ตกปลาช่อน มีเทคนิคมากมายที่จะสามารถตกมันได้ ไม่ว่าจะเป็นกบยาง กบกระโดด กระดี่เหล็ก และเหยื่ออื่นๆ อีกมากมาย แต่เทคนิคที่ถือเป็นศิลปะ เทคนิคที่ต้องใช้จินตนาการ ประสาทสัมผัส ในระดับที่สูง มีเพียงไม่กี่เทคนิคเท่านั้น และหนึ่งในนั้นคือ เท็กซัสริก (Texas rig)
ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก บทที่ 1 มีหัวข้อดังนี้ดังนี้
1 : ทำไมต้องใช้เท็กซัสริก ตกปลาช่อน
2 : ปัญหาที่เจอ เมื่อใช้เหยื่อปลอม
3 : เท็กซัสริก ดียังไง? เมื่อใช้กับปลาช่อน
4 : ใช้เท็กซัสริก ในเมืองไทย
5 : แนวทางใช้เท็กซัสริก
6 : จังหวะที่ใช้กับเท็กซัสริก
7 : อ่านและจินตนาการ จะเข้าใจ
ตกปลาช่อน ทำไมถึงต้อง เท็กซัสริก
วิธีการเข้าสายเกี่ยวเหยื่อยางมีมากมายหลายวิธีเหลือเกิน องค์ประกอบหลักคือ ชนิดเหยื่อที่ใช้ กับวิธีการสร้างแอ็คชั่น บางวิธีใช้กับการจอดเรือคร่อมบริเวณที่ปลาอยู่แล้วหย่อนเหยื่อลงไปสร้างแอ็คชั่นอยู่กับที่ บางวิธีใช้สำหรับบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล
แต่สำหรับการตกปลาช่อนบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีตีส่งเหยื่อออกไปจากริมฝั่งแล้วลากกลับเข้ามา ดูเหมือนการเข้าสายแบบเท็กซัสริก (TEXAS RIG) จะค่อนข้างเหมาะสมและได้ผลดีเป็นที่คุ้นเคยกับนักตกปลาช่อน ที่สำคัญมันทำได้ไม่ยาก อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบก็หาได้ทั่วไป สุดท้ายก็คือตัวนักตกปลากับปลา
ปัญหาที่พบในการใช้เหยื่อปลอม ตกปลาช่อน บ้านเราคือ
1. อุปสรรคต่างๆ ในแหล่งน้ำ เหยื่อปลอมประเภทที่พวงเบ็ด หรือคมเบ็ดโชว์ตัว ทำตัวเป็นเทศบาลเก็บกวาดทุกอย่างที่ก้นบ่อขึ้นมาดูเล่น ตั้งใจตกปลาช่อน แต่ตีไปไม่กี่สิบไม้ ถุงพลาสติก หญ้า สาหร่าย พืชใต้น้ำอื่น ๆ กองพะเนินอยู่ข้างตัวแทนปลา ได้แต่จุ๊ยปาก จิ๊กจั๊ก ๆ บ่นพึมพำ ปลดขยะเสร็จตีไปใหม่ เบ็ดสะบัดมาเกี่ยวสายเข้าให้อีกลากยังไงเหยื่อก็ไม่ออกแอ็คชั่น เซ็งอะดิ
2. ปลาช่อน บ่อนี้ทำไมมันรู้มากจัง เปลี่ยนสารพัดเหยื่อ กระดี่ก็แล้ว ปลายางก็แล้ว ปลั๊กดำตื้นก็แล้ว ไม่เอาเลย เวลากัดโดนนิดเดียวก็โดดถลุยเหยื่อทิ้งกันเห็นๆ มันช่างหยามน้ำหน้ากันชัด ๆ
3. หมายที่เข้าวันนี้มันรกจริง ๆ ผักบุ้ง ผักตบ ใบบัว เต็มไปหมด มีช่องเปิดให้เห็นน้ำนิดเดียว ปลาช่อนก็ดันขึ้นจิบให้เห็นถี่ยิบ จะส่งเหยื่ออะไรเข้าไปดีเนี่ย กลัวจะลากกลับมาทั้งกอ
ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก ดียังไง..?
