิดวิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด ห้ามกรีดแผล ดูดพิษจากแผล พอกยา อาจทำให้แผลติดเชื้อ ห้ามขันชะเนาะเพิ่มความเสี่ยงเกิดเนื้อเน่าตาย”