กล่าวถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเป็น เท็กซัสริก อยู่ 2 ประการ คือ
- เวลาเกี่ยวเหยื่อยางต้องซ่อนคมเบ็ด
- Worm Weight (ตะกั่วที่ออกแบบสำหรับเหยื่อยาง มีหลุมอยู่ด้านท้ายให้ครอบไปบนหัวเหยื่อยาง) เวลาใช้งาน จะอยู่ติดหรือครอบไปบนหัวเหยื่อยาง
เพื่ออะไร ? ไม่มีอะไรซับซ้อน…
- น้ำหนักของตะกั่วช่วยให้ส่งเหยื่อไปได้ไกล และตรงเป้าหมายมากขึ้น
- ประเด็นสำคัญ ด้วยรูปทรงของตะกั่ว Worm Weight ทำให้เหยื่อยางเดินผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำไปได้อย่างสะดวกถึง
สารพัดริก (RIG) หลาย ๆ รูปแบบ มีการเกี่ยวเหยื่อแบบซ่อนคมเบ็ด
เบ็ดจะไม่ไปเกี่ยวอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนปลาจะเข้ากัด
แต่ริกแบบ เท็กซัส เวลาลากหรือกระตุก (Jerk) ตะกั่วจะอยู่ที่หัวเหยื่อยาง ช่วยในการ แหวก มุด ลอด ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
แล้วทำไมไม่ใส่อุปกรณ์ที่ล็อคให้ตะกั่วติดกับหัวเหยื่อไปเลย
เช่น ไลน์สต๊อปเปอร์ ? ..ตามใจเลย เลือกใช้ตามสะดวก
ใส่ลูกปัดทำไม ?
- ป้องกันปมเงื่อนมุดเข้าไปติดคาอยู่ในตะกั่ว จะทำให้เหยื่อไม่เป็นอิสระ ออกแอ็คชั่นไม่เต็มที่ เวลาตวัดตะกั่วอาจยังอยู่ในปากปลาด้วย ทำให้เบ็ด Hook เข้าปากปลายากขึ้น ตามทฤษฎีเวลาตวัด ตะกั่วควรวิ่งตามสายออกจากปากปลาไป
- ป้องกันปมเงื่อนช้ำ ลดโอกาสสายขาดบริเวณปมเงื่อน
- ลูกปัดบางชนิด เวลากระทบกับตะกั่วจะเกิดเสียง เรียกความสนใจจากปลา
ไม่ใส่ได้ไหม.? ..ได้เช่นกัน ตามอัธยาศัยครับ
ปลาช่อน กับ เท็กซัสริก เมืองไทย
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนเอาเทคนิคอย่าง เท็กซัสริก มาใช้ตกปลาช่อนในไทยเป็นคนแรกๆ ย้อนไปสักหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีนักตกปลาหลายคนเริ่มใช้เหยื่อยางแบบจริงจัง ๆ และสมัยนั้นรูปแบบของเหยื่อยางส่วนใหญ่จะเลียนแบบตัวหนอน กับไส้เดือน
ก็เลยเรียกนักตกปลาผู้นิยมเหยื่อเหล่านั้นว่า “โปรฯ หนอนยาง”
นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมทั่วไป มักถูกถ่ายทอดกันมาว่า ตีส่งเหยื่อออกไปแล้ว เวลากรอสายกลับ ให้ชี้ปลายคันลงน้ำ เพื่อให้เหยื่อออกแอ็คชั่นเต็มที่ (ยกเว้นเหยื่อบางประเภทต้องใช้ปลายคันช่วย) และเวลาปลากัด จะได้ตวัดเซ็ทฮุคได้ทันที
แต่เมื่อได้มีโอกาสเห็นโปรฯ หนอนยางตกปลาช่อน เล่นเอายืนงง เขาทำอะไรของเขา ตีเหยื่อออกไปแล้วยกปลายคันขึ้นสูง แล้วมีการกระตุก ๆ ยึก ๆ เป็นภาพที่ดูแปลกตามาก
แต่ที่ตาเปิด เห็นแสงสว่างขึ้นมา ก็คือ “ไอ้การประกอบเหยื่อแบบนี้มันลุยไปได้ทุกที่จริงๆ ไม่ติด ไม่เกี่ยว อุปสรรคใดๆ เลย”
บางเหลี่ยมบางมุมที่เราคาดว่ามีปลาช่อนซุ่มอยู่ แต่ดูแล้วมันรกเหลือใจ เขาก็ยังส่งเหยื่อเข้าไปได้อย่างหน้าตาเฉย เหยื่อตกน้ำแล้วทิ้งไว้สักพัก ไล่สายตึงแล้วเริ่มขยับปลายคันเบา ๆ ตึ้ก !!! ฟองฟ่อด……
ต่อเมื่อผมมาเริ่มใช้เหยื่อยางตกปลาช่อนด้วยสไตล์เท็กซัสริก ผ่านไปประมาณสัก 10 ทริป ภาพแปลกตา ก็กลายเป็นภาพชินตาไปได้
นิยามส่วนตัวที่ว่า การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน เกิดขึ้น มันคือการใส่อะไรที่มากมายลงไป “ตรงกลาง” ระหว่าง “ตีเหยื่อออกไป…….ลากปลาขึ้นมา”
นี่คือการถ่ายทอดประสบการณ์ของผม
กับการตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยางเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน
1. ริกแบบเท็กซัส ค่อนข้างเป็นที่นิยมในบ้านเรา เพราะการประกอบ เข้าสาย เกี่ยวเหยื่อ ทำได้ง่าย ดูตัวอย่างครั้งเดียวก็เข้าใจ
2. เหยื่อยาง ที่ใช้กับ เท็กซัสริก นักตกปลามักจะเลือกเหยื่อที่ถูกออกแบบมาให้เกิดแอ็คชั่นได้ง่ายๆ ด้วยตัวมันเอง ซึ่งมักจะให้ความมั่นใจแก่นักตกปลามากกว่าเหยื่อที่มีรูปทรงที่ดูแล้วมองไม่ออกว่าจะทำยังไงให้มันดูเหมือนมีชีวิตและเป็นที่สนใจของปลา
3. นักตกปลา ด้วยเหยื่อปลอมบ้านเรา เคยชินกับการตีเหยื่อออกไป แล้วก็ลากกลับเข้ามา เหยื่อแต่ละประเภทก็ออกแอ็คชั่นต่างกันไป แต่พอมาลองใช้เหยื่อยางก็ยังติดการลากกลับมา ให้เหยื่อว่ายน้ำ ที่จริงการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อมีมากมายมหาศาลจนแทบหาข้อยุติไม่ได้ “จินตนาการ” จึงเป็นข้อสรุป ก็คือ ลองไปเลยครับ ลองหลาย ๆ วิธี หลาย ๆ รูปแบบ ปลาไม่กัดก็เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเหยื่อ ปลากัดก็จดจำไว้ สำคัญคือ “อย่าเบื่อ อย่าท้อ” ใช้เหยื่อยางผมบอกได้เลย ถ้าไม่อดทนก็แทบโยนคันทิ้ง ทั้งที่รู้ว่าปลาเต็มบ่อ แต่บทพ่อจะไม่กัดขึ้นมา ใครจะทำไมฃ
แนวทางสำหรับเท็กซัสริก มีวิธีอยู่ไม่มาก
1. ส่งเหยื่อไปตรงจุดที่คิดว่ามีปลา โดยส่งเหยื่อให้ต่ำ ๆ เรียดผิวน้ำหน่อย ถ้ามีลักษณะเป็นตลิ่ง ก็ส่งขึ้นขอบตลิ่งไปเลย กระตุกเบา ๆ พอเหยื่อตกน้ำ หยุดก่อน ถ้ามีปลาตรงนั้น ส่วนใหญ่จะกัดทันที แต่ถ้าไม่มีปลากัด พอวงคลื่นน้ำหายไป ค่อย ๆ กรอสายตึง เจิร์คเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วหยุด ถ้าปลาว่ายตามเสียงเหยื่อตกน้ำมา มักจะกัดจังหวะนี้
2. เหยื่อที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง ลากมากกว่าเจิร์ค ลากช้าแค่ไหน ? ช้าสุดขีดเท่าที่รู้สึกได้ว่าหนอนมันกระดึ๊บ ๆ มากับพื้น เหยื่อพวกนี้หางสั้น เวลาลากมาลำตัวจะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ปลารู้สึกได้ ขูดกับดินมาเลยแต่หางจะโบกแบบระริก ๆ มา ถ้ารู้สึกว่าหนืด ๆ คือพื้นใต้น้ำเป็นโคลนเหลวเกินไป ก็เจิร์คให้โดดบ้างก็จะดี
3. ปลาไม่กัดเหยื่อยางที่อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ปลากัดเพราะคิดว่าเจ้านี่มีชีวิต เป็นอาหาร กัดเพราะว่าเจ้านี่มันดูกะปลกกะเปลี้ย ร่อแร่ ๆ กัดเพราะว่า เจ้านี่ละเมิดอธิปไตย ล้ำถิ่น ปล่อยให้ผ่านหน้าไปเฉย ๆ ได้ไง เอาซะหน่อย
4. เหยื่อประเภท Grub ที่หางยาวกว่าลำตัว ไส้เดือนยาง พวกนี้แอ็คชั่นอยู่ที่หาง เจิร์คเข้าไปครับ เจิร์คโดด ปล่อยตก ลดคันเก็บสายพอตึง เจิร์คอีก เจิร์คเร็วแค่ไหน ? ตามใจพระเดชพระคุณครับ แต่อย่าให้เร็วขนาดโดดสามทีเหยื่อกลับถึงตัวต้องตีใหม่
5. บนใบบัว ตีลงไปเลย ลากเหยื่อให้ตกลงร่องระหว่างใบเบา ๆ ฟรีสปูล ส่งสายไปหน่อย ทำไงต่อ ? อ๋อ ปู่เราเรียกว่า “หยก” จับที่สายหน้ารอก กระตุกขึ้น ปล่อยลง ระวังให้ดีละกันครับ ถ้า “ปั๊บ” !! เข้าให้ก็อย่าส่งนาน วัดหนักๆ แล้วรีบเอามันออกมาในชัยภูมิที่เราได้เปรียบกว่า อ้อ หมายใบบัวนี่ จิ้งจกยางเป็นพระเอกครับ และ Weightless หรือไร้ตะกั่วจะเวิร์คมาก กลัวตีไม่ออกก็พันตะกั่วฟิวส์ที่ท้องเบ็ดไปซะหน่อย หรือจะใช้เบ็ดที่หุ้มตะกั่วสำเร็จรูปเลยก็ได้ครับ
จังหวะได้เสีย (ที่จะได้ลุ้น)
– เหยื่อตกน้ำใหม่ ๆ
– กำลังลากหรือเจิร์คเพลิน ๆ
– ระยะ 5 เมตร ตรงหน้าเรานี่ล่ะ
สเต็ปที่ใช้ได้ดีกับเท็กซัสริก
นอกจากตีเหยื่อไปที่ไหน เหยื่อแบบนี้ใช้ยังไงแล้ว ยังมีการสร้างจังหวะ หรือสเต็ปให้กับเหยื่ออีกด้วย โดยปกติแล้ว ปลาช่อน จะเลือกกัดเหยื่อในจังหวะที่ต่างกัน ในการตกแต่ละครั้ง จะต้องหาให้เจอ
ลากและหยุด (walk & wait)
วิธีนี้ใช้ดีกับเหยื่อยางที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เหยื่อไม่มีหางตัวอ้วน ๆ เหยื่อหางสั้น ๆ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง เหยื่อที่หัวโต ๆ หัวตัด เหยื่อพวกนี้จะสร้างฟองอากาศ ความสั่นสะเทือน ขุดดินให้ฟุ้ง จากการลาก เวลาลากให้ลากช้า ๆ ลากประมาณ 1 หลา แล้วหยุดรอ แต่ถ้าจับความรู้สึกได้ว่า ลากแล้วเกิดความหนืดขึ้นมาก ๆ แสดงว่าเหยื่อมุดเลน ให้กระตุกเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วเริ่มลากต่อ
กระตุกโดดแล้วปล่อยตก (jerk & drop)
วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเหยื่อยางที่มีหางงอทั่วไป เช่น Grub ไส้เดือนยาง ให้กระดกปลายคันเป็นจังหวะช้า ๆ แล้วหยุด เหยื่อจะถูกกระตุกขึ้น แล้วหัวทิ่มลงตามน้ำหนักตะกั่ว หางจะโบกสร้างคลื่นและความสั่นสะเทือน ตามประสบการณ์ ปลามักจะกัดเมื่อเหยื่อตกลงถึงหน้าดิน คือ พอเริ่มจะกระดกคันครั้งต่อไป พบว่าสายหนักแล้ว ดังนั้น พยายามไล่สายให้เกือบตึงเสมอก่อนกระดกคันแต่ละครั้ง
กระตุกแบบถี่ ๆ ( jerk )
วิธีนี้ใช้กับเหยื่อยางประเภท กบยาง (Toad, Frog) (ไม่ใช่กบยางผิวน้ำ เช่น scum frog) และหนอนสองหาง ให้ลดปลายคันลงต่ำออกด้านข้างตัว กระตุกเบา ๆ และถี่ เหยื่อจะออกแอ็คชั่นในลักษณะกบว่ายน้ำมาเรี่ย ๆ หน้าดิน วิธีนี้เหยื่อจะกลับถึงตัวค่อนข้างเร็ว และปลามักจะชาร์จเหยื่อด้วยความรุนแรง
จินตนาการตาม แล้วอ่านเรื่องช่วงนี้
มีวิธีการเจิร์คที่ส่วนตัวชอบใช้คือ กระตุกสองครั้ง คือ ครั้งแรกกระตุกขึ้นเบา ๆ แล้วกระตุกครั้งที่สองทันทีโดยให้แรงขึ้น แล้วลดคันลงทันที วิธีนี้ตะกั่วจะวิ่งรูดขึ้นมาตามสายระยะหนึ่งแล้วตกลงก่อนเหยื่อเหยื่อจะตกลงช้าๆ ตามลงมา ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า และเมื่อเหยื่อตกถึงพื้นจะตกในตำแหน่งห่างกว่าตะกั่ว ลอยตัวขึ้นนิด ๆ ถ้ามีปลากัด จะกัดได้เต็มที่ คือการประยุกต์จากการเข้าสายหน้าแบบ Carolina Rig มาใช้ อธิบายให้เห็นภาพลำบาก
เมื่อปลากัดเหยื่อ จะรู้สึกสะดุด และมีฟองอากาศให้เห็น การสะดุดจะเบาหรือแรง มีฟองอากาศมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ สายหย่อนหรือตึงอยู่ ความลึกของน้ำ ขนาดของปลา และความสามารถของคันเบ็ดและสาย
เมื่อปลากัดแล้ว ถ้าน้ำตื้น ๆ จะเห็นพรายฟองขึ้นล้อมสาย ต้องรีบลดคันลง ฟรีสปูล สาวสายออกมากส่งให้ปลา สัก 2 เมตร (ทั้งหมดทำด้วยความรวดเร็วพร้อม ๆ กัน ให้เคยชิน) เพื่อลดความระแวงของปลาในการพาเหยื่อไป ถ้าปลาสมัครใจว่ายน้ำพาเหยื่อไป สายจะเริ่มเดินออก อันนี้จะง่ายหน่อย สบายเรา ดูทิศทางการว่ายน้ำของปลาให้ชัดเจน
ปัญหาที่พบ และเป็นเสน่ห์ในการชิงไหวชิงพริบกับปลา คือ ปลากัดแล้วไม่เดิน (ไม่ว่ายน้ำไป กัดแล้วนิ่งเฉย) ทำให้ไม่กล้าตวัดเพราะไม่แน่ใจว่าปลากลืนเหยื่อแล้ว หรือกำหนดทิศทางการตวัดไม่ได้ จึงต้องมีวิธีการ “เตือนปลา” โดย
สาวสายออกจากรอกมาถือไว้ กระตุกสายเบา ๆ หรือใช้ปลายคันกระดกสายเบา ๆ (ย้ำว่าเบา ๆ) หลอกปลาว่าเหยื่อกำลังดิ้น ปลาจะเริ่มออกว่ายน้ำพาเหยื่อไปขยอกกลืน ทำให้กำหนดทิศทางการตวัดได้ แต่บางพื้นที่ปลาอาจจะคายเหยื่อทันที ถ้าตกใจมาก ๆ ปลาจะกระโดดขึ้นสะบัดเหยื่อทิ้งกลางอากาศ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม แต่เสียดแทงหัวใจเราอย่างมาก
เมื่อมั่นใจว่าเหยื่อและเบ็ดอยู่ในปากปลาแล้ว สับแขนหมุนปลดฟรีสปูล ไล่เก็บสายให้ตึง หรือถ้าปลาลากอยู่ สายก็จะตึงเอง ตวัดสวนทิศทางปลาด้วยความเร็ว (ย้ำว่า สายต้องตึง สวนทิศทาง และด้วยความเร็วไม่ใช่ความแรง) ตวัดแล้วคาคันไว้ เพื่อให้แอ็คชั่นของคันช่วยย้ำคมเบ็ด
ลักษณะการตวัดเบ็ด ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ผมย้ำเพียง “สายตึง สวนปลา อย่ากระชาก” ถ้าเบ็ดที่ใช้คมเพียงพอ ด้วยรูปทรงของเบ็ดเกี่ยวเหยื่อยาง มันจะทะลุเหยื่อแล้วฮุคเข้าอวัยวะของปลาเองอย่างง่าย ๆ ผมเห็นหลายท่านที่ชำนาญ ตวัดเพียงแค่ข้อมือไม่ต้องเต็มวงแขน ถ้าสายตึง แม้จะใช้สายขนาดแรงดึงเพียง 4 – 6 ปอนด์ เบ็ดก็ยังติดปลาได้ดี สายก็ไม่ขาด ตวัดแล้วคาอย่างที่บอก แอ็คชั่นของคันจะย้ำคมเบ็ดให้เอง
สรุปซะหน่อย
ก็ขอตัดจบก่อน เพราะยาวมากๆ เรื่องนี้ผมอ้างอิงจากบทความของ “MrShark” ที่ถือว่าเป็นอาจารย์ ที่ผมได้เรียนรู้เทคนิคอย่างเท็กซัสริก และได้เริ่ม ตกปลาช่อน ด้วยเทคนิคนี้ ถึงจะได้คุยกันไม่กี่ครั้งก็ตาม
สำหรับ “ ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก ฉบับปั้นมือใหม่ให้โปร ” บอกเลยว่ายาวมาก ที่น้าอ่านกันตรงนี้ ที่ว่ายาว มันก็เป็นแค่เริ่มต้น และที่ไม่เขียนวิธีการประกอบเท็กซัสริก ก็สามารถอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างครับ